ในช่วงปี 2564 (ม.ค. – พ.ย.) การส่งออกของไทยมาอียิปต์มีมูลค่า 33,009.04 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป (ปลาทูน่ากระป๋อง) ชิ้นส่วน/ส่วนประกอบรถยนต์ผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งการส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในขณะที่ การค้ารวมระหว่างไทย-อียิปต์ ในปี 2563 มีมูลค่า 27,645.07 ล้านบาท ไทยส่งออก 27,224.85 ล้านบาท นำเข้า 420.22 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 26,804.63 ล้านบาท

แหล่งนำเข้าสำคัญของอียิปต์ในปี 2563 ได้แก่ จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด รองลงไป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 6.8) ซาอุดิอาระเบีย (ร้อยละ 6.4) เยอรมนี (ร้อยละ 5.9) ตุรกี (ร้อยละ 5) อิตาลี (ร้อยละ 4.4) รัสเซีย (ร้อยละ 4.2) ในส่วนของไทยอยู่อันดับที่ 22 ด้วยสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 1.3 จึงมีโอกาสที่จะขยายการส่งออกด้วยการสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และสร้างจุดขายที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของประเทศคู่แข่ง

ตลาดอียิปต์มีความน่าสนใจเนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ มีประชากรกว่า 100 ล้านคน และยังเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคแอฟริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง โดยมีมีคลองสุเอซเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 รัฐบาลอียิปต์มีรายได้จากค่าธรรมเนียมในการผ่านคลองสุเอซสูงถึง 5,202,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 166 ล้านล้านบาท อียิปต์ยังมีท่าเรือสำคัญที่ช่วยกระจายสินค้าไปยังจุดต่าง ๆ ของประเทศ ได้แก่ ท่าเรือเมืองอเล็กซานเดรีย ท่าเรือเมืองพอร์ตซาอิด และท่าเรือเมืองอิสมาเลีย  

นอกจากนี้ อียิปต์ยังได้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศ/กลุ่มประเทศต่าง ๆ อาทิ การเป็นสมาชิกตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ (COMESA) การเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรีภูมิภาคแอฟริกา (AfCFTA) การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศจอร์แดน ตูนิเซีย และโมร็อกโก (Agadir Free Trade Agreement) ความตกลงเขตการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางทั้ง 17 ประเทศ (Pan Arab Free Trade Agreement/ Greater Arab Free Trade Agreement: GAFTA) และความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (Egypt – EU Partnership Agreement) ความตกลงเขตการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา (Egypt-MERCOSUR Free Trade Agreement) และการจัดทำ Qualified Industrial Zones (QIZ) กับสหรัฐอเมริกา เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่งผลให้อียิปต์มีศักยภาพที่จะเป็นประตูการค้าไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ

อียิปต์ยังมีจุดเด่นในด้านการท่องเที่ยว แหล่งวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 5,000 ปี โดยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 10 ล้านคน/ปี (นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศในภูมิภาคยุโรป และรัสเซีย) ถึงแม้ในช่วงสถานกาณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง แต่อียิปต์สามารถฟื้นตัวและมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นบวก โดยคาดการณ์ว่าในปี 2565 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ร้อยละ 5.4 โดยภาคบริการจัดเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของอียิปต์ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของ GDP ครอบคลุมบริการค้าส่งค้าปลีก การขนส่ง การเงิน การสาธารณสุข และอสังหาริมทรัพย์ รองลงไป ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม ตามลำดับ

ตลาดอียิปต์จึงมีความน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยและเป็นโอกาสที่จะขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนโดยใช้จุดเด่นของอียิปต์ทั้งในด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ การเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านคลองสุเอซและความตกลงการค้าเสรีที่ได้จัดทำและมีผลบังคับใช้แล้ว  ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2565 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-อียิปต์ จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท โดยสินค้าไทยได้รับการตอบรับทีดีในตลาดอียิปต์เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า จึงเป็นแรงเสริมที่ดีที่จะช่วยสร้างอุปสงค์และความต้องการซื้อของผู้บริโภคให้ขยายตัวมากขึ้น

ความคิดเห็น

สคต. ณ กรุงไคโร ประเมินว่าการค้าระหว่างไทย-อียิปต์ ในปี 2565 จะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และอัตราการขยายตัวของการส่งออกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 โดยกลุ่มสินค้าศักยภาพของไทยจะยังคงมีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่องทั้งในกลุ่มสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อุปกรณ์รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์ไม้ โดยปัจจัยบวกที่จะช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางการค้า ได้แก่ ค่าเงินบาทที่ไม่แข็งค่ามากจนเกินไป นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาล และนโยบายในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าของรัฐบาลอียิปต์ในลักษณะหน้าต่างเดียว (Single Window) ที่ได้เริ่มใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564

นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ยังได้เร่งรัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของผู้บริโภคในประเทศ อาทิ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย (In-Store Promotion) ร่วมกับห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในอียิปต์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ข้าวไทย ภายใต้แคมเปญ “Think Rice, Think Thailand” การประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการไทยผ่านช่องทางสื่อออฟไลน์และออนไลน์ การส่งเสริมร้านอาหารไทยภายใต้โครงการ Thai Select และการจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ (Online Business Matching) ในหลายกลุ่มสินค้าที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อาทิ อาหารแปรรูป ผักผลไม้ ชิ้นส่วน/ส่วนประกอบรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เพื่อช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางตลาดของสินค้าไทย

ในด้านปัจจัยท้าทายที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2565 ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-19โอมิครอน ซึ่งทำให้หลายประเทศต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด รวมไปถึงการ lockdown ในบางประเทศ สถานการณ์ของค่าขนส่งและโลจิสติกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตในหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมและรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

สำหรับกลยุทธ์สำคัญในการขยายตลาดของผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษาตลาด รสนิยมและพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อให้สินค้าและบริการตอบสนองตรงตามความต้องการ เช่น ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 90 ของประชากรอียิปต์เป็นชาวมุสลิม การส่งออกสินค้า/บริการจึงต้องคำนึงถึงความเชื่อและหลักปฏิบัติทางศาสนาควบคู่ไปด้วย การพบปะและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่มีเครือข่ายในพื้นที่จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและต่อยอดทางธุรกิจได้มากขึ้น รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือในการผลิต เช่น การส่งออกสินค้าในลักษณะกึ่งสำเร็จรูป (semi-finished products) แล้วนำมาผลิตต่อในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดภาระในด้านภาษีนำเข้าลงได้มากกว่าการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป และสามารถใช้อียิปต์เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นภายในภูมิภาคได้อีกด้วย

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร (ธันวาคม 2564)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2