ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าของเล่นสำหรับช่วงเทศกาลปลายปีที่กำลังจะมาถึง ทำให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าของเล่นในตลาดสหรัฐฯ บางรายตัดสินใจลดปริมาณการ นำเข้าสินค้าของเล่นบางรายการลง เช่น บริษัท The Basic Fun Toy สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ เมือง Boca Raton รัฐฟลอริดา ที่ตัดสินใจลดการนำเข้าสินค้ารถบรรทุกของเล่นรุ่น “Tonka Mighty Dump Truck” ของบริษัทซึ่งเป็นที่นิยมมากในตลาดลงเหลือเพียงสองในสามของปริมาณที่ต้องการนำเข้าเท่านั้น

โดยต้นทุนค่าขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมของเล่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมราวร้อยละ 7 ของราคาจำหน่ายสินค้าปลีกเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นราวร้อยละ 40 ของราคาจำหน่ายสินค้าปลีกในปีนี้ ที่ไม่รวมค่าขนส่งูสินค้าจากท่าเรือไปยังผู้ค้าปลีก ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดจำเป็นต้องแบกรับภาระต้นทูนสินค้าที่เพิ่มขึ้นบางส่วน เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในตลาด อีกทั้ง แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการบางรายต้องการที่จะนำเข้าสินค้าและยอมที่จะจ่ายค่าขนส่งในอัตราที่สูงขึ้นแต่การบริหารจัดการหาสายเดินเรือเพื่อขนส่งสินค้าจากประเทศผู้ผลิตต้นทางไปยังสหรัฐฯ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จนผู้ประกอบการบางรายถึงขั้นตัดสินใจเลือกใช้บริการขนส่งสินค้าผ่านทางเครื่องบินแทน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีสินค้าทันจำหน่ายก่อนวันคริสต์มาสซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาด ในขณะที่ผู้ประกอบการในตลาดบางรายที่ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทูนได้กลับเลือกที่จะชะลอการนำเข้าจนกว่าสถานการณ์ด้วนการขนส่งในตลาดโลกจะปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ สาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เริ่มต้นในประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าหลักของสหรัฐฯ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามกำหนด ซึ่งต่อมาเมื่อการแพร่ระบาดขยายตัวไปยังสหรัฐฯ ผู้ประกอบการในตลาดได้ตัดสินใจลดจำนวนคำสั่งซื้อลงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ดีขึ้น ผู้บริโภคในตลาดกลับมาบริโภคสินค้าเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตและบริษัทขนส่งไม่สามารถเพิ่มกำลังได้ตามความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลให้เกิดภาวะความไม่สมดุลในตลาด นอกจากนี้ ปัจจัยด้านความแออัดของเรือขนส่งสินค้าที่รอจอดเทียบท่าประกอบกับปัจจัยด้านการขาดแคลนแรงงานทำงานในอุตสาหกรรมเพื่อขนส่งถ่ายสินค้าในท่าเรือขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น ท่าเรือเมือง Long Beach รัฐแคลิฟอร์เนียยังส่งผลให้สถานการณ์ในตลาดทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย

Mr. Steve Pasierb ประธานกรรมการบริหารสมาคมของเล่นสหรัฐฯ (The Toy Association) กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมของเล่นสหรัฐฯ มีมูลค่าตลาดราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไตรมาสที่ 4 ของปีถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดสำหรับการค้าปลีกสินค้าของเล่นมักจะมียอดจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 70 ของยอดจำหน่ายสินค้าเฉลี่ยทั้งปี อีกทั้ง ยอดจำหน่ายสินค้าของเล่นยังคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 20 ของมูลค่าค้าปลีกในช่วงปลายปีด้วย ทั้งนี้ สินค้าของเล่นที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ เกือบร้อยละ 85 เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน

Mr. Marc Rosenberg ผู้เชี่ยวซาญอุตสาหกรรมของเล่นกล่าวว่า ปัจจัยด้านการขนส่งสินค้าส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ ผู้ประกอบการในตลาดบางรายถึงขั้นปฏิเสธที่จะรับสินค้าหากผู้ผลิตไม่สามารถจัดส่งสินค้าลงเรือขนส่งได้ทันก่อนกลางเดือนตุลาคม เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางเรือใช้เวลานานขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว ดังนั้น หากผู้ผลิตจัดส่งสินค้าให้ล่าช้าสินค้าอาจจะส่งถึงไม่ทันสำหรับจำหน่ายในช่วงเทศกาลปลายปี

ในขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าของเล่นในตลาดส่วนใหญ่จะกำลังประสบปัญหาด้านการนำเข้าสินค้าจากประเทศผู้ผลิตในประเทศเอเชีย แต่อุตสาหกรรมค้าปลีกสินค้าของเล่นในสหรัฐฯ กลับยังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากข้อมูลบริษัท NPD Group พบว่า ยอดจำหน่ายสินค้าของเล่นในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ในปีที่ผ่านมาและขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 40 ในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการการจำกัดการแพร่ระบาดที่ทำให้เด็กส่วนมากจำเป็นต้องหยุดอยู่บ้าน ดังนั้น ผู้ปกครองจึงหันไปเลือกซื้อของเล่นเพื่อคลายเหงาให้กับเด็กเวลาอยู่บ้านมากขึ้นอย่างไรก็ตาม แม้ว่านักวิเคราะห์จะคาดว่า ตลาดสินค้าของเล่นในสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ แต่ผู้ประกอบการหลายรายในตลาดกลับประกาศปรับลดพยากรณ์ยอดจำหน่ายของบริษัทลดลง เนื่องจากบริษัทไม่สามารถนำเข้าสินค้าได้ตามปริมาณที่ต้องการ อีกทั้ง ต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นยังทำให้ผู้ประกอบการบางรายตัดสินค้าใจระงับการนำเข้าสินค้าเป็นการชั่วคราวด้วย

ปัจจุบันต้นทุนราคาค่าขนส่งระหว่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์หรือสูงขึ้นกว่า 6 เท่าเมื่อเทียบกับค่าขนส่งสินค้าเมื่อปีที่แล้ว แม้ว่าผู้ประกอบการบางรายจะตัดสินใจผลักภาระบางส่วนไปให้ผู้บริโภคด้วยการปรับเพิ่มราคาสินค้าขึ้น แต่ผู้ประกอบการบางส่วนก็ระบุว่าไม่สามารถปรับราคาสินค้าเพิ่มได้มากกว่าร้อยละ 10 เนื่องจากเกรงว่าจะส่งกระทบต่อผู้บริโภคในตลาด

นอกจากนี้ ปัญหาในอุตสาหกรรมของเล่นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าของเล่นที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ประกอบการสินค้าของเล่นที่มีฐานการผลิตในประเทศด้วย ซึ่งปัจจุบันยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต โดย Mr. John Gessert ประธานบริษัท American Plastic Toys ซึ่งมีฐานการผลิตในรัฐมิชิแกนกล่าวว่า บริษัทมีแรงงนในสายการผลิตน้อยกว่าระดับที่ควรจะเป็นราวร้อยละ 35 – 40 ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์หันไปผลิตสินค้าที่ไม่ต้องอาศัยแรงงานฝีมือมาก (Less Labor-Intensive) แทน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะด้านการขนส่งอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ในตลาด เช่น ห้าง Walmart และห้าง Targets มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการ เหล่านี้มักจะสั่งซื้อสินค้าในปริมาณมากและสามารถเข้าถึงการใช้บริการเรือขนส่งสินค้าแบบเหมาลำ (Charter) ได้ อีกทั้ง ยังเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตในเอเชียด้วย

บทวิเคราะห์: ปัญหาด้านการขนส่งและระบบห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทุกกลุ่มสินค้า รวมถึงกลุ่มสินค้าของเล่นเด็ก ซึ่งถือเป็นสินค้าหลักสำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วงปลายปีที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันมักจะเลือกซื้อสินค้าเป็นของขวัญให้กับคนใกล้ชิดมากที่สุด โดยอุตสาหกรรมค้าปลีกสินค้าของเล่นในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 8.4 ในปี 2563 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่หดตัวลงในช่วงก่อนหน้านี้นับเนื่องจากผู้ปกครองที่ต้องดูแลบุตรหลานที่หยุดอยู่ที่บ้านต้องการเลือกซื้อ สินค้าของเล่น เพื่อสร้างกิจกรรมสนันทนาการและส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก อีกทั้ง ยังคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 6.1 เป็น 2.87 หมื่นล้านในปีนี้หากไม่มีปัจจัยร้ายแรงส่งผลกระทบ

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าของเล่นของสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าของเล่นเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 9.48 หันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 41.77 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ จีน (ร้อยละ 78.21) เวียดนาม (ร้อยละ 6.49) เม็กชิโก (ร้อยละ 4.95) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 2.39) และไต้หวัน (ร้อยละ 1.67) ตามลำดับ ในส่วนของการนำเข้าจากประเทศไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 75.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 0.80) เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 6 ของสหรัฐฯ ผู้นำเข้าหลักจากไทย ได้แก่ บริษัท Mattel Inc. บริษัท Target บริษัท Benamnx International Inc. บริษัท The Manhattan Toy Company และบริษัท Charlie Bears North America Inc. เป็นต้น

แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งและระบบห่วงโซ่อุปทานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในตลาดทั้งการลงนามคำสั่งผู้บริหาร (Executive Order) ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เพื่อตรวจสอบระบบห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์และการลงนามคำสั่งผู้บริหารเพื่อร่วมมือกับคณะกรรมาธิการด้านการเดินเรือ (The Federal Maritime Commission หรือ FMC) และ คณะกรรมการการขนส่งทางบก (The Surface Transportation Board หรือ STB) เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไข ปัญหาการควบรวมกิจการของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในตลาดและปัญหาค่าขนส่งสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่น่าจะสามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันใกล้ อีกทั้ง ปัจจัยด้านต้นทุนด้านพลังงานในตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานในตลาดและปัจจัยด้านฤดูกาลที่ฤดูหนาวกำลังจะมาถึงในสหรัฐฯ น่าจะมีส่วนทำให้สถานการณ์ด้านต้นทุนการขนส่งสินค้าโดยรวมยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2565

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ปัจจัยด้านการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานเป็นอุปสรรคสำคัญในตลาดการค้าระหว่างประเทศที่หลายฝ่ายต่างพยายามที่จะแก้ไข ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าที่ตลาดการค้าระหว่างประเทศจะกลับเข้าสู่สภาวะสมดุลในตลาดอีกครั้ง ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาวางแผนการจัดการสินค้าคงคลังโดยการขยายระยะเวลาการนำผลิต (Lead Time) และการสั่งซื้อวัตถุดิบ (Reordering Point) เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการผลิตสินค้าให้ทันต้องความต้องการและ เงื่อนไขของผู้นำเข้าในสหรัฐฯ นอกจากนี้ การเลือกใช้ท่าเรือเมืองรอง (Atternative Seaport มีปริมาณความแออัดของเรือจอดเทียบท่าน้อยกว่าท่าเรือหลักในเขตพื้นที่จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการการขนส่งสินค้าไปยังผู้นำเข้าปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ในระยะยาวผู้ผลิตไทยควรพิจารณาปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์โดยเน้นขนาดบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กประหยัดพื้นที่สำหรับการขนส่ง เพื่อให้สามารถขนส่งสินค้าต่อตู้คอนเทนเนอร์ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเฉลี่ยต่อชิ้นลง นอกจากนี้ หากเป็นกลุ่มสินค้าขนาดเล็กน้ำหนักเบามีมูลค่ามากการเลือกใช้การขนส่งสินค้าผ่านทางเครื่องบิน ซึ่งมีต้นทุนค่าขนส่งในระดับใกล้เคียงกับทางเรือ แต่ใช้ระยะเวลาขนส่งสั้นกว่าน่าจะสามารถช่วยให้สามารถบริหารจัดการขนส่งสินค้าไปถึงผู้นำเข้าได้ทันต่อการจำหน่ายในช่วงเทศกาลปลายปีนี้ได้

นอกจากนี้ การสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมของเล่นและเกมส์ไทยให้ยกระดับเป็นผู้ออกแบบและสร้างสร้างตัวละครและคาแรคเตอร์ใหม่ ๆ สำหรับเกมส์หรือการ์ตูนดิจิตอลเพื่อทำตลาดคอนเทนต์ในอนาคตน่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถลดการพึ่งพาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่น่าจะยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคตได้ด้วย

ที่มาข้อมูล: รายงานข่าวเด่นจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (ต.ค. 2564)
สำนักข่าว The Miami Times เรื่อง: “Toymakers Struggling to Ship Products for Holidays”

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2