1. สรุปภาพรวมของตลาดค้าปลีกสวีเดน

สวีเดนมีประชากรรวมประมาณ 10.35 ล้านคน รายได้ต่อหัวประชากร (GNI per capita) อยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านบาท/คน/ปี ในปี 2562 ตลาดค้าปลีกสวีเดนมีมูลค่า 2,917 พันล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 3.5 จากปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของประชากร และรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยร้อยละ 18 ของประชากรสวีเดนทั้งหมดออกไปทานอาหารเย็นนอกบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง (ข้อมูลปี 2562 ก่อนเกิดโรคระบาด COVID-19) และ 1 ใน 3 ของประชากรออกไปทานอาหารมื้อกลางวันนอกบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เหล่าห้างสรรพสินค้าต่างๆ จึงทุ่มเทพื้นที่ค้าปลีกให้กับร้านอาหารมากขึ้น ทั้งนี้ จากภาวะวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา รัฐบาลสวีเดนมิได้มีคำสั่งปิดร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า หรือ lockdown แต่อย่างใด เพียงแต่มีมาตรการสนับสนุนการป้องกันการแพร่กระจายโรคอื่นๆ เท่านั้น เช่น การรักษาระยะห่าง และการทำงานจากบ้าน

ผู้คนออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าในเขตถนนช้อปปิ้งใจกลางเมือง
ณ กรุงสตอกโฮล์ม
เครดิตภาพ: Image Bank Sweden

2. แนวโน้มความต้องการของตลาด

รายจ่ายครัวเรือนสวีเดนประมาณ 1 ใน 3 เป็นรายจ่ายในภาคการค้าปลีก โดยชาวสวีเดนมีความฉลาดในการเลือกซื้อสินค้า โดยให้ความสำคัญกับฟังก์ชันการใช้งาน คุณภาพ การออกแบบ และการสร้างแบรนด์อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ราคาก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้าด้วย ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจซื้อ ได้แก่ ความรู้ความชำนาญของผู้ขาย และบริการหลังการขาย ผู้บริโภคชาวสวีเดนมีความภักดีต่อแบรนด์ (Brand loyalty) น้อยลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ ในปี 2562 อุตสาหกรรมค้าปลีกออนไลน์สวีเดนมีมูลค่า 325 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าและรองเท้า หนังสือ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ DIY กีฬาและเกมส์  ยอดขายค้าปลีกออนไลน์ที่มาจากต่างประเทศคิดเป็น 39 พันล้านบาท โดยกว่าร้อยละ 70 ของผู้บริโภคสวีเดนทั้งหมดซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน

สัดส่วนการซื้อสินค้าออนไลน์ในประเภทต่าง ๆ ของตลาดสวีเดน ปี 2562 ที่มา: E-barometern, 2019

สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกที่เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจบริโภค ความต้องการสินค้าที่สด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งผลดีต่อสุขภาพได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางด้านผลิตภัณฑ์เพื่อความงามนั้น (beauty sector) ความต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์เพิ่มสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ ในปี 2561 ยอดการจำหน่ายสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ในตลาดสวีเดนอยู่ที่ 107 พันล้านบาท นอกจากนั้น ตลาดมือสองกำลังขยายตัวทั้งตลาดค้าปลีกออนไลน์ และออฟไลน์ เนื่องจากผู้บริโภคสนใจในประเด็นด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 73% การใช้แพลตฟอร์ม sharing economy เช่น Airbnb และ Uber เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคชาวสวีเดน สินค้ากลุ่ม sharing economy ที่นิยมในตลาด ได้แก่ รถยนต์ เสื้อผ้า เกมส์ และที่อยู่อาศัย

3. สถานการณ์การแข่งขันและคู่แข่งที่สำคัญของไทย

ในสวีเดนมีร้านค้าปลีกทั้งหมดรวมประมาณ 27,500 แห่ง และมีห้างสรรพสินค้ารวม 375 แห่ง (เช่น Westfield Mall of Scandinavia และ Mood ณ กรุงสตอกโฮล์ม) มีพนักงานรวมทั้งหมดในอุตสาหกรรมการค้าปลีกประมาณ 295,000 คน ร้านค้าปลีกจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในสวีเดน เช่น Zara, Lidl, Sephora, Uniqlo, Afound, Arket, Barbour, Burton, Cartier, Ganni, JD Sports, Lululemon, Moncler, Muji, Oysho, Sandro, Sonos, Stone Island, Suitsupply, Under Armour, Uniqlo และ Victoria’s Secret ทางด้านการค้าปลีกออนไลน์นั้น ในปี 2564 สินค้าจากต่างประเทศที่มียอดขายมากที่สุดมาจาก เยอรมนี (โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 27 จากสินค้าจากต่างประเทศทั้งหมด) รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 26) จีน (ร้อยละ 21) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 12) และเดนมาร์ก (ร้อยละ 9) ตามลำดับ ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์ Brexit แล้ว การนำเข้าสินค้าจากสหราชอาณาจักรจะต้องเสียภาษีนำเข้าเพิ่มเติมภายใต้เงื่อนไข Non-EU countries จึงอาจเป็นโอกาสของสินค้าไทยในการเข้าตลาดนี้ด้วย

4. วิเคราะห์โอกาส/ข้อจำกัดของสินค้าไทย

  • แม้ว่าผู้บริโภคสวีเดนจะค่อนข้างเปิดกว้างสำหรับแบรนด์ต่างประเทศ แต่สินค้าหลักที่ชาวสวีเดนเลือกซื้อคือสินค้าที่เป็นแบรนด์สวีเดน ทั้งนี้ การผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ผู้นำเข้าสวีเดนอาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
  • เหตุผลที่ชาวสวีเดนเลือกซื้อสินค้าจากต่างประเทศคือ เป็นสินค้าที่ไม่สามารถหาได้จากการผลิตในประเทศ หรือภายใต้แบรนด์สวีเดน การพัฒนาสินค้าให้มีจุดเด่นแตกต่างจากสินค้าในตลาดจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างโอกาสทางการค้าในตลาดนี้

5. แนวทางการขยายตลาดการค้าปลีก
หน่วยงานที่ส่งเสริมการลงทุนในสวีเดน ได้แก่
Business Sweden Agency: The Swedish Trade เว็บไซต์ www.business-sweden.com
Invest Council Almi Foretagspartner เว็บไซต์ www.almi.se
Invest in Stockholm เว็บไซต์ www.investstockholm.com
และ Invest in Skåne เว็บไซต์ https://investinskane.com/en/invest/toolbox/establishment-guides
ผู้ประกอบการสามารถหาข้อมูลการดำเนินธุรกิจค้าปลีกในสวีเดนจากหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้ได้

6. ข้อคิดเห็น ข้อควรระวังและข้อเสนอแนะ

  • ผู้บริโภคชาวสวีเดนเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี และนิยมการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน โดยสวีเดนได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 2 จากการจัดอันดับ 2020 Digital Economy and Society Index (DESI)  (รองจากฟินแลนด์) ในภาคการค้าปลีกนั้น ความนิยมการใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยชาวสวีเดนนิยมการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต/เดบิตจากธนาคารของตน รวมทั้งการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ Swish (mobile payment service Swish) โดยในปัจจุบัน การใช้เงินสดในภาคการค้าปลีกคิดเป็นเพียงร้อยละ 5 ของการชำระเงินทั้งหมดเท่านั้น ผู้ประกอบการจึงควรนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนาการบริการการค้าปลีกของตนด้วย
  • จากกระแสความนิยมการซื้อของใช้แล้ว (second-hand shop) เพิ่มขึ้น ห้างสรรพสินค้าต่างๆ จึงเพิ่มพื้นที่จำหน่ายสินค้ากลุ่มนี้ในห้างด้วย เพื่อตอกย้ำให้เห็นเป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจเน้นย้ำให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืน และลดผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
รูป: ห้างสรรพสินค้าสินค้ามือสอง ReTuna ใน Eskilstuna ตอนกลางของสวีเดน เป็นศูนย์การค้ามือสองแห่งแรกของโลก โดยแต่ละร้านจะจำหน่ายสินค้าที่ใช้แล้วที่ได้รับการซ่อมแซม หรืออัพไซเคิล
(ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องการซึ่งถูกเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่)
เครดิตภาพ: Image Bank Sweden

ที่มาข้อมูล: รายงานข่าวเด่นจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน (ต.ค. 2564)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2