ธนาคารแห่งชาติแคนาดา (Bank of Canada) ได้ออกมาให้ความเห็นว่า สายพันธุ์โอมิครอนน่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจแคนาดาในระยะสั้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลถึงจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อระบบสาธาณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้ แต่ปัญหาระยะกลางและยาว ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจแคนาดาอย่างมากในปี 2565 ได้แก่ ปัญหาภาวะเงินเฟ้อและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ก่อตัวทวีความรุนแรงมากขึ้น

ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในแคนาดาภาครัฐได้เรียนรู้กับการรับมือของการแพร่ระบาดมาแล้วถึง 4 ระลอก ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อในรอบใหม่นี้ได้มีสัญญาณว่ามีสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยหนักน้อยกว่าในอดีตที่ผ่านมา ภาครัฐได้ประกาศเพิ่มมาตรการ Social Distancing ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งเสริมให้คนกลับมาทำงานจากบ้านเพิ่มขึ้น แนะนำให้ยกเลิกการเดินทางที่จำเป็น (Non-Essential Travel)

ภาครัฐเกือบทุกภาคส่วนในทุกวันนี้ ได้มีภารกิจหลักในการควบคุม ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น โดยรัฐออนแทริโอ (เมืองโทรอนโต) ได้เร่งการฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่มีอายุ 12 – 18 ปี ให้ครบ 2 โดสและส่งเสริมให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 รวมถึงการจำกัด Capacity ของร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โรงยิม และสนามกีฬา ในขณะนี้รัฐควิเบค (เมืองมอนทรีออล) ซึ่งเป็นรัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากสายพันธุ์โอมิครอนสูง คาดว่าจะประกาศใช้มาตรการ Curfew ที่ห้ามผู้คนออกจากบ้านพักอาศัยในช่วง 21.00 น. – 5.00 น. นอกจากนี้ภาครัฐได้ประเมินว่าอาจต้องสั่งปิดร้านอาหารประเภท Dine-in หากจำนวนตัวเลขไม่ลดลงหลังช่วงเทศกาลปีใหม่นี้

ถึงแม้ว่า BOC ได้ประเมินว่าระบบเศรษฐกิจยังมีความยืดหยุ่นที่ยังคงสามารถรับมือการสายพันธุ์โอมิครอนได้ อัตราการฉีดวัคชีนในประเทศอยู่ในระดับสูง รวมถึงภาคเอกชนและผู้บริโภคได้มีการปรับตัวเข้าไปสู่ยุค Digital Economy มากขึ้น (ถึงแม้ว่าขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเร่งรีบและมีการสะดุดบ้างก็ตาม) รวมถึงภาครัฐได้เรียนรู้ Covid มีบทเรียนในอดีต รู้ที่ว่าจะรับมืออย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการระบาดของโอมิครอนกับไวรัสระลอกที่ผ่านมาคือ การระบาดรอบนี้ได้มาพร้อมกับสัญญาณเงินเฟ้อ ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 30 ปี ที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ระดับ 4.7% และยังคงมีทิศทางปรับสูงขึ้นอีก 3 – 6 เดือน

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำอาจช่วยชะลอปัญหาการขึ้นราคาสินค้า (ที่อาจช่วยลดปัญหาเงินเฟ้อในทางอ้อม) แต่ทุกวันนี้ราคาน้ำมันที่สูงเป็นปัจจัยหลักส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และราคาสินค้าส่วนใหญ่จะปรับไปทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน ในขณะที่การควบคุม Social Distancing และมาตรการทางสาธารณสุขได้ส่งผลให้โรงานส่วนใหญ่ในแคนาดา ต้องลดกำลังการผลิตหรือต้องมีการเปิด ๆ ปิด ๆ ที่ส่งผลต่อปัญหาการผลิตและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

หนึ่งในเหตุผลที่ผลักดันให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมานั้น มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ที่เริ่มเปิดประเทศกันมากขึ้น ดีมานต์สินค้าและบริการในเกือบทุกภาคส่วนได้ฟื้นตัว “แรงและเร็ว” กว่าด้านอุปทาน (Supply) ด้านการผลิต ซึ่งราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้สะท้อนถึงการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อาจต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลระหว่างอุปทาน-อุปสงค์ อาทิ เมื่อเปิดเมืองแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นหรือมีความต้องการซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ใช้ที่บ้านอีกต่อไป ซึ่งการปรับ “สมดุล” อาจต้องใช้เวลาอีก 6 – 12 เดือน

นักวิเคราะห์จากธนาคาร Royal Bank ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจแคนาดา (GDP) จะสามารถขยายตัวได้ 4.25% ในปี 2565 อัตราการจ้างงานในภาพรวมได้เข้ากลับไปสู่ช่วงก่อน Pre-Pandemic ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาแล้ว อัตราการว่างงานล่าสุดในเดือน พฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ระดับ 6.0% ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าอยู่ในระดับที่ดีแล้วเป็นระดับ Full Employment แรงงานค่าจ้างได้ปรับสูงขึ้น ที่นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจ

ความเห็น

แคนาดาเริ่มได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดสายพันธุ์ Omicron ที่จำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุดที่เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า เมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือน พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ที่มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 25,000 ราย/วัน ซึ่งแคนาดาได้ใช้มาตรการเข้มงวดมากขึ้นในการ Social Distancing อย่างเป็นขั้นระดับ เพื่อหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์เหมือนในครั้งที่ผ่าน ๆ มา โดยคาดว่าจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันที่ 4 มกราคม 2565 หลังจากเทศกาลหยุดปีใหม่ อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งชาติแคนาดา ได้มีมุมมองที่กังวลถึงปัญหาความท้าทายในปี 2565 ที่มากไปกว่าปัญหาสายพันธุ์โอมิครอมโดยมองไปถึงปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และสายพันธุ์โอมิครอนได้ซ้ำเติมปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ที่ธนาคารแห่งชาติอาจต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่กำหนดภายในต้นปีหน้า หลังจากโอมิครอนคลี่คลาย เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวจากภาวะเงินเฟ้อ ที่จะส่งผลลบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปีหน้า ที่ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดถึงความผันผวนของค่าขนส่ง ต้นทุนวัตถุดิบ และผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต (ธันวาคม 2564)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2