ประเทศฮังการีเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในยุโรป เนื่องจากมีต้นทุนราคาที่ดินและแรงงานมีทักษะที่ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตก รัฐบาลฮังการีมีงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตอนกลางทวีปยุโรป มีพรมแดนติดต่อกับหลายประเทศ เป็นศูนย์กลางการค้า การขนส่งและกระจายสินค้า (Trading and Logistics Hub) ที่สำคัญของภูมิภาค เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย รวมทั้งภูมิภาคยุโรปตะวันตกและตะวันออก นอกจากนี้ ระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสินค้าของประเทศฮังการีกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อำนวยความสะดวกในการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าภายในทวีปยุโรป ทั้งการขนส่ง ทางบก ทางรถไฟ และทางอากาศ ชดเชยการที่ฮังการีไม่มีทางออกสู่ทะเลได้

แบรนด์รถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนและประกอบรถยนต์ ในฮังการี มีดังต่อไปนี้

  • แบรนด์ Audi ณ เมือง Győr ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของฮังการี
  • แบรนด์ Mercedes-Benz ณ เมือง Kecskemét ทางใต้ของฮังการี
  • แบรนด์ Suzuki ณ เมือง Esztergom ทางตอนเหนือของฮังการี
  • แบรนด์ Bosch ณ เมือง Miskolc ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของฮังการี
  • แบรนด์ Opel ณ เมือง Szentgotthárd ทางตะวันตกของฮังการี ติดพรมแดนออสเตรีย
  • แบรนด์ Hankook มีโรงงานผลิตยางรถยนต์ ณ เมือง Rácalmás ทางตอนกลางของฮังการี
  • แบรนด์ Denso มีศูนย์กระจายสินค้า ณ เมือง Székesfehérvár ตอนกลางของฮังการี
  • แบรนด์ Bridgestone ณ เมือง Tatabánya ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของฮังการี เป็นต้น

รูปภาพที่ 1: แผนภาพแสดงที่ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายสำคัญในฮังการี

ที่มาของข้อมูล: Hungarian Investment and Trade Agency (HIPA)

ผู้ผลิตรถยนต์และส่วนประกอบยานยนต์ต่างชาติต่างประกาศการลงทุนในฮังการีเพิ่ม ดังนี้

1. บริษัท Novation Tech สัญชาติอิตาเลียน ลงทุนขยายไลน์การผลิตชิ้นส่วน Composite ซึ่งเป็นวัสดุที่ประกอบด้วยพลาสติกและโลหะแผ่นเสริมแรง สำหรับการผลิตยานยนต์ ณ โรงงานผลิตชิ้นส่วนคอมโพสิต ในเมือง Szeghalom ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฮังการี ในวงเงินลงทุน 1.3 พันล้านโฟรินท์ (ประมาณ 130 ล้านบาท) และได้รับงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลฮังการี 450 ล้านโฟรินท์ (ประมาณ 46 ล้านบาท) ทั้งนี้ บริษัทจะจ้างแรงงานมีทักษะเพิ่มเติมอย่างน้อย 50 คน เพิ่มเติมจากพนักงานเดิม 400 กว่าราย

2. แบรนด์ BMW ลงทุนเปิดโรงงานการผลิตรถยนต์รุ่นใช้พลังงานไฟฟ้า ภายใต้แพลตฟอร์มรุ่นใหม่ Neue Klasse ณ เมือง Debrecen ทางทิศตะวันออกของฮังการี ใช้เงินลงทุน 1 พันล้านยูโร (ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท) และได้รับงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลฮังการี 1.23 หมื่นล้านโฟรินท์ (ประมาณ 1.3 พันล้านบาท) โรงงานดังกล่าวมีกำหนดเริ่มก่อสร้างภายในต้นปี 2565 และมีกำหนดสร้างเสร็จภายในปี 2568 ขณะนี้อยู่ในช่วงการประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างส่วนต่างๆ ของโรงงาน ซึ่งรวมถึงออฟฟิศบริหารส่วนกลางและศูนย์ฝึกอบรมแรงงาน บริษัทแม่ BMW AG ในเยอรมนีคาดว่า จะจ้างแรงงานในโรงงานที่ฮังการีได้กว่า 1,000 ราย และมีกำลังผลิตรถยนต์ได้สูงสุด 150,000 คันต่อปี

3. แบรนด์ MercedesBenz ในเครือของบริษัท Daimler AG ลงทุนขยายไลน์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแบบ SUV ขนาดเล็กรุ่น EQB ณ โรงงานประกอบรถยนต์เมือง Kecskemét ทางใต้ของฮังการี โดยที่กระบวนการผลิตนั้นจะบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2565 ใช้เงินลงทุน 5 หมื่นล้านโฟรินท์ (ประมาณ 5.2 พันล้านบาท) และได้รับงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลฮังการี 1.5 หมื่นล้านโฟรินท์ (ประมาณ 1.6 พันล้านบาท) เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า บริษัทจะจ้างแรงงานมีทักษะเพิ่มเติมหลักร้อยคน เพิ่มเติมจากพนักงานเดิมสี่พันกว่าราย

4บริษัท EcoPro BM สัญชาติเกาหลีใต้ ประกาศโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตขั้วแคโทด (Cathodeสำหรับแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน (Lithium-ion Battery) ในอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ณ พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจทางตอนใต้ของเมือง Debrecen บนพื้นที่กว่า 440,000 ตารางเมตร วงเงินลงทุน 2.64 แสนล้านโฟรินท์ (ประมาณ 2.736 หมื่นล้านบาท) การก่อสร้างเฟสแรกมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยโรงงานดังกล่าวเป็นฐานการผลิตแห่งแรกนอกพื้นที่ประเทศเกาหลีใต้ บริษัทตั้งเป้าหมายว่าเมื่อเดินเครื่องการผลิตเต็มกำลังแล้ว จะมีกำลังผลิตขั้วแคโทดสูงสุด 108,000 ตัน/ปี รองรับรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 1.35 ล้านคัน

ช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564 อุตสาหกรรมยานยนต์ฮังการีสร้างรายได้ราว 8.7 ล้านล้านโฟรินท์ (ประมาณ 9 แสนล้านบาท) โดยที่ผลผลิตกว่า 90% ผลิตเพื่อส่งออก ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมตลอดปีขยายตัว 9.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าด้วยปัจจัยฐานต่ำ

ทั้งนี้ ปัญหาหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังเป็นการขาดแคลนชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากผู้ผลิตชิปผลิตสินค้าไม่ทันต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีอัตราการเติบโตของการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่ายานยนต์อย่างมาก ทำให้การผลิตและส่งมอบรถยนต์ล่าช้ากว่ากำหนดอย่างมาก ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในฮังการีประจำปี 2564 อยู่ที่ 121,920 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 4.8% เนื่องจากลูกค้าหลายรายที่เดิมมีกำหนดรับรถยนต์ในปี 2564 ต้องรอต่อไปอีก

รูปภาพที่ 2: จำนวนรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในปี 2564 และเปรียบเทียบยี่ห้อรถยนต์ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ในปี 2563 – 2564

รัฐบาลฮังการีสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงการพัฒนาประเทศ (Ministry of National Development) ประเทศฮังการี เผยแพร่แผนแม่บท National Energy and Climate Strategy 2030 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรป สาระสำคัญของแผนแม่บทดังกล่าว คือการกำหนดแนวทางการ จัดการพลังงานและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรัฐบาลฮังการีตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2573 ฮังการีจะต้องเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนและใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างรู้คุณค่า และภายในปี 2593 ฮังการีจะต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) สอดคล้องกับข้อตกลงจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ทั้งนี้ รัฐบาลฮังการีเน้นย้ำว่าทุกคนต้องใช้พลังงานสะอาดได้ในราคาประหยัด

ข้อแตกต่างของแผนพัฒนาพลังงานในฮังการีกับประเทศอื่นในสหภาพยุโรป คือฮังการียังใช้งานโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ในขณะที่บางประเทศเริ่มดำเนินการยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีฮังการีมีมติเห็นชอบแผนแม่บท National Hydrogen Strategy ของกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Ministry of Innovation and Technology) ว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทนจากพลังงานไฮโดรเจน หนึ่งในหกโครงการสำคัญภายใต้แผนดังกล่าว คือโครงการ Green Bus Program วงเงินงบประมาณ 2 หมื่นล้านโฟรินท์ (ประมาณ 2 พันล้านบาท) มีจุดประสงค์เพิ่มการใช้รถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้าและพลังงานไฮโดรเจน เนื่องจากการคมนาคมและขนส่งสาธารณะในฮังการีมีสัดส่วนใช้พลังงานปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 1 ใน 5 ของปริมาณการก๊าซเรือนกระจก ทั้งประเทศ ทั้งนี้ ฮังการีตั้งเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตและส่งออกสำคัญในตลาดเทคโนโลยีไฮโดรเจนในอนาคต

ล่าสุด รถโดยสารสาธารณะพลังงานไฮโดรเจนรุ่นแรก รุ่น Solaris Urbino 12 ความยาว 12 เมตร จุผู้โดยสารได้สูงสุด 89 คน ที่พัฒนาโดยหน่วยงาน Hungarian Motorsport and Green Mobility Development Agency (HUMDA) เตรียมให้บริการนำร่องแทนรถโดยสารประเภทเดิม ในเส้นทางสถานีรถไฟ Kőbánya-Kispest ชานเมืองกรุงบูดาเปสต์-เมือง Vecsés ในเขตปริมณฑลกรุงบูดาเปสต์ ในช่วง 3 สัปดาห์แรก (11 กุมภาพันธ์ –
6 มีนาคม 2565) โดยให้ผู้โดยสารสามารถใช้บริการได้ฟรี รถเมล์รุ่นดังกล่าว ใช้แบตเตอรี่พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen cell) ขนาด 70 kW วิ่งได้ 350-400 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้ง

ด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนในรถยนต์ส่วนบุคคล เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 รัฐบาลฮังการีอนุมัติโครงการให้เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV (Electric Vehicleรอบที่สอง โดยที่บุคคลธรรมดาขอรับการสนับสนุนการซื้อรถยนต์ได้คนละ 1 คัน ส่วนหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันศึกษา สามารถขอรับเงินอุดหนุนได้สูงสุด 5 คัน/หน่วยงาน วงเงินสนับสนุนต่อรถยนต์ 1 คันอยู่ที่ 1.5-2.5 ล้าน
โฟรินท์ (ประมาณ 1.5-2.5 แสนบาท) ขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดรถยนต์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งขยายจุดชาร์จรถไฟฟ้าทั่วประเทศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ปัจจุบันมีจุดชาร์จอยู่เพียง 1,200 แห่งโดยประมาณ ตั้งเป้าหมายว่าต้องขยายให้ได้ถึงประมาณ 5,900 แห่งเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนมากอาศัยอยู่ในกรุงบูดาเปสต์และหัวเมืองใหญ่ การมีจุดชาร์จหลายแห่งจะช่วยโน้มน้าวใจให้ประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

ทั้งนี้ จำนวนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศ ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 อยู่ที่ 18,800 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ Tesla 184 คัน สมาคม Future Mobility Association คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คันภายในสิ้นปี 2565

ข้อคิดเห็น

ปัจจุบัน การใช้รถยนต์ที่เน้นการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการขับเคลื่อนอัตโนมัติ เป็นเทรนด์อุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก และจะมีบทบาทในตลาดมากขึ้นในอนาคต เพราะกลุ่มผู้ใช้รถยนต์รายใหม่ในตลาดประเทศกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Advanced Economies) ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มเลือกใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกมากขึ้น อีกทั้งโครงสร้างราคายังมีแนวโน้มถูกลงตามเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาอยู่ตลอด นอกจากนี้ รัฐบาลหลายประเทศใน EU
มีนโยบายสนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะพลังงานสะอาด และอุดหนุนผู้บริโภคให้หันมาเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ผู้ผลิตและส่งออกไทยจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันกระแสเทคโนโลยีการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และปรับรูปแบบการผลิต วิเคราะห์ให้เข้ากับสถานการณ์ อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการปล่อยมลภาวะ ตามยุทธศาสตร์การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยภายในปี 2593 และการขับเคลื่อน Circular Economy และ Green Economy (ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด/พลังงานไฟฟ้า เป็นภาคส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ของภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นการส่งเสริมช่องทางการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ และโอกาสในการสร้างเครือข่ายธุรกิจของผู้ส่งออกไทย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ จึงขอแนะนำงานแสดงสินค้านานาชาติที่มีกำหนดจัดในปี 2565 ภายในภูมิภาคยุโรปกลาง ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อผ่านทาง สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ได้ ดังนี้

  • Automotive Expo ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ช่วงเวลา 10- 1 3 พฤษภาคม 2565
  • DDOR Eco BG Car Show 07 และ 14th International Motorcycle Show ณ กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย ช่วงเวลา 12 – 15 พฤษภาคม 2565
  • Automotive Expo ณ เมืองซิบิว (Sibiu) ประเทศโรมาเนีย ช่วงเวลา 26 พฤษภาคม 2565
  • Automotive Expo Sofia ณ กรุงโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย ช่วงเวลา 3 – 6 มิถุนายน 2565

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ (กุมภาพันธ์ 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2