วิกฤติการณ์ขาดแคลน “ชิป” ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศเยอรมนีซบเซาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาห้าเดือนติดต่อกัน ตามรายงานวิจัยตลาดของสถาบัน ifo (Institute for Economic Research) ประจำนครมิวนิก เปิดเผยว่าจำนวนบริษัทในสายการผลิตรถยนต์ของเยอรมันมีจำนวนลดลงในช่วงปีที่มา และคาดว่าจำนวนซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องจะลดลงเรื่อย ๆ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาสถาบัน ifo ได้ออกมาชี้แจงว่าตัวชี้วัด (indicator) สำหรับอุตสาหกรรม    ยานยนต์โดยรวมเปรียบเทียบในเดือนธันวาคม 2564 ลดลงมาอยู่ที่ -1.0 จุด จากเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ +7.9 จุด โดยตัวชี้วัดสภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนธันวาคมได้ลดลงมาอยู่ที่ 15.6 จุด จาก 36.5 จุดในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ นาย Oliver Falck ผู้อำนวยการสถาบันฯ ให้ความเห็นว่าสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงนี้ถูกกระตุ้นโดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เอง มิใช่บริษัทซัพพลายเออร์

เนื่องจากปัญหาชิปขาดแคลนในตลาดส่งผลให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์ของเยอรมนีลดลงเป็นประวัติการณ์ จากข้อมูลสถิติการจดทะเบียนรถใหม่ในปี 2564 (2.62 ล้านคัน) ลดลงร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้า โดยในเดือนธันวาคมมีรถยนต์ลงทะเบียนใหม่เพียง 228,000 คัน ลดลงร้อยละ 27 ซึ่งถือว่ายังไม่เลวร้ายเท่ากับเดือนพฤศจิกายนที่ลดลงถึงร้อยละ 32

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงคาดหวังให้อุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง และมองว่าสถานการณ์ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมามิได้เลวร้ายมากนัก โดยให้เหตุผลว่าการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่จำนวนมากเป็นพิเศษเมื่อปีก่อนหน้านั้น เป็นผลมาจากการลดภาษีมูลค่าเพิ่มในปี 2563 ทั้งนี้ ด้วยปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนและการขนส่ง เป็นการยากที่จะคาดการณ์แนวโน้มอนาคต ในการนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความเห็นว่า แม้ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้ายังคงสูงขึ้น จากการสนับสนุนของรัฐบาล แต่อุตสาหกรรมยานยนต์คงไม่ผ่อนคลายความตึงเครียดในเร็ววัน อย่างไรก็ตาม จากยอดสั่งซื้อคงค้างในปีก่อนหน้า คาดว่าจะมีรถยนต์จดทะเบียนใหม่ในปี 2565 มากกว่าปีที่ผ่านมา

ทางด้านสมาคมผู้นำเข้าเยอรมัน (VDIK) คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีรถยนต์จดทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 หรือประมาณ 3 ล้านคัน ส่วนสมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี (VDA) ยังไม่มีแผนที่จะแถลงการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมประจำปีจนถึงกลางเดือนมกราคม

ทั้งนี้ สถาบัน Ifo ชี้แจงว่าผู้ผลิตทั้งหมดจะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาการจัดหาวัตถุดิบต่อไป ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่บริษัทผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง สำหรับการค้าระหว่างประเทศ ตัวชี้วัดคาดการณ์การส่งออกลดลงอยู่ที่ 28.1 จุด จาก 51.1 จุดในเดือนพฤศจิกายน และตัวชี้วัดคาดการณ์อุตสาหกรรมลดลงจาก 42.7 จุด อยู่ที่ 18.2 จุด

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันฯ ชี้แจงว่าสภาพซบเซาในกลุ่มผู้ผลิตย่อมส่งผลต่อกลุ่มซัพพลายเออร์โดยตรง แม้ว่าตัวชี้วัดสภาพธุรกิจของกลุ่มซัพพลายเออร์จะเพิ่มขึ้นจาก -21.7 เป็น -13.6 ในเดือนธันวาคม แต่ก็ยังถือว่าติดลบ โดยความคาดหวังทางธุรกิจของกลุ่มซัพพลายเออร์นั้น ยิ่งดูจะย่ำแย่มากกว่าสองปีที่ผ่านมา อีกทั้ง บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยังประกาศแผนขยายฐานการผลิตไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลให้บรรยากาศในกลุ่มบริษัทซัพพลายเออร์ขนาดกลางภายในประเทศที่พึ่งพาบริษัทผู้ผลิตเป็นหลักยิ่งดูซบเซาลง

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต (มกราคม 2565)
Handelsblatt Ifo (Institute for Economic Research)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2