สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีเอ) ได้จัดประชุมใหญ่สำหรับชาติสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กว่า 170 ประเทศขึ้นระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2565 ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือในการจัดทำแผนงานที่จะนำไปสู่สนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พร้อมเรียกร้องให้สมาชิกทุกฝ่ายดำเนินนโยบายเชิงรุกในการเร่งบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหา “ขยะพลาสติก” ที่พบจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหลังการระบาดของ COVID-19

นาย Espen Barth Eide รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประธานการประชุมได้กล่าวในช่วงเริ่มต้นการหารือว่า มลพิษจากขยะพลาสติกได้กลายเป็นสิ่งปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร และกำลังคืบคลานเป็นภัยสำหรับมนุษย์ในขณะนี้ ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การตระหนักถึงอันตรายจากพลาสติกที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้ถูกลืมไปชั่วขณะ ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องหันกลับมาปฏิรูปในการจัดการปัญหานี้อีกครั้ง

จากข้อมูลองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD เผยว่า ทั่วโลกทำการรีไซเคิลพลาสติกไม่ถึงร้อยละ 10 จากปริมาณการใช้พลาสติกรวมกันที่มีมากถึง 460 ล้านตันในปี 2562 ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปทิ้งในจุดต่าง ๆ หรือในมหาสมุทร เป็นการปล่อยทิ้งปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ในช่วงการระบาด COVID-19 ยังพบว่า ปริมาณผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวพุ่งสูงขึ้นเกิดจากพฤติกรรมที่ผู้บริโภคหันไปใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รวมถึงขยะพลาสติกทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากอนามัย ชุดตรวจ ชุดป้องกันที่ใช้แล้วทิ้ง เป็นต้น

สำหรับในประเทศแคนาดา นาย Steven Guibeault รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนแคนาดา ซึ่งนอกจากจะเข้าหารือร่วมกับสมาชิกกว่า 170 ประเทศแล้ว ยังทำงานร่วมกับประเทศกาน่าในเตรียมการจัดประชุมระดับโลกครั้งนี้ ซึ่งทาง นาย Guibeault ได้กล่าวให้สมาชิกแสดงบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกัน เพื่อควบคุมหรือจำกัดการผลิตพลาสติกในโลก พร้อมขอให้ร่วมสัญญาที่จะลดการใช้พลาสติกประเภทชนิดใช้แล้วทิ้ง และพลาสติกชนิดที่ยากต่อการรีไซเคิลลง รวมถึงการตั้งเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติกให้สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้มีกว่า 50 ประเทสที่เห็นด้วยกับการห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง

ซึ่งเมื่อปลายปี 2564 รัฐบาลแคนาดาเริ่มพิจารณาร่างคำสั่งห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use-plastic) 6 ชนิดในประเทศ ได้แก่ ถุงหิ้วพลาสติกในร้านค้า หลอด แท่งคนกาแฟพลาสติก ห่วงรัดเครื่องดื่มกระป๋อง ชุดช้อน/ส้อม/มีดพลาสติก และบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากพลาสติกที่รีไซเคิลยาก เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดมลภาวะจากขยะแล้ว ยังทำอันตรายต่อสัตว์ทะเลต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ทางการแคนาดาคาดว่าจะสามารถสรุปขั้นตอนและระเบียบบังคับใช้อีกครั้งในช่วงปี 2565 นี้ เพราะเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของแคนาดาในการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ – Zero Waste Plastic ภายในปี ค.ศ. 2030

ข้อคิดเห็น

แคนาดาและอีกหลายประเทศได้ให้ความสนใจและร่วมมือกันหาวิธีแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกมากขึ้น ทั้งการกำหนดนโยบายในการจัดการขยะ รวมถึงมาตรการลดเลิกใช้ถุงพลาสติก โดยจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาทั่วโลกมีการส่งเสริมเรื่องของการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากกฎระเบียบของรัฐบาลแต่ละประเทศที่เริ่มจำกัดการใช้พลาสติก จนส่งผลให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์มีการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ออกมาเป็นระยะ ๆ ดังนั้นเรื่องนี้จึงไมใช่เรื่องไกลตัวของผู้ประกอบการไทยอีกต่อไป โดยเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อน BCG ของไทย ซึ่งทวีความสำคัญอย่างมากในโลกการค้าปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยควรเกาะติดกระแสอย่างใกล้ชิดและศึกษาแนวทาง BCG เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแคนาดา ซึ่งถือเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ (มีนาคม 2565)
httos://www.bnnbloomberg.ca/canada-joins-push-for-global-treaty-to-improve-plastic-production-waste-1.1730900

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2