เนื้อหาสาระข่าว การแพร่ระบาดของ COVID–19 สายพันธุ์โอมิครอนที่รุนแรงมากขึ้นในสหรัฐฯ ส่งผลทำให้ชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะลดการดำเนินกิจกรรมนอกบ้านลง และหันไปใช้จ่ายเงินเพื่อเลือกซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยแนวโน้มดังกล่าวอาจจะมีส่วนสำคัญส่งผลกระทบทำให้อัตราเงินเฟ้อในตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องได้ในอนาคต

Mr. Jack Kleinhenz ตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สมาพันธ์การค้าปลีกแห่งชาติ (National Retail Federation หรือ NRF) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 สายพันธุ์ใหม่อาจจะมีส่วนทำให้ผู้บริโภคในตลาดหันไปเลือกใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้ามากกว่าการบริการ และอาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจรวมถึงภาคธุรกิจในสหรัฐฯ ในระยะยาว

ทั้งนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในสหรัฐฯ จะไม่ได้มีอิทธิพลโดยตรงต่อความต้องการบริโภคของชาวอเมริกัน แต่การที่ชาวอเมริกันต้องอยู่อาศัยภายในที่พักอาศัยมากขึ้นอาจจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกซื้อสินค้าต่าง ๆ ทดแทนกลุ่มสินค้าบริการ เช่น การรับประทานอาหารตามร้านอาหาร และการออกไปดำเนินกิจกรรมภายนอกที่อาจจะมีข้อจำกัดในบางพื้นที่ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวน่าจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับอุตสาหกรรมการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นของการแพร่ระบาด และมีโอกาสทำให้อัตราเงินเฟ้อในตลาดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้

นอกจากนี้ Mr. Kleinhenz ยังกล่าวว่า การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละระลอกส่งผลกระทบให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม ระดับความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจในแต่ละครั้งกลับมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ และยังพบว่า การแพร่ระบาดในครั้งนี้ผู้บริโภคชาวอเมริกันส่วนมากยังคงมีความเชื่อมั่นในสถานการณ์และยังคงกล้าที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่อเนื่อง เพราะประชากรชาวอเมริกันส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนป้องกันครบโดสแล้ว อีกทั้ง ผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่ยังมีอาการไม่รุนแรงในผู้ป่วยบางรายแทบไม่มีอาการ จึงทำให้ผู้บริโภคในตลาดยังมีความเชื่อมั่นต่อภาวะทางเศรษฐกิจและยังคงใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในสหรัฐฯ โดยรวมยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากข้อมูลสถิติจำนวนผู้ติดเชื้อของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 รายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯ เกินกว่า 1 ล้านคนเป็นครั้งแรกซึ่งเป็นสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดเมื่อต้นปี 2563 โดยหากคิดเป็นอัตราจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย 7 วัน (Seven-Day Average) มีจำนวนทั้งสิ้น 553,000 ราย ซึ่งสูงมากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ถึงกว่าสองเท่า

โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดบางราย เช่น ห้างสรรพสินค้า Macy’s  แบรนด์ Starbucks แบรนด์ Apple แบรนด์ Nike และแบรนด์ Athleta ตัดสินใจปรับลดระยะเวลาการเปิดให้บริการลง เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อและเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้านจำนวนพนักงานที่ยังสามารถปฏิบัติงานได้ นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าปลีกบางรายตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราว เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดด้วย เช่น ห้างสรรพสินค้า Walmart ที่ประกาศปิดร้านในเขตที่มีการแพร่ระบาดสูงชั่วคราวทั้งสิ้น 60 แห่งทั่วสหรัฐฯ เพื่อทำความสะอาดสถานที่ให้ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ในขณะที่ร้านค้าปลีกบางรายได้ปรับรูปแบบการดำเนินกิจการ โดยหันไปเลือกให้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านและการบริการรับสินค้าหน้าร้านแทน

นอกจากนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดของ COVID–19 สายพันธุ์โอมิครอนจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเทศกาลปลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคในตลาดมักจะใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการเป็นมูลค่าสูง สมาพันธ์ เชื่อว่า มูลค่าการค้าปลีกในช่วงดังกล่าวจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยคาดว่า ยอดจำหน่ายปลีกในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2564 จะมีอัตราการขยายตัวระหว่างร้อยละ 8.5 – 10.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเป็นมูลค่าการค้าปลีกรวมทั้งสิ้น 8.43 – 8.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐฯ อีกทั้ง ยังมีความเป็นไปได้ที่ยอดจำหน่ายปลีกอาจจะขยายตัวไปถึงร้อยละ 11.5 ด้วย

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดดังกล่าวกลับส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจการบินและธุรกิจบริการร้านอาหารและร้านค้าปลีก โดยพบว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมาด้วยสภาพอากาศในสหรัฐฯ ที่แปรปรวนจากปรากฎการณ์ลานีญา (La Nina) ทำให้เกิดสภาพหนาวเย็นกว่าปกติซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบิน ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทำให้ขาดแคลนพนักงานต้อนรับ จนทำให้สายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินในสหรัฐฯ มากกว่า 1,000 เที่ยวในแต่ละวันซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบริการร้านอาหารและร้านค้าปลีกด้วย เนื่องจากมีพนักงานในอุตสาหกรรมบางส่วนติดเชื้อและจำเป็นต้องพักรักษาตัวทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานอยู่ก่อนแล้วทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องตัดสินใจปรับลดระยะเวลาการเปิดให้บริการเพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนแรงงานที่ยังสามารถทำงานได้ และหันไปให้บริการจำหน่ายสินค้าแบบนำกลับบ้านหรือแบบจัดส่งถึงบ้านแทน

บทวิเคราะห์: แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกันที่หันไปเลือกซื้อสินค้ามากขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID – 19 สายพันธุ์โอมิครอนอาจจะมีส่วนที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ระดับร้อยละ 6.8 ซึ่งสูงกว่าระดับอัตราเงินเฟ้อคาดหวังของเศรษฐกิจทั่วไปถึงกว่า 3 เท่า ดังนั้น หากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็วปัจจัยดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ (Bubble Economy) และนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดภายในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ เพื่อควบคุมระดับอัตราเงินเฟ้อให้เหมาะสมหลังจากที่สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับใกล้เคียงกับร้อยละ 0 มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 2563

ทั้งนี้ หากธนาคารกลางสหรัฐฯ พิจารณาดำเนินมาตรการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันชะลอการบริโภคสินค้าและบริการลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะต้องพึ่งพาอาศัยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยมีอิทธิพลสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ดังนั้น แนวโน้มดังกล่าวจึงอาจจะส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มอุปกรณ์ก่อสร้าง ของตกแต่งภายใน รวมถึงรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกศักยภาพของไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังอาจจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจบริการร้านอาหารไทยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นช่องทางการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยที่สำคัญช่องทางหนึ่ง ทั้งในแง่ของกำลังการซื้อที่หดตัวลงจากการงดออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านของผู้บริโภคชาวอเมริกัน รวมถึงการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมซึ่งเป็นปัญหาหลักสำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมบริการร้านอาหารไทยในตลาดปัจจุบันและส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและเครื่องปรุงอาหารไทยในตลาดและกระทบต่อยอดส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565 และน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อภาวะการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลาย

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดสภาวะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ค่อนข้างมีความอ่อนไหวมาก การเปลี่ยนแปลงด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในตลาด ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีคู่ค้าอยู่ในตลาดสหรัฐฯ จึงควรที่จะระมัดระวังและติดตามข่าวสารและสถานการณ์ในตลาดอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อปรับกลยุทธ์ในการดำเนินกิจการเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตลาด โดยเฉพาะปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่มีแนวโน้มจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ แม้ว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดจะทำให้มีความต้องการบริโภคลดลงไปบ้าง แต่หากพิจารณาจากภาวะการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนรถยนต์ในตลาดในปัจจุบัน ดังนั้น จึงคาดว่ากลุ่มสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยยังน่าจะมีโอกาสขยายตลาดส่งออกต่อเนื่องภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีแนวโน้มลดการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านลง จึงน่าจะยังเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกกลุ่มสินค้าสันทนาการภายในบ้าน เช่น ของเล่น เกมส์ และอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าสำหรับการป้องกันการติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง และชุดป้องกันการติดเชื้อ ในตลาดก็ยังขยายตัวต่อเนื่องและยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาด โดยสินค้าไทยถือว่ามีความได้เปรียบในแง่ของความเชื่อมั่นด้านคุณภาพสินค้าในกลุ่มผู้บริโภคอยู่แล้ว เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวในตลาดค่อนข้างสูงมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้ราคาค่าขนส่งสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอาจจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการส่งออกสินค้าไทย ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตและบริหารการจัดส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพก็น่าจะช่วยส่งเสริมให้สินค้าไทยสามารถรักษาตลาดในสหรัฐฯ ได้ อีกทั้ง สถานการณ์ด้านปัญหาในอุตสาหกรรมการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกปัจจุบันน่าจะอยู่ในระดับรุนแรงที่สุดแล้ว ซึ่งแนวโน้มของอุตสาหกรรมน่าจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่จุดดุลยภาพที่เหมาะสมได้ภายในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ด้วย

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (มกราคม 2565)
สำนักข่าว CNBC และ หนังสือพิมพ์ the Wall Street Journal

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2