สถานการณ์ด้านการขาดแคลนสินค้านมสำหรับเด็กในตลาดสหรัฐฯ เริ่มรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ในตลาด เช่น ห้างสรรพสินค้า Walmart และ ห้างสรรพสินค้า Target หลายสาขาไม่มีสินค้าวางจำหน่าย เนื่องจากปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด–19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดเริ่มกักตุนสินค้า โดยผู้บริโภคในพื้นที่ขาดแคลนบางรายจำเป็นที่จะต้องขับรถเป็นระยะทางไกลเพื่อหาซื้อนมสำหรับบุตรหลานของตน

Mr. Krishnakumar Davey ตำแหน่ง President of Strategic Analytics บริษัท IRi ผู้วิจัยตลาดค้าปลีก กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนนมสำหรับเด็กยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในบางเขตพื้นที่ โดยหากพิจารณาเปรียบเทียบปริมาณสำรองนมและอาหารสำหรับเด็กในตลาดสหรัฐฯ ปัจจุบันยังคงถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มสินค้าอาหารทั่วไป อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณายอดขาดแคลนสินค้าในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งสิ้น 10 รายในตลาดเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมากลับพบว่ากว่าร้อยละ 20 ของจำนวนสาขาห้างค้าปลีกกลุ่มตัวอย่างประสบปัญหาขาดแคลนสินค้านมเด็กซึ่งถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างน่าเป็นห่วง  

ข้อมูลสถิติบริษัท IRi รายงานว่า ในปี 2564 ชาวอเมริกันใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้านมเด็กมีมูลค่าทั้งสิ้น 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากยอดจำหน่ายสินค้าในตลาดที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับระดับราคาจำหน่ายปลีกสินค้านมเด็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในตลาดด้วย

ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าปลีกประสบปัญหาในการพยากรณ์ความต้องการสินค้าในแต่ละพื้นที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้บริโภคในช่วงที่เกิดภาวะแพร่ระบาด ในขณะที่ภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต ทำให้ขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบในการผลิตด้วย สินค้านมสำหรับเด็กที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ส่วนมากมักจะมีแหล่งผลิตภายในประเทศแต่ต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์สินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดทำให้ได้รับสินค้าล่าช้าและมีต้นทุนสูงขึ้นเช่นเดียวกันกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม Mr. Robert Rankin ตำแหน่ง Executive Director หน่วยงาน The Infant Nutrition Council of America กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการขาดแคลนสินค้าในตลาด ไม่ได้เกิดขึ้นจากฝั่งของด้านการผลิตแต่เกิดจากฝั่งการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ รวมถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในตลาดที่ปัจจุบันเริ่มกักตุนสินค้ามากขึ้น

Ms. Laura Modi ตำแหน่งผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Bobbie ผู้จำหน่ายสินค้านมสำหรับเด็กแบบเกษตรอินทรีย์ผ่านช่องทางออนไลน์กล่าวว่า แนวโน้มการขาดแคลนดังกล่าวอาจจะส่งผลให้กลุ่มผู้ปกครองเด็กตัดสินใจกักตุนสินค้ามากขึ้น ซึ่งสำหรับบริษัทเองก็พบสัญญาณการกักตุนสินค้าบางรายการในกลุ่มผู้บริโภคเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งบางครั้งอาจจะเกิดจากข่าวลือจากสื่อสังคมออนไลน์ในกลุ่มผู้ปกครองเด็ก

ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้านมสำหรับเด็กในสหรัฐฯ เช่น บริษัท Reckitt Benckiser Group Plc (แบรนด์ Enfamil) และ บริษัท Abbott Laboratories (แบรนด์ Similac) ต่างประสบปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทานเป็นอุปสรรคในการจัดส่งสินค้าไปยังช่องทางค้าปลีก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเหล่านี้ต่างพยายามเร่งที่จะแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการในตลาดคาดว่า สถานการณ์จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในช่วงปลายไตรมาสที่ 1

ทั้งนี้ การขาดแคลนนมสำหรับเด็กในตลาดอาจจะเป็นปัญหาสำหรับหลายครอบครัว เนื่องจากการเปลี่ยนไปใช้นมสำหรับเด็กแบรนด์อื่นอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหารของเด็กเล็กได้ อีกทั้ง เด็กบางรายอาจจะต้องการสารอาหารบางอย่างโดยเฉพาะ ทำให้การเปลี่ยนแปลงแบรนด์สินค้าทำได้ค่อนข้างลำบาก

บทวิเคราะห์

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาในระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในตลาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในปัจจุบันมีส่วนกระทบต่อการขนส่งสินค้า ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดหลายรายการเริ่มขาดแคลน รวมถึงสินค้าสำหรับเด็กเล็ก เช่น นมสำหรับเด็ก และสินค้าข้าวของเครื่องใช้ เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีส่วนส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ในอนาคต

โดยในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564 สหรัฐฯ สินค้านมเด็กมีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 82.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.86 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา แหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ เม็กซิโก (ร้อยละ 58.14) ไอร์แลนด์ (ร้อยละ 14.01) ชิลี (ร้อยละ 12.93) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 8.61) และออสเตรีย (ร้อยละ 1.67) ตามลำดับ ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยเองจะมีอุตสาหกรรมการผลิตสินค้านมสำหรับเด็กในประเทศขนาดใหญ่จากการลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติ เช่น บริษัท แอ็บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด บริษัท ดูเม็กซ์ จำกัด บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เนสท์เล่ย์ (ไทย) จำกัด และบริษัท แปซิฟิค เฮลธ์แคร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ก็ตามแต่ส่วนใหญ่สินค้าที่ผลิตได้ในไทยจะใช้สำหรับทำตลาดในประเทศและประเทศใกล้เคียงในทวีปเอเชียเป็นหลัก โดยแทบจะไม่มีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เลย เนื่องจากสหรัฐฯ มีนโยบายห้ามนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์นมวัวจากไทย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขาดแคลนกลุ่มสินค้านมและของใช้สำหรับเด็กในตลาดสหรัฐฯ กลับน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกี่ยวข้องกับเด็กเล็ก เช่น รถเข็น เสื้อผ้า รองเท้า โต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม เบาะรองนอน เตียงนอน มุ้ง รวมถึงอุปกรณ์สันทนาการและของเล่นสำหรับเด็กในอนาคต ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมียอดส่งออกในตลาดสหรัฐฯ อยู่บ้างแล้ว

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแน

ถึงแม้ว่าสินค้านมสำหรับเด็กที่ผลิตจากนมวัวของไทยจะไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้ แต่กระแสความนิยมของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่เริ่มหันไปเลือกบริโภคสินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based) รวมถึงข้อจำกัดด้านสุขภาพบางประการ เช่น การแพ้สารแลคโตสในนมจากวัว ทำให้ผู้ปกครองเด็กเล็กบางรายมีความต้องการเลือกสินค้านมสำหรับเด็กทำจากพืช (Plant-Based Baby Formula) มากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและสนใจทำตลาดส่งออกในสหรัฐฯ โดยผู้ประกอบการไทยเองก็มีความพร้อมทั้งในด้านของการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ (ถั่วเหลือง) และเทคโนโลยีการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพในระดับสากล

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาคประกอบกันนโยบายการรับมือการแพร่ระบาดตามกลยุทธ์โควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ของจีนที่จะดำเนินมาตรการปิดเมืองตรวจพบผู้ติดเชื้อเพียงเล็กน้อยอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกสินค้าสำหรับเด็กกลุ่มอื่น ๆ ที่สหรัฐฯ ต้องพึ่งพิงจากจีน ทำให้เกิดการขาดแคลนในตลาดมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวน่าจะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ หันไปเลือกนำเข้าสินค้าจากแหล่งผลิตจากประเทศใกล้เคียงทดแทน ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถหาช่องทางเจาะตลาดสินค้าทดแทนดังที่ได้กล่าวข้างต้นและรักษามาตรฐานและกำลังการผลิตให้สินค้ามีพร้อมจัดส่งได้ก็น่าจะมีโอกาสในการขยายตลาดกลุ่มสินค้าสำหรับเด็กรายการอื่นในสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจากจีนได้

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (มกราคม 2565)
หนังสือพิมพ์ the Wall Street Journal

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2