การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในช่วงปลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยลดการซื้อสินค้ากลุ่มบริการลงและหันไปเลือกซื้อสินค้าที่สามารถจับต้องได้มากขึ้น ซึ่งแนวโน้มการแพร่ระบาดที่ลดลงในปัจจุบันทำให้ผู้เชี่ยวชาญในตลาดเชื่อว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันจะหันไปเลือกซื้อสินค้ากลุ่มบริการมากขึ้นในอนาคต

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันไม่สามารถออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เดินทางท่องเที่ยว และดำเนินกิจกรรมในชีวิตได้ตามปกติ อีกทั้ง ยังมีเงินเหลือใช้มากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผู้บริโภคชาวอเมริกันจึงเลือกใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์เช่น สินค้าเฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ใช้จ่ายเพื่อซื้อกลุ่มสินค้าไม่คงทน (Nondurable Goods) เช่น อาหาร และเสื้อผ้า และกลุ่มสินค้าคงทน (Durable Goods) เช่น รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36 ของมูลค่าการใช้จ่ายส่วนบุคคลทั้งหมดในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด

Mr. James Kinightley ตำแหน่ง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ บริษัท ING กล่าวว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกิดภาวการณ์ชะลอตัวด้านการค้าปลีก เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับการซื้อสินค้าที่ขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเลือกซื้อสินค้ากลุ่มบริการได้อย่างเต็มที่ด้วย

Mr. Robert Frick ตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์องค์กร Navy Federal Credit Union กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มบริการจะขยายเพิ่มขึ้นหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้น ในลักษณะเดียวกันกับช่วงกลางปีที่ผ่านมาที่กลุ่มสินค้าบริการได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูง เนื่องจากการแจกจ่ายวัคซีนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศลดลง ผู้บริโภคชาวอเมริกันสามารถดำเนินชีวิตได้เกือบจะเป็นปกติ และสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านที่เคยถูกจำกัดในช่วงที่ผ่านมาได้ เช่น การจัดกิจกรรมสันทนาการ การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน และการเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น

โดยในช่วงที่ผ่านมา การแพร่ระบาดผลักดันให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีความต้องการบริโภคสินค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดปรับตัวสูงขึ้น และก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี โดยล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Labor Department) รายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในประเทศประจำเดือนมกราคม 2565 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 7.5 โดยราคาสินค้ากลุ่มโภคภัณฑ์ซึ่งรวมกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และรถยนต์ในตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 11.7 ส่วนกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ราคากลุ่มสินค้าบริการ ซึ่งค่าบริการเครื่องบิน และค่าโรงแรมที่พักเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.1 ในช่วงเดียวกันเท่านั้น

แม้ว่าการแพร่ระบาดที่รุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในช่วงต้นปีจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาคประชาชน รวมถึงการจ้างงานในสหรัฐฯ แต่ก็ดูเหมือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นมากแล้ว โดยสหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งได้ประกาศยกเลิกคำสั่งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ไม่จำเป็นแล้ว ซึ่งรวมถึงการบังคับสวมหน้ากากอนามัยและแสดงบัตรรับรองการฉีดวัคซีนเมื่อเข้ารับบริการตามร้านอาหารด้วย ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะหันไปเลือกซื้อสินค้ากลุ่มบริการ เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน การออกไปชมการแสดง และการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

บริษัท Kastle Systems รายงานข้อมูลสถิติการซื้อสินค้าบริการของชาวอเมริกันในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า ชาวอเมริกันเริ่มกลับไปใช้บริการโรงภาพยนตร์มากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 58 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด ส่วนร้านอาหารคิดเป็นร้อยละ 75 การเดินทางทางอากาศคิดเป็นร้อยละ 80 และการชมการแข่งขันกีฬาคิดเป็นร้อยละ 93 ตามลำดับ โดยสายการบิน Delta คาดว่า ชาวอเมริกันจะเริ่มหันมาจองตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ช่วงเทศกาล President Day ซึ่งเป็นวันหยุดยาว และจะขยายตัวต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งจะส่วนช่วยให้ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาด้วย

นอกจากอัตราเงินเฟ้อในตลาดที่ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจนอาจจะเป็นอุปสรรคในเลือกซื้อสินค้าแล้ว ความอิ่มตัวจากการบริโภคเกินความต้องการ (Overconsumption) ของผู้บริโภคชาวอเมริกันในช่วงที่ผ่านมาอาจจะส่งผลทำให้ชาวอเมริกันชะลอการซื้อสินค้าลงด้วย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก รายงานว่า สัดส่วนผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ลดลงเหลือร้อยละ 58 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าขนาดใหญ่ลดลงในอีก 4 เดือนข้างหน้าด้วย บทวิเคราะห์: แนวโน้มการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 สายพันธุ์โอมิครอนในสหรัฐฯ ที่เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงจนรัฐบาลท้องถิ่นเริ่มประกาศยกเลิกการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดแล้ว ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมนอกบ้าน เช่น การออกไปรับประทานอาหาร การเดินทาง การชมภาพยนตร์และคอนเสิร์ต และการทำกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อภาครัฐมีนโยบายที่ผ่อนปรนจึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันหันไปเลือกซื้อสินค้าบริการเหล่านั้นมากขึ้นเพื่อทดแทนช่วงที่ผ่านมา

แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบริการร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ที่มีกระจายตัวอยู่แทบทุกรัฐในสหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มผู้ให้บริการโรงแรม ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบในการปรุงอาหารไทยเพิ่มมากขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิ เส้นก๋วยเตี๋ยว ซอสปรุงรส กะทิกระป๋อง เครื่องแกง และอาหารกระป๋อง
เป็นต้น รวมถึงกลุ่มสินค้าของใช้สำหรับกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการนวดสปาด้วย เช่น สบู่ ยาสระผม ครีมทาผิว เทียนหอม น้ำมันหอมระเหย สมุนไพรไทย และลูกประคบ เป็นต้น และจะขยายตัวต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันมักจะเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้สามารถเพิ่มยอดการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากไทยได้มากขึ้นในปีนี้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มสินค้าบริการ ประกอบกับสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อ และปัญหาด้านการขนส่ง-ห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้ ยังส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ก่อสร้าง และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวสูงในปีที่ผ่านมา ทำให้มีสัดส่วนการส่งออกหดตัวลงเล็กน้อยในปีนี้ นอกจากนี้ มาตรการการผ่อนปรนด้านการควบคุมการแพร่ระบาดยังมีส่วนทำให้สหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าสินค้ากลุ่มวัสดุและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อลดลงด้วย โดยเฉพาะสินค้าหน้ากากอนามัย ความต้องการในตลาดสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงในปีนี้ตามแนวโน้มการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ที่ลดลงไปด้วย

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: แม้ว่าแนวโน้มความต้องการบริโภคสินค้าบริการของชาวอเมริกันที่เพิ่มสูงขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไทยบ้าง แต่โดยรวมคาดว่าไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงนัก เนื่องจากสถานการณ์ทั่วไปสหรัฐฯ ยังคงขาดแคลนสินค้าในตลาดหลายรายการ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ
ทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น สหรัฐฯ จึงจะยังคงมีความต้องการเพิ่มระดับอุปทานสินค้าในตลาดด้วยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ด้านอัตราเงินเฟ้อร่วมกับการดำเนินมาตรการทางการเงินอื่น ๆ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่จุดดุลยภาพในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นด้านคุณภาพสินค้าและต้นทุนการผลิตสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อรักษาตลาดส่งออกในสหรัฐฯ ที่มักจะให้ความสำคัญกับประเด็นด้านคุณภาพสินค้าและต้นทุนการผลิตสินค้าเป็นอันดับต้น ๆ อีกทั้ง หากผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลให้ความสำคัญต่อสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะช่วยให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อสินค้าไทยและสามารถรักษาตลาดในสหรัฐฯ ได้อย่างยั่งยืนด้วย

นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีแนวโน้มเลือกรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้นในปัจจุบันยังจะเป็นโอกาสเหมาะสมสำหรับการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลอาหารไทยและร้านอาหารไทยผ่านโครงการ Thai SELECT ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันรวมถึงการจัดดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์สินค้าวัตถุดิบการปรุงอาหารไทยร่วมกับผู้ประกอบการ Food Services ที่มีศักยภาพในพื้นที่เพื่อต่อยอดไปสู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าวัตถุดิบการปรุงอาหารไทยในตลาดในอนาคต

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (กุมภาพันธ์ 2565)
หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2