สำนักข่าว New Hope Network รายงานข้อมูลตลาดสินค้าธรรมชาติและสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระหว่างงานแสดงสินค้า Natural Expo West เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตลาดสินค้าธรรมชาติและสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ลดลงเล็กน้อยในช่วงระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าปัจจัยดังกล่าวจะมีอิทธิพลทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีพฤติกรรมกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มตลาดสินค้าธรรมชาติและสินค้าเกษตรอินทรีย์สหรัฐฯ โดยรวมยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราราวร้อยละ 4 ในปี 2666 และร้อยละ 5 ในปี 2567 ตามลำดับ

ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์สหรัฐฯ จะมีอัตราการขยายตัวลงลงในช่วงที่ผ่านมาก็ตามแต่หากวัดมูลค่าตลาดรวมยังถือว่าเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงโดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 2.74 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งยังคาดว่า มูลค่าตลาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2573

Ms. Carlotta Mast ตำแหน่ง Senior Vice President สำนักข่าว New Hope Network กล่าวว่า ปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ยอดจำหน่ายสินค้าในอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา อีกทั้ง ยังเชื่อว่าตลาดสินค้าธรรมชาติและสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ ยังน่าจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4 – 5 ปีข้างหน้า

Mr. Nick McCoy ตำแหน่ง Managing Partner บริษัท Whipstitch Capital บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจให้ความเห็นต่อสถานการณ์ในตลาดว่า การขยายตัวของตลาดสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดมาจากปัจจัยความต้องการบริโภคของผู้บริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ในตลาดอันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาด้วยโดยในช่วงปี 2564 อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มสินค้าอาหารในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงสถานกรณ์ปกติที่มักจะขยายตัวในระดับร้อยละ 5 ต่อปีเท่านั้น

นอกจากนี้ Ms. Mast ยังกล่าวเสริมว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคในตลาดยังมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพ ศึกษารายละเอียดของแบรนด์สินค้าแต่ละชนิด และปรุงอาหารเองที่บ้านมากขึ้น ทำให้กลุ่มสินค้าธรรมชาติหรือสินค้าเฉพาะเจาะจง (Specialty Products) ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคในตลาดมากมากขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าทั่วไป (Conventional Products) อีกด้วย

ทั้งนี้ สินค้าอาหารและเครื่องดื่มถือเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญที่สุดที่มีส่วนช่วยผลักดันการขยายตัวของมูลค่าตลาดสินค้าธรรมชาติและสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดเกือบร้อยละ 70 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด โดยในปี 2563 มูลค่าตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ และฟังก์ชั่นขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9 เทียบกับมูลค่าตลาดสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7 ในช่วงเวลาเดียวกันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากบริษัท SPINS ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มธรรมชาติและเกษตริอินทรีย์ในสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 6.6  ในปี 2565 และร้อยละ 5.5 ในปี 2566 ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 ในปี 2567 ตามลำดับ

หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปีที่ผ่านมาพบว่า มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย Ms. Mast ให้ความเห็นว่า การขยายตัวของตลาดส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาวะการขาดแคลนสินค้าในตลาดหลายรายการทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันหันไปเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อทดแทนสินค้าที่ขาดแคลนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยรวมเขาเชื่อว่าสินค้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์ยังมีโอกาสขยายตัวในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในอนาคตเนื่องจากแบรนด์สินค้าในตลาดต่างเริ่มให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านห่วงโซ่อุปทาน ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยด้านความยั่งยืน ปัจจัยด้านสวัสดิการสัตว์ปัจจัยด้านการปฏิรูปการเกษตร และปัจจัยอื่นๆที่ผู้บริโภคในตลาดให้ความสนใจอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่น (Functional Foods and Beverages) มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในกลุ่มสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ในช่วงระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ ข้อมูลจากบริษัท SPIN ระบุว่า มูลค่าตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่นมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.5 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 8.3 ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด อีกทั้ง ยังคาดว่า อัตราการขยายตัวจะยังคงรักษาอยู่ในระดับเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ไปจนกระทั่งปี 2567 อีกด้วย

กลุ่มสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่นที่ได้รับความสนใจสูงในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน ได้แก่ เครื่องดื่มพร้อมดื่ม อาหารแช่แข็ง และขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีส่วนประกอบของสารอิเล็กโทรไลต์ เห็ด สารสกัดสมุนไพร (Adaptogens ไขมันดี และสารพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคในตลาดยังคงให้ความสนใจสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่คุ้นเคย (Traditional Comfort Food) ที่ส่งเสริมความสมดุลด้านรสชาติและอรรถประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย เช่น ขนมขบเคี้ยวสูตรคิโต (Keto) เนื้อจากพืชอบแห้ง (Plant-Based Jerky) ไอศกรีมเพิ่มโปตีน น้ำอัดลมและขนมขบเคี้ยวจากสารธรรมชาติ เป็นต้น

บทวิเคราะห์: ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสนใจเลือกบริโภคสินค้าที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทำให้ตลาดสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าตลาดสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์สหรัฐฯ ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41 ของมูลค่าตลาดทั่วโลก อีกทั้ง ชาวอเมริกันยังมีสัดส่วนใช้จ่ายเพื่อชื้อสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์เฉลี่ยต่อคนสูงถึง 148 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปีซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนการใช้จ่ายเฉลี่ยที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เกิดภาวการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การขยายตัวของตลาดสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยโดยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากปัจจัยด้านความอิ่มตัวของผู้บริโภคในตลาดที่มีความต้องการบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน รวมถึงปัจจัยด้านการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอันเป็นผลกระทบจากระบบการขนและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกทำให้มีจำนวนสินค้าวางจำหน่ายในตลาดน้อยลงด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะทำให้ตลาดมีแนวโน้มตัวชะลอตัวลงเล็กน้อยภายในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้าหรือจนกว่าสภาพเศรษฐกิจในสหรัฐฯ จะปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ สหรัฐฯเองถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคศักยภาพและมีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของไทย รองจากจีน และญี่ปุ่น ในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังสหรัฐฯรวมทั้งสิ้น 3.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มแปรรูป ผัก ผลไม้ และข้าวหอมมะลิ ในช่วงที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ข้าวหอมมะลิ อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว น้ำมะพร้าว และเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น ดังนั้น แม้ว่าตลาดสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์สหรัฐฯ จะมีแนวโน้มขยายตัวลดลงแต่โดยรวมแล้วยังถือว่าน่าจะยังเป็นตลาดศักยภาพที่เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายฐานการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในอนาคต

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ในภาพรวมพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกันยังคงให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีสรรพคุณให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าจะทำให้กลุ่มสินค้าธรรมชาติ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าฟังก์ชั่นยังคงมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในสหรัฐฯ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่สนใจทำตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ จึงควรพิจารณาให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเพื่อให้สามารถขยายตลาดส่งออกสินค้าได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้ สินค้าฟังก์ชั่นเป็นที่นิยมและมีโอกาสขยายตัวมากที่สุดในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่ม เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มผสมสารแคนนาบิไดออล เป็นต้น จึงทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนมากตัดสินใจเข้าตลาดซึ่งส่งผลให้สภาพการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการไทยจะประสบความสำเร็จในการทำตลาดในสหรัฐฯ นอกจากการพัฒนาสินค้าที่มีสรรพคุณที่เป็นที่นิยมตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาด เช่น สรรพคุณด้านการช่วยเผาผลาญ สรรพคุณด้านการช่วยเพิ่มโปรตีน สรรพคุณด้านการช่วยเพิ่มสมาธิ และสรรพคุณด้านการช่วยให้หลับสบายแล้ว การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกในด้านการพกพาและใช้งานง่ายน่าจะมีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในตลาดได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ การสร้างความแตกต่างของสินค้าโดยการนำสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน เช่น ขมิ้นชัน และขิง มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตก็น่าจะสร้างให้สินค้าเกิดความน่าสนใจและช่วยให้สามารถเจาะตลาดผู้บริโภคชาวอเมริกันได้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ มีระเบียบและมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้ารวมถึงการแสดงฉลากและการอวดอ้างสรรพคุณสินค้าที่เข้มงวดมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะระมัดระวังการแสดงฉลากโดยหลีกเลี่ยงการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือสรรคุณทางยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการอนุญาตนำเข้าสินค้าในอนาคต

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (มีนาคม 2565)
สำนักข่าว Food Navigator USA

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2