ในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงสิ้นเดือนธันวาคมของปี 2564 ที่ผ่านมา ยอดขายสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีของบริษัท Signet Jewelers พุ่งสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนหน้านี้ร้อยละ 30 ซึ่งทำลายสถิติรายได้รวมของบริษัทฯ เป็นเงิน 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

บริษัท Signet Jewelers ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นเจ้าของธุรกิจร้านค้าปลีกอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ บริษัทฯมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศเบอร์มิวดาและมีสำนักงานในสหรัฐฯ ในรัฐโอไฮโอ้ บริษัทฯ มีร้านค้าปลีกทั่วสหรัฐฯร่วม 2,381 แห่ง แคนาดา 100 แห่ง และสหราชอาณาจักร 352 แห่ง ร้านค้าในเครือดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อร้านที่แตกต่างกัน Kay Jewelers, Zales, Jared, Banter by Piercing Pagoda, Diamond Direct, Peoples Jewellers, Rockbox, Earnest Jones, H.Samuel และ JamesAllen.com เป็นต้น

นาง Virginia C Drosos ซีอีโอของบริษัทได้เปิดเผยว่า ยอดขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดสหรัฐฯในส่วนของตลาด E-Commerce เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปีก่อนหน้านี้และเพิ่มขึ้นร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับสองปีก่อนหน้านี้สำหรับยอดขายของร้านค้าปลีกพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 34 จากปีก่อนหน้า สำหรับรายได้ในส่วนของตลาดอเมริกาเหนือมีมูลค่า 2.2 พันล้านเหรียญฯ ในขณะที่รายได้ในส่วนของตลาดต่างประเทศมีมูลค่า 144 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.5 จากปีก่อนหน้านี้ แต่ลดลงร้อยละ 3.6 จากสองปีก่อนหน้านี้

นาง Drosos ได้เปิดเผยว่า ตลอดปีที่ผ่านมาแม้บริษัทฯจะต้องเผชิญกับความท้าทายกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการในการจ้างพนักงานถึง 2,800 คน แต่บริษัทฯก็สามารถบรรลุเป้าหมายและทำลายสถิติยอดขายด้วยแผนการตลาด Inspiring Brilliance

Inspiring Brilliance เป็นกลยุทธ์ที่สร้างการเจริญเติบโตเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมเครื่องประดับสหรัฐฯ ด้วยการเน้นด้านการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าการฝึกอบรม และสร้างทีมงามที่มีความแข็งแกร่งพนักงานงานขายสามารถทดแทนหมุนเวียนกันได้ ได้ปรับเพิ่มเงินค่าจ้างและสวัสดิการให้กับพนักงาน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน การจัดส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าตรงเวลา และร้อยละ 30 เป็นสินค้าเทรนด์ใหม่

ตลาดเครื่องประดับของสหรัฐฯ

มูลค่าตลาดค้าปลีกเครื่องประดับและอัญมณีของสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 33.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และคาดว่า ยอดขายจะเพิ่มเป็น 45 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2569

ยอดขายเครื่องประดับและอัญมณีซึ่งเติบโตโดยต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ประสบปัญหายอดขายสะดุดเป็นครั้งแรก หรือร้อยละ 9.7 จากปี 2562 หรือมีเพียงมูลค่า 7.55 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

อุตสาหกรรมเครื่องประดับสหรัฐฯ มีการจ้างงานจำนวน 143,840 คน แยกเป็นพนักงานทำงานในตลาดค้าปลีกและค้าส่งจำนวน 124,986 คน และลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 18,854 คน

มีร้านค้าปลีกจำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณีจำนวน 52,331 แห่ง ทั่วประเทศสหรัฐฯ ในปี 2563 หรือลดลงไปจากปี 2562 ร้อยละ 1.8 รัฐแคลิฟอร์เนีย จำนวนร้านค้าปลีกเครื่องประดับมากที่สุด 2,614 แห่ง ตามด้วย รัฐนิวยอร์ก 2,170 แห่ง และรัฐฟลอริด้า 1,881 แห่งตามลำดับ

ผู้นำตลาดเครื่องประดับรายสำคัญของสหรัฐฯ ในปี 2563 คือ Signet Jewelers (ยอดขาย 4.48 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) Walmart (2.86 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) Amazon (2.24 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ Costco (1.63 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

การนำเข้าเครื่องประดับและอัญมณี

ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-พฤศจิกายน) สหรัฐฯนำเข้าเครื่องประดับและอัญมณี เป็นมูลค่า 46.10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงไป ร้อยละ 1.81 มีแหล่งนำเข้าสำคัญได้แก่ อินเดีย สวิสเซอร์แลนด์ อิสราเอล แคนาดา และ เบลเยี่ยม

ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯนำเข้าเครื่องประดับจากไทยเป็นมูลค่า 1,402.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 56.10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 สินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ เครื่องประดับเงิน มูลค่า 606.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ เครื่องประดับทอง 528.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเครื่องประดับและอัญมณีอื่นๆ 267.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. ธุรกิจการค้าเครื่องประดับและอัญมณีเริ่มขยายตัวสูงในปี 2564 เมื่อคนอเมริกันเริ่มใช้ชีวิตแบบปกติหลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีน ร้านค้าปลีกเครื่องประดับเปิดขายเป็นปกติ ผู้บริโภคซึ่งมีความอัดอั้นในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ออกมาใช้จ่ายซื้อเครื่องประดับจากร้านค้า ความต้องการซื้อจะเพิ่มขึ้น และการนำเข้าเครื่องประดับและอัญมณีจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

2. ปัจจุบัน ธุรกิจการค้าเครื่องประดับและอัญมณีเผชิญกับความท้าทายหลายประการในเรื่อง (1) การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคจากร้านค้าปลีกไปสู่การซื้อแบบออนไลน์ (2) รูปแบบประชากรที่เปลี่ยนไป ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ความต้องการซื้อเครื่องประดับลดลง และ (3) กลุ่มผู้บริโภคกลุ่ม Gen-2 ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้ใช้จ่ายกลุ่มสำคัญกลับนิยมซื้อเครื่องประดับราคาระดับไม่แพง

3. ช่องทางจำหน่ายเครื่องประดับในสหรัฐฯเปลี่ยนไป ร้านค้าปลีกทั้งกลุ่มลูกโซ่และร้านอิสระมีจำนวนร้านลดจำนวนลงต่อเนื่องทุกปีเนื่องด้วยเหตุผลด้านภาวะการแข่งขัน การจำหน่ายได้ขยายตัวไปสู่ช่องทางร้านค้าแบบ Mass Merchandiser เช่น ห้าง Walmart, ห้าง Costco และ ห้าง Target และช่องทางอีคอมเมิร์ซ เช่น Amazon, Blue Nile, Overstock

4. ร้านค้าปลีกเครื่องประดับลูกโซ่รายใหญ่ ได้แก่ Signet Jeweler, Tiffany, Pandora, Walmart, The Kroger, จะกำหนดนโยบายในเรื่องการแสวงหาสินค้าโดยมีความรับผิดชอบ หรือเรียกว่า Responsible Sourcing ซึ่งหมายถึง การมุ่งไปยังวัตถุดิบที่นำมาผลิตต้องไม่ขัดกับข้อห้าม ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นผลจากการกดขี่แรงงาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรต้องให้ความสนใจและนำมาปรับให้เป็นกลยุทธ์ของการทำธุรกิจการค้าเครื่องประดับยุคใหม่

5. ช่องทางการสื่อสารผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งได้แก่ Facebook, Line, Instagram, Tik Tok, Twitter และ YouTube เป็นที่นิยมของนักการตลาดอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะช่วยให้สื่อสารตรงไปยังผู้ซื้อได้รวดเร็ว การใช้ช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียจะต้องมุ่งในเรื่องการสร้างการรับรู้และการจดจำของสินค้าให้กับกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงการใช้ผู้ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียลมีเดีย (Influencer) ในการนำข้อมูลข่าวสารเชิงลึกไปสู่กลุ่มเป้าหมาย

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก (มกราคม 2565)

_______________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2