แม้ว่าผู้ประกอบการค้าปลีกของสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับอุปสรรคทางด้านซัพพลายเชน สินค้าขาดแคลนอันสืบเนื่อง ความล่าช้าในการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือรวมทั้งจากการส่งมอบสินค้าล่าช้าจากภาคการผลิตในต่างประเทศ แต่มิได้มีผลต่อการยับยั้งความต้องการ (Demand) การซื้อสินค้าทางออนไลน์ของผู้บริโภคอเมริกันในช่วงเทศกาลการใช้จ่ายครั้งสำคัญของปีในปีที่ผ่านมา เห็นได้จากตัวเลขยอดขายของธุรกิจอีคอมเมริซ์ของสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2564 มีมูลค่ามากถึง 204.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้

จากรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Adobe Digital Economy Index ของบริษัท Adobe โดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากเวปไซด์ทางออนไลน์ที่มีผู้เข้าชมมากกว่าล้านล้านครั้ง (Trillion) ด้วยจำนวนสินค้า 100 ล้าน SKUs และกลุ่มสินค้า 18 รายการ ซึ่งในรายงานได้เปิดเผยว่า:    

  • ในช่วงระยะเวลา 30 วันในช่วงเทศกาล คนอเมริกันสั่งซื้อสินค้ามีมูลค่าเกิน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแต่ละวัน  โดยร้อยละ 43 เป็นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ มีมูลค่าถึง 88 พันล้านเหรียญฯ
  • ในช่วงสัปดาห์ก่อนเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้า (วันที่ 1 – 24 พฤศจิกายน 2564) ยอดขายทางออนไลน์ขยายตัวร้อยละ 19.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ แต่ลดลงร้อยละ 1.4 ในช่วง Cyber Week (5 วันระหว่างวันขอบคุณพระเจ้าและวัน Cyber Monday) แต่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ในช่วงระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม
  • Top สินค้า: ยอดขายของเล่น ขยายตัว 5.4 เท่า วีดีโอเกมส์ (4.5 เท่า) บัตรกำนัล (3.6 เท่า) กลุ่มสินค้า Grocery (2.7 เท่า) เครื่องประดับ (2.2 เท่า) เครื่องใช้ไฟฟ้า (2.2 เท่า) กลุ่มสินค้าสำหรับเด็กอ่อน/วัยหัดเดิน (2.1 เท่า) 
  • Top ของเล่น: ผลิตภัณฑ์ Baby Yoda, Bluey, ตุ๊กตา Crystalina, Gabby’s Dollhouse, Got2Glow Fairy Finder
  • ระบบ/วิธีการจ่ายเงินแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later หรือ BNPL) ได้รับความนิยมมากขึ้น มีการขยายตัวถึงร้อยละ 27 และการสั่งซื้อสินค้าด้วยวิธีการจ่ายเงินแบบ BNPL เพิ่มขึ้นร้อยละ 10  เฉลี่ย Order ละ 224 เหรียญฯ มีสินค้า 3 รายการโดยเฉลี่ย/order

บทวิเคราะห์

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสหรัฐอเมริกา

ตลาดอีคอมเมิร์ซของสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 933 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 17.5 หรือคิดเป็นร้อยละ 15.3 ของยอดค้าปลีกรวมของสหรัฐฯ และคาดว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 1,648 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 ในปี 2568

ผู้บริโภคกลุ่มเจนเนอเรชั่นซี (Gen Z) เป็นผู้ที่จับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางอีคอมมเมิร์ซมากที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าเจนซีเป็นอนาคตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ปัจจุบัน ผู้บริโภคเจนซีในสหรัฐฯ (เกิดในช่วงปี 2540-2555) มีจำนวนประมาณ 67 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรของสหรัฐฯ

ช่องทางและโอกาสขยายตลาดในสหรัฐฯ

สถานการณ์โลกและพฤติกรรมของผู้บริโภคปัจจุบันเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการค้าทางออนไลน์ และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมทั่วโลกได้หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลกและสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจ ดังนั้น ช่องทางออนไลน์ผ่านอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มทั่วโลกจะเป็นช่องทางสนับสนุนการส่งออกของไทย เพื่อการนำเสนอสินค้าไทยให้แก่ผู้ซื้อทั่วโลก

1. ปัจจุบัน แพลตฟอร์มในสหรัฐฯ ที่เปิดให้ผู้ประกอบการทั่วไปเข้าไปขายสินค้าได้ คือ Amazon และ Walmart Marketplace

     1.1 บริษัทอเมซอนได้นำเสนอแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซการค้าระหว่างประเทศหรือเรียกว่า Amazon Global Selling ผู้ประกอบการไทยที่สนใจสามารถศึกษาวิธีการได้จากเวปลิ้งค์ https://services.amazon.com/global-selling/overview.html

     1.2 ห้างวอลมาร์ทสหรัฐฯ นำเสนอแพลทฟอร์ม Walmart Marketplace หรือ walmart.com เปิดโอกาสให้ผู้ขาย Third Party นำสินค้าไปจำหน่ายบนแพลทฟอร์มได้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจศึกษาข้อมูลได้จาก https://marketplace.walmart.com และ https://marketplace-apply.walmart.com

2. เพื่อเป็นการสนับสนุนการค้าขายทางออนไลน์ ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาในเรื่องการเก็บรักษาสินค้าในคลังสินค้าในสหรัฐฯ เนื่องจากแพลตฟอร์มบังคับให้ผู้ขายต้องเก็บสินค้าไว้ในสหรัฐฯ ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการใช้คลังสินค้าของแพลทฟอร์มหรือคลังสินค้าของ Third Party ทั้งนี้ เพื่อจุดประสงค์ในด้าน Drop shift หรือเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า

3. สินค้าที่ได้รับความสนใจและจำหน่ายได้ดีในช่องทางออนไลน์ในสหรัฐฯ คือ ของเล่น วิดีโอเกมส์ เครื่องประดับและอัญมณี คอมพิวเตอร์และอิเลคทรอนิกส์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม อาหารโกรเซอรี่ เครื่องสำอางและประทินผิว สินค้าสัตว์เลี้ยง และ อุปกรณ์เครื่องมือในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน

4. ผู้ประกอบการต้องพิจารณาใช้ประโยชน์จาก Social Media ที่มีอิทธิพลต่อการตลาด ได้แก่ Facebook, Instagram, Twitter ด้วยการประยุกต์ให้ไปเชื่อมโยงกับสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยและกระตุ้นการเพิ่มยอดขายสินค้า

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก (มกราคม 2565)
blog.adobe.com

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2