
บริษัท Levi ผู้ผลิตและจําหน่ายสินค้าแฟชั่นเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ในสหรัฐฯ ผู้เป็นเจ้าของกางเกงยีนส์แบรนด์ Levi ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ได้เริ่มปรับกลยุทธ์กิจการบริษัทไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์กางเกงยีนส์แนวรักษ์โลกหลายรุ่นเพื่อทำตลาดในสหรัฐฯ
โดยเปิดตัวกางเกงยีนส์รุ่น 501 Plant-based 501 ที่ผลิตจากวัสดุจากพืช มีวัตถุดิบผ้าฝ้ายเกษตรอินทรีย์ได้รับการรับรองมาตรฐาน Organic Content Standard หรือ OCS ซึ่งเป็นการรับรองว่า ในกระบวนการผลิตวัสดุดังกล่าว ปราศจากการใช้สารฆ่าแมลง และใช้สีย้อมผ้าที่ทำจากพืชผลิต ส่วนแผ่นป้ายด้านหลังกางเกง (Patch) ทำจากวัสดุ MIRUM ซึ่งเป็นวัสดุชีวภาพปราศจากพลาสติก นอกจากนี้ ในส่วนของกระเป๋าด้านในกางเกงทำด้วยผ้าฝ้าย 100% พิมพ์ด้วยหมึกชีวภาพสีดำ ซึ่งผลิตจากเศษไม้ (Wood Waste) กางเกงยีนส์รุ่น Selvedge 501 ผลิตจากวัสดุผสม ทำจากพืชระหว่างใยกัญชงกับฝ้าย เนื่องจากกัญชงใช้น้ำในกระบวนการเพาะปลูกน้อยกว่าฝ้าย เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้บริโภคในตลาดภายใต้สายผลิตภัณฑ์ Wellthread ของบริษัทฯ และกางเกงยีนส์ รุ่น Circular 501 ที่ผลิตจากวัสดุฝ้ายเกษตรอินทรีย์ผสมกับเส้นใยฝ้าย นํากลับมาใช้ประเภท Circulose ที่มาจากเศษสิ่งทอ 100% ผ่านกระบวนการขจัดสีและสารเคมีปนเปื้อนออก สามารถช่วยลดปริมาณการใช้วัสดุจากธรรมชาติ และยังจะเป็นการประหยัดทรัพยากรทางธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำที่ใช้ในกระบวนการเพาะปลูกฝ้าย ช่วยลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่นและเครื่องนุ่งห่มเป็นที่สนใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริโภคในแทบทุกตลาดทั่วโลก อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่ภาวการณ์แพร่ระบาด ทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมากระแสสินค้าแฟชั่นรวดเร็ว (Fast Fashion) ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดขยะแฟชั่นมากขึ้น จนทำให้ในตลาดโดยเฉพาะกลุ่ม ของผู้บริโภครุ่นใหม่ เช่น กลุ่มประชากร Millennials และกลุ่มประชากร Generation Z ซึ่งมีแนวโน้มพฤติกรรมให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดการบริโภคสินค้าแฟชั่นรวดเร็วและหันไปเลือกบริโภคสินค้าแฟชั่นคุณภาพที่สามารถใช้ได้ในระยะยาวมากขึ้น
ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการศึกษาแนวโน้มความนิยมของผู้บริโภค ในตลาดเป้าหมายเพื่อนํามาปรับในกระบวนการออกแบบพัฒนาสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้วัสดุในการผลิตที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง ต้องระมัดระวังและให้ความสำคัญกับการแสวงหา แหล่งวัตถุดิบการผลิตจากแหล่งผลิตที่โปร่งใสตรวจสอบย้อนกลับได้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกรูย์ในมณฑลซินเจียงของจีน เพื่อจะช่วยลดโอกาส ที่จะเกิดอุปสรรคทางการค้าในอนาคต
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัยหรือคำถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารทางการค้าได้ที่ https://ditp-overseas.com
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก