รัฐบาลโดยธนาคารกลางแห่งไนจีเรีย (CBN) ได้ประกาศแนวทางการปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการออกใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-invoice) และการประเมินทางอิเล็กทอนิกส์ (e-evaluator) สำหรับธุรกิจการส่งออกและนำเข้าสินค้ามายังและออกนอกประเทศไนจีเรียเพื่อมาแทนที่ใบกำกับสินค้าฉบับพิมพ์สำหรับธุรกรรมการนำเข้าและส่งออก ทั้งนี้ ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าจะต้องใช้ใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องโดยธนาคารผู้ให้บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจาก CBN ซึ่งจะส่งใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับมานั้นไปยังระบบติดตามการค้า (Trade Monitoring System) เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565

วัตถุประสงค์สำคัญของการบังคับใช้ใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเพื่อการได้ข้อมูลที่ถูกต้องของมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสินค้ามายังและออกนอกประเทศไนจีเรียผ่านระบบติดตามการค้าที่ทำงานบนกลไกการตรวจสอบราคาทั่วโลกโดยอิงจากราคาเปรียบเทียบราคาตลาด ณ เวลาที่มีการซื้อขายสินค้าในเวลาที่ใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ครบถ้วนสมบูรณ์

สำหรับแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอันเป็นภาระหน้าที่ของผู้นำเข้าและผู้ส่งออก/ซัพพลายเออร์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

(1) การนำเข้าและการส่งออกสินค้าที่มีราคาต่อหน่วยมากกว่าร้อยละ 2.5 ของราคาตลาดดังกล่าวจะมีการตั้งข้อสอบถามและจะไม่อนุญาตให้กรอกแบบฟอร์มเกี่ยวกับการขออนุญาตส่งออกและนำเข้าสินค้า (แบบฟอร์ม M หรือแบบฟอร์ม NXP) แล้วแต่กรณี

(2) ผู้นำเข้า/ผู้ส่งออกสินค้าไปยังไนจีเรียจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าสัญญาซื้อ/ขายกับซัพพลายเออร์/ผู้ซื้อจากต่างประเทศระบุการปฏิบัติตามภาระหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎระเบียบนี้ และจะต้องส่งใบกำกับสินค้าของผู้จัดหา/ผู้ขายสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และใบกำกับสินค้านั้นได้รับการรับรองความถูกต้องโดยธนาคารผู้ให้บริการที่ได้รับแต่งตั้งฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารประกอบการชำระเงิน

(3) ผู้นำเข้า/ผู้ส่งออก/ซัพพลายเออร์ในการส่งออกและการนำเข้าสินค้ามายังและออกนอกประเทศไนจีเรียจะต้องลงทะเบียนในระบบพอร์ทัลอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารกลางไนจีเรียและของธนาคารผู้ให้บริการที่ได้รับแต่งตั้งฯ

(4) ธนาคารผู้ให้บริการที่ได้รับแต่งตั้งฯ จะต้องส่งรายงานการตรวจสอบและใบรับรองความถูกต้องที่เป็นดิจิทัลไปยังผู้นำเข้า/ ผู้ส่งออก/ซัพพลายเออร์หลังจากที่ได้ดำเนินการลงทะเบียนในระบบพอร์ทัลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะมีอายุหนึ่งปีนับจากวันที่ออกใบรับรองฯ เพื่อผู้นำเข้า/ผู้ส่งออก/ซัพพลายเออร์จะใช้ใบรับรองดิจิทัลนั้นในการลงนามในใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะยื่นต่อไป (5) ธนาคารผู้ให้บริการที่ได้รับแต่งตั้งฯ จะจัดส่งใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการรับรองความถูกต้องไปผู้นำเข้า/ผู้ส่งออก/ซัพพลายเออร์เพื่อการเจรจาการชำระเงิน ขณะเดียวกันธนาคารผู้ให้บริการที่ได้รับแต่งตั้งฯ จะส่งใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมไปยังระบบติดตามการค้าฯ ด้วย

(6) ใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งธนาคารผู้ให้บริการที่ได้รับการแต่งตั้งฯ รับรองความถูกต้องแล้ว เป็นเอกสารจำเป็นสำหรับการชำระค่าสินค้า และใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ฉบับพิมพ์ใดๆ จะแสดงรหัส QR เพื่ออนุญาตให้มีการตรวจสอบความถูกต้องทางออนไลน์

(7) มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสมัครสมาชิกโดยชำระรายปีเป็นจำนวนเงิน 350 เหรียญสหรัฐต่อการรับรองความถูกต้องของซัพพลายเออร์ผ่านระบบฯ

อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นที่ไม่ต้องดำเนินการยื่นใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎระเบียบนี้ ได้แก่

(1) ใบกำกับสินค้าแต่ละรายการทั้งหมดที่มีมูลค่าน้อยกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐ (หรือเทียบเท่าในสกุลเงินอื่น) ยกเว้นในกรณีที่ซัพพลายเออร์มีมูลค่าการแจ้งหนี้สะสมรายปีเท่ากับหรือสูงกว่า 500,000 เหรียญสหรัฐ (หรือเทียบเท่าในสกุลเงินอื่น) จะต้องดำเนินการส่งใบกำกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงมูลค่าของใบกำกับสินค้าแต่ละใบ

(2) ธุรกรรมการนำเข้าและส่งออกที่ดำเนินการโดยหน่วยงานรักษาความปลอดภัยทั้งหมดในประเทศ

(3) พัสดุสำหรับภารกิจทางการทูตและกงสุล รวมทั้ง พัสดุที่ส่งให้กับหน่วยงานระหว่างประเทศที่ขึ้นอยู่กับสหประชาชาติ

(4) การบริจาคโดยรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศให้กับมูลนิธิ องค์กรการกุศล และองค์กรด้านมนุษยธรรมที่เป็นที่ยอมรับ

วิเคราะห์ผลกระทบ

(1) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้นำเข้า/ผู้ส่งออก/ซัพพลายเออร์ในการส่งออกและการนำเข้าสินค้ามายังและออกนอกประเทศไนจีเรียที่มีมูลค่าตามใบกำกับสินค้าสะสมรายปีเท่ากับหรือสูงกว่า 500,000 เหรียญสหรัฐ โดยจะต้องเร่งปรับตัวและดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติให้ทันวันที่มีผลบังคับใช้ฯ

(2) หลายฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วยที่ให้เริ่มใช้บังคับ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งให้เวลาเพียง 10 วันหลังประกาศแนวทางปฏิบัติซึ่งกะทันหันและเวลาน้อยต่อการศึกษาทำความเข้าใจ อีกทั้ง นโยบายใหม่นี้อาจจะก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น ทำให้มีการบิดเบือนราคาสินค้าฯ การทำธุรกรรมการนำเข้าและส่งออกสินค้าล่าช้า และเกิดความแออัดที่ท่าเรือเนื่องจากความล่าช้าของการส่งออกและนำเข้าสินค้ามายังและออกนอกประเทศไนจีเรีย เป็นต้น

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

(1) ผู้ส่งออกสินค้าไทยไปยังคู่ค้า/ผู้นำเข้าที่ประเทศไนจีเรียและอาจเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามประกาศฯ อาจจะต้องติดต่อสอบถามคู่ค้าและตรวจสอบให้แน่ใจว่าสัญญาซื้อ/ขายได้ระบุการปฏิบัติตามภาระหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎระเบียบนี้เพื่อป้องกันปัญหาการชำระหนี้ค่าสินค้าที่อาจจะเกิดมีขึ้นได้

(2) ผู้ประกอบการไทยควรติดตามการเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎหมายของประเทศไนจีเรียอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากบ่อยครั้ง มีการปรับเปลี่ยนและกำหนดวันใช้บังคับค่อนข้างกระทันหันทำให้หน่วยงาน/ธุรกิจการค้าที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปไม่มีเวลามากพอที่จะทำความเข้าใจและทำความคุ้นเคยต่อแนวทางปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่นั้น

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา (มกราคม 2565)
https://www.proshareng.com/
https://www.nairametrics.com

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2