รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอียิปต์เผยว่า ปัจจุบันมีผู้นำเข้า 27,000 ราย และบริษัทต่างชาติ 68,000 ราย ลงทะเบียนกับระบบ Single Window ที่เรียกว่า “Nafeza” ของรัฐบาลอียิปต์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ในลักษณะหน้าต่างเดียว เชื่อมโยงระหว่างผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ศุลกากรอียิปต์ โดยการรับส่งเอกสารทางการค้าผ่านระบบ blockchain ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 95 ของการนำเข้าและส่งออกของประเทศ

สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงการคลังของอียิปต์ ฉบับที่ 38/2021 กำหนดให้ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งลงทะเบียนข้อมูลสินค้าทุกรายการล่วงหน้าก่อนการนำเข้าภายใต้ระบบ ACI (Advance Cargo Information System) ผ่าน Nafeza Platform ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยสินค้าที่นำเข้าโดยทางเรือจากต่างประเทศจะต้องมีหมายเลข ACID number (Advance Cargo Information Declaration Number) ประกอบด้วยในทุก shipment มิเช่นนั้นจะถูกปฏิเสธเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางที่ประเทศอียิปต์ โดย วัตถุประสงค์ของการนำระบบดังกล่าวมาใช้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารทางการค้าที่จำเป็นทั้งหมดระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะหน้าต่างเดียวที่รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอียิปต์ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ที่จะพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)

ทางการอียิปต์คาดว่า ในระยะยาวระบบ Nafeza จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการรับรองเอกสาร และการจัดส่งเอกสารทางการค้าที่เป็นกระดาษ เพิ่มประสิทธิภาพในพิธีการด้านศุลกากร ช่วยลดระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้าและลดความแออัดของสินค้าที่จะตกค้างอยู่ที่ท่า รวมทั้งช่วยปรับปรุงระบบศุลกากรให้เป็นแบบอัตโนมัติมากขึ้น  ในอนาคตอันใกล้นี้ กระทรวงการคลังอียิปต์ยังจะทำการเชื่อมโยงระบบ ACI กับระบบธนาคารภายในประเทศด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกรรมทางการค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ครบวงจรมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการจ่ายชำระเงินระหว่างประเทศและช่วยลดการใช้เอกสารทางการค้าที่เป็นกระดาษลงได้ในอนาคต

ความคิดเห็น

รัฐบาลอียิปต์นำระบบ ACI มาใช้เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตามวิสัยทัศน์ 2030 ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนในการใช้ระบบดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการส่งออกได้อย่างราบรื่นและสามารถปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากสินค้าที่ส่งออกมาอียิปต์โดยทางเรือจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบ ACI ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป และมีหมายเลข ACID number กำกับในทุก shipment โดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะต้องติดต่อผู้นำเข้าเพื่อลงทะเบียนในระบบ ACI ผ่านเว็บไซต์ www.nafeza.gov.eg และเมื่อผู้นำเข้าได้รับหมายเลข ACID number จากศุลกากรอียิปต์แล้วจะต้องแจ้งต่อผู้ส่งออกเพื่อระบุในเอกสารทางการค้าและจัดส่งผ่านระบบ blockchain  เพื่อใช้ประกอบพิธีการศุลกากรในการตรวจปล่อยสินค้าเมื่อเรือมาถึงท่าปลายทาง

อย่างไรก็ดี ในช่วงเริ่มต้นของการนำระบบดังกล่าวมาใช้ ผู้ประกอบการยังจำเป็นจะต้องจัดส่งเอกสารทางการค้าที่เป็นกระดาษควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียกเก็บและชำระเงินค่าสินค้า ซึ่งยังจำเป็นจะต้องอ้างอิงเอกสารทางการค้าที่เป็นกระดาษผ่านระบบสถาบันการเงิน/ธนาคาร ทั้งนี้ หากในอนาคต สถาบันการเงินและธนาคารของอียิปต์เข้ามามีส่วนร่วมภายใต้ระบบ ACI ด้วยแล้ว ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงจรการค้าได้อย่างครบถ้วนมากขึ้นและไม่จำเป็นจะต้องใช้เอกสารทางการค้าที่เป็นกระดาษควบคู่กันอีกต่อไป

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร มีข้อสังเกตว่า ภายหลังจากการเริ่มต้นใช้งานระบบ ACI ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ที่ส่งออกสินค้ามาอียิปต์ได้เริ่มลงทะเบียนและจัดส่งเอกสารทางการค้าผ่านระบบ blockchain ในรูปแบบแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้ด้วยดี สำหรับรายที่ติดขัดปัญหา สำนักงานฯ ได้ช่วยเหลือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบดังกล่าว รวมทั้งช่วยประสานงานกับผู้นำเข้าและศุลกากรอียิปต์เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาให้อีกทางหนึ่ง  ทั้งนี้ สคต. จะได้จัดการสัมมนาเกี่ยวกับระบบ ACI ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับทราบข้อคิดเห็นและปัญหาอุปสรรคต่างๆ ภายหลังจากที่ผู้ประกอบการได้เริ่มใช้งานระบบดังกล่าวแล้ว เพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการส่งออกของไทยต่อไป

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร (มกราคม 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2