จากการเปิดเผยข้อมูลของมหาวิทยาลัย Politecnico di Milano ถึงธุรกิจฟู้ดเดลิเวอร์รี่ในอิตาลี ปี 2564 พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 59% เทียบกับปี 2563 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านยูโร โดยมีประชาชนที่เข้าไปใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่มีสัดส่วนถึง 68% โดยในปี 2565 คาดการณ์ว่า แนวโน้มของฟู้ดเดลิเวอร์รี่ในอิตาลีจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดกระแสการหันมาให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ง่ายเพิ่มขึ้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแทนการใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก นอกจากนี้ พบว่า การที่ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอร์รี่ที่กำลังได้รับความนิยมได้ส่งผลพวงให้เกิดธุรกิจร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้าน (Ghost/Dark Kitchen) หรือร้านอาหาร Virtual ที่เน้นให้บริการจัดส่งอาหารที่บ้านเท่านั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเจ้าของร้านอาหารที่ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนสถานที่และค่าแรงที่สูงขึ้น และการขาดแคลนพนักงาน รวมถึงเปิดโอกาสให้ร้านอาหารสามารถเช่าเฉพาะพื้นที่ในครัวที่อยู่กลางใจเมือง เพื่อความสะดวกและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างใกล้ชิด หรือการแบ่งใช้ห้องครัวร่วมกับร้านอาหารอื่น ๆ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

จากข้อมูลของ Just Eat แพลตฟอร์มให้บริการสั่งอาหารออนไลน์และบริการจัดส่งอาหารถึงบ้านที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ ในอิตาลี เปิดเผยถึงสถานการณ์การสั่งซื้ออาหารออนไลน์ การให้บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน กระแสความนิยม พฤติกรรมของผู้บริโภค และแนวโน้มการเติบโตของร้านอาหารในอิตาลี พบว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของชาวอิตาเลียนที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งได้ผลักดันให้เกิดกระแสการสั่งซื้ออาหารออนไลน์เพื่อรับประทานที่บ้านขยายตัวเพิ่มขึ้น 42% รวมถึงการที่ร้านอาหารต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจยังคงเดินหน้าต่อไปได้ จึงทำให้มีจำนวนร้านอาหารที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Just Eat Italy ขยายตัวเพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด–19 โดยปัจจุบันมีจำนวนร้านอาหารที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Just Eat Italy 24,000 ร้าน ตั้งอยู่ใน 1,300 เทศบาลทั่วอิตาลี ซึ่ง ครอบคลุมผู้บริโภคกว่า 66% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ Just Eat Italy ได้มีการจัดลำดับประเภทอาหาร/รายการอาหารที่ได้รับความนิยม กำลังมาแรง และมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคชาวอิตาเลียนที่ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ แบ่งเป็น

ประเภทอาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • อันดับ 1 พิซซ่า
  • อันดับ 2 แฮมเบอร์เกอร์
  • อันดับ 3 อาหารญี่ปุ่น
  • อันดับ 4 อาหารจีน
  • อันดับ 5 อาหารฮาวาย (Poke)

ประเภทอาหารที่กำลังมาแรง/มียอดจำหน่ายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • อันดับ 1 อาหารเลบานอน (+93%)
  • อันดับ 2 อาหารไทย (+61%)
  • อันดับ 3 สลัด (+50%)
  • อันดับ 4 อาหารท้องถิ่นอิตาเลียน (+43%)
  • อันดับ 5 อาหารเพื่อสุขภาพ (+32%)

รายการอาหารที่กำลังอยู่ในความสนใจและมีแนวโน้มจำหน่ายเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่

  • อันดับ 1 ผัดไทย
  • อันดับ 2 เกี๊ยวซ่า
  • อันดับ 3 อาหาร Poke หน้าแซลมอน

โดยเมืองที่ผู้บริโภคนิยมใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือและตอนกลางของอิตาลี ได้แก่ มิลาน ตูริน โรม เจนัว โบโลญญา ฟลอเรนซ์ เวโรน่า และตรีเอสเต เป็นต้น โดยอาหารที่ได้รับความนิยมจากเมืองดังกล่าว ได้แก่ แฮมเบอร์เกอร์ อาหารญี่ปุ่น และอาหารจีน ในขณะที่ อาหารที่กำลังเป็นที่จับตามองและเป็นที่น่าสนใจของผู้บริโภคในเมืองต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นอาหารจากต่างประเทศ (Ethic Food) ได้แก่ 1) เมืองตูรินและฟลอเรนซ์ นิยมอาหารไทย 2) กรุงโรม นิยมอาหารเม็กซิกัน 3) เมืองมิลาน นิยมอาหารเปรู 4) เมืองคัลยารี และปาแลร์โม นิยมอาหารอินเดีย และ 5) เมืองโบโลญญา นิยมอาหารเลบานอน

ปัจจุบันพบว่า ผู้บริโภคในอิตาลีที่หันมาใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่บนแพลตฟอร์มของ Just Eat มีจำนวน 2 ล้านคน ซึ่งแบ่งเป็นผู้หญิง คิดเป็นสัดส่วน 49% และผู้ชาย คิดเป็นสัดส่วน 51% โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 35 – 55 ปี มีสัดส่วน 49% และอายุระหว่าง 18 – 34 ปี มีสัดส่วน 38% นอกจากนี้ พบว่า ผู้บริโภคในอิตาลีส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในตัวเมือง มีสัดส่วน 68% อาศัยอยู่บริเวณรอบนอกตัวเมือง มีสัดส่วน 21% และอาศัยอยู่เขตปริมณฑล มีสัดส่วน 11% โดยการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ส่วนใหญ่จะสั่งผ่านระบบแอพพลิเคชั่น มีสัดส่วน 82% และสั่งผ่านคอมพิวเตอร์ มีสัดส่วน 12% ซึ่งการสั่งฟู้ดเดลิเวอร์รี่รับประทานที่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นมื้ออาหารของสามี/ภรรยา มีสัดส่วน 46% มื้ออาหารของลูก/เด็ก มีสัดส่วน 27% และมื้ออาหารของสมาชิกในครอบครัว/เพื่อน มีสัดส่วน 22% ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ผู้บริโภคในอิตาลีเลือกใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ เพื่อความต้องการรับประทานอาหารที่เฉพาะเจาะจง มีสัดส่วน 27% ความต้องการผ่อนคลายหลังจากเลิกงาน มีสัดส่วน 19% และไม่ต้องการทำอาหาร มีสัดส่วน 15% นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่มีอิทธิพลที่ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ ได้แก่ ช่วงเวลาที่ดูโทรทัศน์ หนัง/ละครซีรีส์ มีสัดส่วน 29% ช่วงเวลาที่อยู่พร้อมกับเพื่อน/ครอบครัว มีสัดส่วน 20% และช่วงเวลาที่กลับจากที่ทำงาน มีสัดส่วน 17%

ความคิดเห็น

ถึงแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ แต่ก็มีเพียงไม่กี่ธุรกิจที่กลับเติบโตสวนทาง อย่างเช่นธุรกิจบริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ โดยก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อิตาลีถือเป็นประเทศที่ผู้บริโภคยังไม่ค่อยนิยมใช้บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่แพร่หลายอย่างเช่นปัจจุบัน การที่บริการฟู้ดเดลิเวอร์รี่ในอิตาลีเติบโตอย่างก้าวกระโดดส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงจำนวนร้านอาหารที่เปิดให้บริการมากขึ้นและนำเสนอเมนูหลากหลายที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคในอิตาลีเริ่มเปิดกว้างให้กับบริการดังกล่าว รวมถึงต้องการบริโภคอาหารจากหลายประเทศเพิ่มขึ้น เห็นได้จากรายการอาหารที่ได้รับความนิยมในอิตาลีส่วนใหญ่เป็นอาหารจากต่างประเทศรวมถึงอาหารไทย ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน มองว่า นี้คือโอกาสที่สำคัญสำหรับอาหารไทยและร้านอาหารไทยที่จะทำให้ผู้บริโภคในอิตาลีได้รู้จักอาหารไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน เชื่อว่า แนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารไทยในอิตาลีจะขยายตัวเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีจำนวนร้านอาหารไทยเปิดให้บริการในรูปแบบ Fine Dining/Take away เพิ่มขึ้นในช่วง 1 – 2 ปีนี้อย่างแน่นอน

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน (กุมภาพันธ์ 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2