Plant-based Food คืออาหารที่ทำมาจากพืชอย่างน้อย 95% เช่น พืชตระกูลถั่ว เมล็ดพืช ธัญพืช เห็ด สาหร่าย เป็นต้น และให้โปรตีนสูง มีการพัฒนารสชาติ กลิ่น และสีสันให้เหมือนผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ไม่อยากบริโภคเนื้อสัตว์หรือต้องการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ นับเป็นเทรนด์การบริโภคอาหารแนวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ แม้ว่าเนเธอร์แลนด์จะมีพื้นที่ขนาดเล็กแต่ด้วยเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมที่เหนือชั้น ทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นผู้เล่นขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารโลก

ในปี 2564 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์หันมาให้ความสำคัญกับตลาดสินค้า Plant-based Food เป็นอย่างมาก โดยมีการหารือร่วมกับธนาคารดัตช์รายใหญ่ 8 แห่ง เพื่อออกนโยบายสนับสนุนการลงทุนให้กับธุรกิจนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศมากขึ้น รัฐบาลมุ่งหวังว่าการลงทุนครั้งใหญ่นี้จะทำให้ Plant-based Meat เข้ามามีบทบาทและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากตลาดเนื้อสัตว์มากขึ้น

ปัจจัยหลักที่ทำให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ได้แก่

  • ผู้บริโภคให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคมาสู่การรับประทาน Plant-based Food มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษานาน และมักไม่ค่อยขาดตลาด เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่เป็น Animal-based Foodนอกจากนี้ 1 ใน 4 ของผู้บริโภคในสหภาพยุโรปมีความตั้งใจที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพเป็นอันดับต้นๆ
  • กระแส Flexitarian ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง คือการรับประทานอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น ไม่ต้องเคร่งครัดมากจนเกินไป สามารถทานเนื้อสัตว์ได้เป็นครั้งคราว เน้นการทานอาหารจากพืชเป็นหลัก และเลือกทานโปรตีนจากพืชหรือจากเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด เมื่อกระแสนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงทำให้ตลาด Plant-based Food ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
  • กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมและการตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลิตภัณฑ์จากพืช และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลกก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์
  • ปัญหา Food Security ทำให้ Plant-based Food ยิ่งมีความจำเป็น เมื่อ UN คาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคนในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อ Food Security ในอนาคต ด้วยเหตุนี้ Plant-based Food จึงเป็นที่สนใจและต้องการของประชากรโลกมากขึ้น
  • เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหารที่ก้าวหน้าจนสามารถพัฒนาให้ Plant-based Food สามารถสร้างรสสัมผัสที่ไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ อีกทั้งยังสามารถจัดแนวโปรตีนให้เป็นเส้นๆ คล้ายคลึงกับผิวสัมผัสของเนื้อสัตว์ได้อีกด้วย
  • สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความกังวลในการบริโภคเนื้อสัตว์ของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาอาหารที่เป็นโปรตีนทางเลือกแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์

COVID-19 กับการบริโภคเนื้อสัตว์ และแนวโน้มตลาด Plant-based Food ในเนเธอร์แลนด์

ในความโชคร้ายยังมีความโชคดี ประโยคนี้อาจใช้ได้กับตลาด Plant-based Food เนื่องจากผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน และจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การล็อคดาวน์ส่งผลให้ร้านค้าและร้านอาหารต้องปิดกิจการชั่วคราวในช่วงของการระบาด การทำงานที่บ้านทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสในการทานเนื้อสัตว์นอกบ้านน้อยลง การยกเลิกกิจกรรมกลางแจ้ง การประชุม งานแสดงสินค้า และอื่นๆ ทำให้ผู้บริโภคมีเวลาอยู่บ้านและอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น จนปรับเปลี่ยนนิสัยการบริโภค ลดการบริโภคเนื้อสัตว์แช่แข็ง แต่หันมาบริโภคเนื้อสัตว์สด อาหารสด อาหารออร์แกนิค และ Plant-based Meat มากขึ้น เพื่อวิถีชีวิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสและมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยในปี 2563 อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ลดลง 1.9 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยเฉพาะเนื้อไก่ (0.8 ก.ก.) เนื้อหมู (0.5 ก.ก.) และเนื้อวัว (0.4 ก.ก.) ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2553 นอกจากนี้ คาดว่าการเพิ่มสูงขึ้นของราคาเนื้อสัตว์ จะส่งผลให้อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ลดลงอีก 50% ในปี 2573 แต่คาดว่ายอดขายสินค้าโปรตีนจากพืชกลับจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ยอดขายสินค้า Plant-based Meat และสินค้า Plant-based Diary อยู่ที่ 291 ล้านยูโร เพิ่มสูงขึ้นถึง 50% และยอดขาย Plant-based Cheese หรือ Vegan Cheese เพิ่มสูงขึ้นมากถึง 400% สถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนค่านิยมและเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์แบบเก่าไปสู่การบริโภคอาหารที่เป็นพืชมากขึ้น Plant-based Meat ได้เข้ามาเป็นคลื่นลูกใหม่ที่สามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้ถึงร้อยละ 4 ของตลาดเนื้อสัตว์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200 ล้านยูโร

ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ตลาด Plant-based Meat ในประเทศเนเธอร์แลนด์มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ผลิตภัณฑ์อาหารประเภท Plant-based เริ่มมีการขยายพื้นที่บนชั้นวางจำหน่ายสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น ไม่เพียงแต่มุมที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ แต่ได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมไปถึงมุมที่จำหน่ายสินค้าอื่นๆ ด้วย  อาทิ เครื่องดื่มประเภทนมและโยเกิร์ต ซอสปรุงรส ขนมขบเคี้ยว และของหวาน เช่น ไอศกรีม

ผลการวิจัยของ ProVeg พบว่าผู้บริโภคชาวดัตช์เป็นผู้บริโภคอาหาร Plant-based Food กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป รวมถึงมีการใช้จ่ายและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์มากกว่าประเทศยุโรปอื่น โดยมีการใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์เฉลี่ย 17 ยูโรต่อคนต่อปี และบริโภคผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ 870 กรัมต่อคนต่อปี ส่งผลให้ร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์หันมาผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้นประมาณ 20-30% นอกจากนี้ Plant-based Dairy ก็ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะ Vegan Cheese

ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (Centraal Bureau van Statistiek : CBS) พบว่าในปีที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวดัตช์ (ผู้ใหญ่) 8 ใน 10 คน ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ทุกวัน และ 1 ใน 3 เริ่มลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ลง มีเพียง 45% ที่บริโภคเนื้อสัตว์ 4 ครั้งต่อสัปดาห์ และ 0.5% เลิกบริโภคเนื้อสัตว์แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวดัตช์ 95% ยังคงบริโภคเนื้อสัตว์ ประมาณ 3% บริโภคเฉพาะเนื้อปลา 2% ทานมังสวิรัติ และ 0.4% พยายามหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้บริโภคทานมังสวิรัติ และพยายามหลีกเลี่ยงหรือเลิกบริโภคเนื้อสัตว์ คือ เรื่องสวัสดิภาพสัตว์และเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับผู้บริโภคกลุ่ม Flexitarian ส่วนใหญ่จะเป็นเหตุผลส่วนตัวเรื่องสุขภาพ

การเติบโตของตลาด Plant-based Meat ทำให้บริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์หลายรายซื้อกิจการและขยายกิจการ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคและการเติบโตของตลาด Plant-base Meat ได้มากขึ้น อาทิ บริษัท JBS ผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ของบราซิลได้ซื้อกิจการมูลค่า 341 ล้านยูโร ของบริษัท Vivera ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ของเนเธอร์แลนด์ บริษัท Unilever ซื้อกิจการบริษัท De Vegertarische Slager ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ของเนเธอร์แลนด์ที่มูลค่าประมาณ 30 ล้านยูโร บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ชื่อดังของสหรัฐฯ Beyond Meat เปิดโรงงานผลิตในเนเธอร์แลนด์ บริษัท Meatless Farm ของสหราชอาณาจักรได้ขยายกิจการที่เมือง Almere และบริษัท LiveKindly Collective ได้ซื้อกิจการบริษัท The Dutch Weed Burger ผู้ผลิตเบอร์เกอร์จากสาหร่ายของเนเธอร์แลนด์

โอกาสทางการค้าของไทยในตลาด Plant-based Food

ตลาดคลื่นลูกใหม่อย่าง Plant-based Food ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S-Curve ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน และเป็นตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในอนาคต ปัจจุบันตลาดผู้บริโภค Plant-based Food ที่ใหญ่ที่สุด คือ ยุโรป และเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้บริโภค Plant-based Food สูงที่สุดในยุโรป ประกอบกับไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของวัตถุดิบ มีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากและหลากหลายชนิดที่จะสามารถนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาการผลิต Plant-based Food ให้มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและรสชาติ และมีคุณภาพใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ที่สุดได้ ไทยมีศักยภาพ ความชำนาญ และความพร้อมของอุตสาหกรรมอาหารทั้งด้านวัตถุดิบ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต และบุคลากร ความสามารถในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก จึงเป็นโอกาสของไทยในการจะสร้าง S-Curve ใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมอาหาร และยังเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Plant-based Food ในการที่จะยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทยสู่ความยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์ด้านไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจ Food Tech Start Up รุ่นใหม่ๆ ในการเข้าสู่ตลาด และนอกจากนี้ ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาสและยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยอีกด้วย

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก (ธันวาคม 2564)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2