จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศยูเครน–รัสเซียที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ได้ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกแสดงความตึงเครียดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปที่ได้ออกมาประณามรัสเซียในการนำกองกำลังทหารเข้าไปในเขตแดนของยูเครน ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ และทำลายความสงบและความมั่นคงของสหภาพยุโรปและของโลก โดยสหภาพยุโรปได้ใช้มาตรการลงโทษที่มีผลรุนแรงและมีผลกระทบสูงต่อรัสเซีย ซึ่งมาตรการลงโทษดังกล่าวของสหภาพยุโรปอาจทำให้รัสเซียพิจารณางดการจ่ายก๊าซให้กับประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากเป็นอันดับต้น ๆ ดังนั้น หากรัสเซียงดการจ่ายก๊าซให้กับประเทศในทวีปยุโรปขึ้นจริง อิตาลีจะถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากอิตาลีพึ่งพาการนำเข้าก๊าซและน้ำมันจากรัสเซียมากเป็นอันดับ 2 รองจากเยอรมนี จากข้อมูลของศูนย์วิจัย Unimpresa คาดการณ์ว่า หากรัสเซียงดการจ่ายก๊าซให้กับอิตาลี อิตาลีจะต้องเผชิญกับปัญหาด้านการผลิตพลังงาน ด้านการทำความร้อนแก่อาคารที่พักอาศัย และด้านการผลิตของโรงงาน/บริษัทที่มีความจำเป็นในการใช้พลังงานมหาศาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ของอิตาลี ปี 2565 ที่อาจหดตัวต่ำกว่า 3% รวมถึงอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นถึง 6%

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยา (Ministry of Ecological Transition) เปิดเผยว่า ปี 2564 อิตาลีมีการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมด 76,118 ล้านลูกบาศก์เมตร (มีปริมาณเพิ่มขึ้น 5.1 ล้านลูกบาศก์เมตร) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.2% เทียบกับปี 2563 ซึ่งมีปริมาณการใช้ที่น้อยกว่าปี 2564    อันเนื่องมาจากมาตรการ lockdown ประเทศ และในขณะที่หากเทียบกับปี 2562 อิตาลีมีการใช้ก๊าซธรรมชาติ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.4% (มีปริมาณเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยปี 2564 อิตาลีมีการผลิตก๊าซในประเทศปริมาณ 3,343 ล้านลูกบาศก์เมตร (-18.6%) มีการนำเข้าปริมาณ 72,728 ล้านลูกบาศก์เมตร (+10%) และมีการส่งออกปริมาณ 1,543 ล้านลูกบาศก์เมตร (+389.1%) รวมถึงการนำก๊าซสำรองในประเทศมาใช้ปริมาณ 1,591 ล้านลูกบาศก์เมตร (+47.9%) (อิตาลีมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยปี 2563 อิตาลีนำก๊าซธรรมชาติไปใช้ในภาคครัวเรือนมากที่สุด 69,935 ล้านลูกบาศก์เมตร รองลงมา ได้แก่ ภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้า 24,679 ล้านลูกบาศก์เมตร และภาคการผลิตของอุตสาหกรรม 13,625 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่า อิตาลีพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนมากกว่า 95% ของปริมาณการใช้ก๊าซภายในประเทศทั้งหมด โดยปี 2563 อิตาลีนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศมีปริมาณ 66,130 ล้านลูกบาศก์เมตร หดตัวลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยแหล่งนำเข้าก๊าซที่สำคัญของอิตาลี 5 อันดับแรก ได้แก่

  • อันดับ 1 รัสเซีย ปริมาณการนำเข้า 28,716 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 43.3%
  • อันดับ 2 แอลจีเรีย ปริมาณการนำเข้า 15,118 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 28.8%
  • อันดับ 3 นอร์เวย์ ปริมาณการนำเข้า  7,297 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 11.0%
  • อันดับ 4 กาตาร์ ปริมาณการนำเข้า  7,031 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 10.6%
  • อันดับ 5 ลิเบีย ปริมาณการนำเข้า  4,460 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน  6.7%

ในปี 2540 อิตาลีมีการผลิตก๊าซในประเทศมีสัดส่วนถึง 33% ของปริมาณก๊าซที่ใช้ทั้งหมดภายในประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่า อิตาลีลดการผลิตก๊าซในประเทศเหลือเพียงสัดส่วน 4.3% ของปริมาณก๊าซที่ใช้ทั้งหมดภายในประเทศ และหันมาพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากรัสเซีย ซึ่งมีปัจจัยมาจากราคาต้นทุนของก๊าซถูกกว่าการผลิตในประเทศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในช่วงปี 2538 – 2555 แอลจีเรียถือเป็นแหล่งนำเข้าก๊าซที่สำคัญอันดับ 1 ของอิตาลี แต่ในช่วงปี 2556 – ปัจจุบัน อิตาลีหันมานำเข้าก๊าซจากรัสเซียเพิ่มมากขึ้นจึงส่งผลให้รัสเซียกลายเป็นแหล่งนำเข้าก๊าซที่สำคัญอันดับ 1 ของอิตาลี โดยปี 2564 อิตาลีนำเข้าก๊าซจากรัสเซียขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.3% เทียบกับปี 2563 หรือคิดเป็นปริมาณ 29 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่อิตาลีนำเข้าก๊าซจากแอลจีเรียขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 76.1% หรือคิดเป็นปริมาณ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ อิตาลียังมีการนำเข้าก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอาเซอร์ไบจาน ผ่านกรีซ ตุรกี ส่งไปยังโรงงานไฟฟ้าทางตอนใต้ของอิตาลี (Tap) มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงยังมีการนำเข้าก๊าซจากประเทศในแถบเอเชียมีสัดส่วน 9.9% ของปริมาณการนำเข้าก๊าซทั้งหมดในประเทศ

แต่จากสถานการณ์ความไม่แน่นอน และความเป็นไปได้สูงที่รัสเซียจะงดการจ่ายก๊าซให้แก่ประเทศในสหภาพยุโรป ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับวิกฤติด้านพลังงานหากรัสเซียงดการจ่ายก๊าซให้กับประเทศในสหภาพยุโรปรวมถึงอิตาลีด้วยนั้น รัฐบาลอิตาลีจึงได้มีการเตรียมมาตรการฉุกเฉินด้านพลังงานเพื่อรองรับวิฤกติดังกล่าว ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2562 มีแนวทางที่สำคัญสรุป ดังนี้

  • เพิ่มการนำเข้าก๊าซจากแหล่งนำเข้าอื่น ๆ ที่มีการนำเข้าอยู่แล้ว
  • ลดการส่งออกก๊าซ
  • ลดการใช้ก๊าซสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้า
  • เพิ่มการใช้ช่องทางขนส่งก๊าซ ทั้งทางท่อส่งก๊าซและช่องทางท่าเทียบเรือก๊าซธรรมชาติให้มีศักยภาพมากที่สุด
  • พิจารณาเปิดใช้ศูนย์โรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหิน จำนวน 7 แห่งในอิตาลี  (ในแคว้น Sardegna, Lazio, Puglia, Liguria, Friuli Venezia Giulia และ Veneto) ที่จะทยอยปิดใช้ทั้งหมดในปี 2568 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายพลังงานสะอาดของสหภาพยุโรป
  • ปรับลดอุณหภูมิสำหรับอาคารที่อยู่อาศัย  และระงับภาระผูกพันในการจัดหาก๊าซให้กับลูกค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง รวมถึงระงับการคุ้มครองราคาก๊าซสำหรับผู้ที่ได้รับการคุ้มครอง ยกเว้นผู้ใช้ที่มีปัญหาการขาดแคลนด้านพลังงาน
  • ใช้ก๊าซสำรองที่มีอยู่ และใช้กระบวนการเปลี่ยนสถานะของเหลวให้กลับมาเป็นก๊าซ (Regasification)

โดยมาตรการ/แนวทางดังกล่าวข้างต้นอาจจะช่วยให้อิตาลีสามารถรับมือกับวิกฤติดังกล่าวได้ดีในระยะสั้น แต่สำหรับในระยะยาวนั้น รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาในการผลิตพลังงานหมุนเวียนใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอิตาลีมีการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น โดยระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 อิตาลีมีปริมาณการผลิตพลังงานหมุนเวียนถึง 82.2 เทราวัตต์-ชั่วโมง (TWh) คิดเป็นสัดส่วน 44.8% ของการผลิตพลังงานทั้งหมดในอิตาลี ซึ่งพลังงานหมุนเวียนที่มีการผลิตเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ พลังงานน้ำ และพลังงานลม ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์มีปริมาณการผลิตลดลง โดยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีสัดส่วน 38.8% ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าในอิตาลี

จากความจำเป็นในการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลีที่กำลังค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด–19 ส่งผลให้อิตาลีต้องเผชิญกับราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าไฟฟ้า และก๊าซที่ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2564 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันได้มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้า +55% และราคาค่าก๊าซ +42% ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐบาลได้มีการออกกฎหมายด้านพลังงาน และ Superbonus  เพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมในอิตาลีที่ต้องแบกรับภาระดังกล่าว โดยรัฐบาลมีแนวทางในการช่วยเหลือที่สำคัญ ดังนี้

  • จัดสรรเงินช่วยเหลือในไตรมาสแรก ของปี 2565 มีมูลค่า 5.4 พันล้านยูโร
  • การเรียกเก็บอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการจัดส่งก๊าซที่ใช้ในโรงงานผลิตและเพื่อใช้ในครัวเรือนเหลือเพียง 5%
  • ยกเลิกอัตราค่าบริการของระบบสำหรับการใช้กำลังไฟฟ้า 16.5 กิโลวัตต์หรือมากกว่าขึ้นไป  สำหรับไตรมาส 1/2565
  • ให้สิทธิ์การผ่อนชำระค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซ ที่ใช้กำลังไฟฟ้าไม่เกิน 16.5 กิโลวัตต์ สำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ หรือมีลูก 4 คน

ความคิดเห็น

จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ได้กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้เพิ่มแรงกดดันให้ราคาพลังงานมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2565 ซึ่งที่ผ่านมา อิตาลีได้เผชิญกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่กลางปี 2564 เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์อันเนื่องมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนในประเทศมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การขัดแย้งดังกล่าว รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชนในอิตาลีเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากประชาชนมีกำลังซื้อที่ลดลง บวกกับภาระค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าภายในประเทศลดลง และมีความเป็นไปได้ที่อิตาลีจะชะลอการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ GDP ของอิตาลี ปี 2565 หดตัวต่ำกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน (มีนาคม 2565)
www. https://dgsaie.mise.gov.it/ และ สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศฯ ณ กรุงบรัสเซลส์

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2