แม้ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้บริโภคยังคง มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อ โดยจากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค 2,200 คน ในปี 2566 โดยบริษัทวิเคราะห์และวิจัยด้านธุรกิจ Morning Consult พบว่า ผู้บริโภคกว่า ร้อยละ 87 ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อโดยเฉพาะสำหรับ การซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม โดยสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ และสินค้าจากนมมีความกังวลสูงสุด รองลงมา ได้แก่ อาหารแห้ง เครื่องดื่ม เครื่องปรุง ตามลำดับ


อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่าชาวอเมริกันใช้จ่ายสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่ามีแนวโน้มแบกรับภาระราคาสินค้าได้มากกว่า ในขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของตน ทั้งนี้พบว่าผู้บริโภคกว่าส่วนใหญ่ เลือกที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคบางประการ เนื่องจากสภาวะเงินเฟ้อสูง อาทิ การลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน การเลือกซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภค (grocery) โดยใส่ใจต่อราคาและเปรียบเทียบราคาของสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อมากขึ้น และเลือกที่จะซื้อสินค้า private brand ของซูเปอร์มาร์เก็ตมากกว่าสินค้าแบรนด์มีชื่อเสียงที่เคยซื้อ


นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวอเมริกันยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเลือกที่จะลดจำนวนครั้งในการไปซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น และลดจำนวนครั้ง ในการเดินทางให้น้อยลงยังสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ และยังผลักดันเทรนด์การสั่งซื้อ grocery online ให้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภค ในกลุ่ม Gen Z และ Millennials รวมถึงในกลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตร ทั้งนี้ จากผลสำรวจเกินครึ่งของผู้บริโภคในกลุ่มผู้ปกครองกล่าวว่า ตนเลือกซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคเกือบทั้งหมด ผ่านบริการ grocery online เนื่องจากความสะดวกสบายในการเลือกซื้อสินค้า การลดภาระ ในการขนของ อีกทั้งรูปแบบการทำงานของชาวอเมริกันภายหลังวิกฤตการณ์โควิดในบางบริษัท ยังคงมีการเปิดโอกาสให้มีการทำงานที่บ้าน (work from home) รวมทั้ง การทำงานในรูปแบบผสมมากขึ้นในปัจจุบัน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้บริการ grocery online สูงขึ้น ซึ่ง grocery online นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางการค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยปัจจุบันมีการเปิดร้านซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เช่น Instacart, Thrive Market, Imperfect Foods, Misfits, Weee!, Boxed, Yümmy Bazaar, Gopuff, Vitacost, แลt Freshdirect ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเจาะตลาดผู้บริโภคในสหรัฐฯ และโอกาสของตลาดไทยในการค้าระหว่างประเทศ


ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าได้ที่ https://ditip-overseas.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก