ความเป็นมา

กระแสนิยมบริโภคน้ำปลาร้าในประเทศไทยเริ่มเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้ผลิตทั้งธุรกิจขนาดยย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ได้เข้ามาลงสนาม ไม่ว่าจะเป็นศิลปินคนดัง สตาร์ตอัพ หรือ นักลงทุน ปัจจุบันมีจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 100 ยี่ห้อ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

กระแสความร้อนแรงของน้ำปลาร้า ส่วนหนึ่งยังมาจากพิมรี่พาย แม่ค้าออนไลน์คนดังซึ่ง สามารถขายน้ำปลาร้าได้เดือนละ 140 ล้านบาท ซึ่งขายทางออนไลน์ได้ 100 ล้านบาท และทางออฟไลน์ขายได้ 40 ล้านบาท

ซอสน้ำปลาร้าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ปรับกระบวนการผลิตและยกระดับน้ำปลาร้าสู่ระดับชาติและสู่สากล ความโด่งดังของน้ำปลาร้ามาถึงสหรัฐฯ คนไทยที่อาศัยในสหรัฐฯ บางรายได้ทดลองชิมอาหารที่ปรุงด้วยน้ำปลาร้ามีความพอใจกับรสชาติกลมกล่อม จึงได้ซื้อติดมือเมื่อเดินทางกลับมายังสหรัฐฯ และเริ่มมีการนำเข้าจำหน่ายเป็นครั้งคราว ซึ่งการบริโภคยังอยู่ในวงแคบเฉพาะคนไทย ประกอบกับปริมาณสินค้ายังมีจำกัด

โอกาสซอสน้ำปลาร้าไทยในสหรัฐฯ

กลุ่มผู้บริโภคเอเซียที่บริโภคหรือคุ้นเคยกับปลาร้า (Fermented Fish) ได้แก่ คนไทย ชาวลาว ชาวพม่า ชาวกัมพูชา ชาวม้ง ชาวเวียดนาม และ ชาวฟิลิปปินส์ และตามสถิติการสำรวจสำมโนประชากรสหรัฐฯ ประจำปี 2563 รายงานว่า มีประชากรชาวเอเซีย 6 กลุ่มข้างต้นที่อาศัยในสหรัฐฯ มีจำนวน 5.83  ล้านคน เป็นกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย แยกออกเป็น

  1. ฟิลิปปินส์ 2.9 ล้านคน
  2. เวียดนาม 1.8 ล้านคน
  3. Hmong 293,000 คน
  4. กัมพูชา 258,000 คน
  5. ไทย 205,000  คน
  6. ลาว 202,000  คน
  7. พม่า 169,000  คน

นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มผู้บริโภคเอเซีย 7 กลุ่มดังกล่าว เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับที่ใช้น้ำปลาในการปรุงรสชาติอาหารและซื้อน้ำปลาไทยไปปรุงอาอาหาร ซี่งน่าจะเป็นโอกาสในการนำเสนอน้ำปลาร้าควบคู่ไปกับน้ำปลา

ซอสน้ำปลาร้าจัดได้ว่าเป็นนวัตกรรมซ้อสชนิดใหม่ในตลาดสหรัฐฯ ไม่มีสินค้าที่ผลิตใน ท้องถิ่นที่ใกล้เคียงจำหน่ายหรือมาเป็นคู่แข่งขัน ส่วนในด้านคู่แข่งขันจากต่างประเทศ ดูเหมือนว่าจะมีสินค้าซ้อสน้ำปลาร้าที่ใกล้เคียงกับซ้อสน้ำปลาร้าไทยจำหน่ายในสหรัฐฯ คือ ซ้อสจากฟิลิปปินส์ (Balayan) และซ้อสจากเวียดนาม (Mam Nem)

การที่ปลาร้าได้รับการพัฒนาไปสู่ซอสน้ำปลาร้า เป็นการยกระดับสินค้าให้หลุดพ้นจากข้อครหาในเรื่องคุณภาพ อีกทั้งเป็นการแสดงให้เห็นว่า สินค้ามีศักยภาพที่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภควัยอื่นๆ ได้ เช่น เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนวัยทำงาน เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ในสหรัฐฯ มักจะชอบลองของใหม่ ซึ่งรวมไปถึงความสนใจต่อซ้อสปรุงรสอาหารชนิดใหม่ ๆ

ธุรกิจบริการอาหารหรือร้านอาหารเป็นอีกช่องทางสำคัญสำหรับการบริโภคซอสปรุงรสอาหาร ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 5,000 แห่ง จะเป็นช่องทางจัดจำหน่ายหลักของซ้อสน้ำปลาร้าของไทยในตลาดสหรัฐฯ

การนำเข้าซอสปรุงอาหารทำจากปลา

สหรัฐฯ นำเข้าซอสปรุงรสผลิตจากปลา เป็นมูลค่า 47.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.49 และซอสปรุงรสผลิตจากปลาที่นำเข้าประมาณร้อยละ 98 คือ สินค้าน้ำปลา ซึ่งมีแหล่งนำเข้าคือ ฮ่องกง ไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ และ ฟิลิปปินส์

ฮ่องกงเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับที่ 1 มีมูลค่า 18.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงไปจากปี 2563 ที่ผ่าน ร้อยละ 2.41 และมีสัดสัดส่วนตลาดร้อยละ 39.13

ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับที่ 2 มีมูลค่า 17.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.17 จากปี 2563 ที่ผ่าน และมีสัดสัดส่วนตลาดร้อยละ 36.04

เวียดนามเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับที่ 3 มีมูลค่า 7.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 31.65 และมีสัดสัดส่วนตลาดร้อยละ 15.28

อนึ่ง การนำเข้าซอสน้ำปลาร้าจะถูกนำเข้ามาภายใต้พิกัดศุลกากรเดียวกันกับสินค้าน้ำปลา หรือ HSC 2103.90.2000  ดังนั้น จึงไม่มีสถิตินำเข้าเฉพาะสินค้าซอสน้ำปลาร้า แต่ประมาณว่าปัจจุบัน มูลค่านำเข้ายังอยู่ในระดับต่ำ

การนำเข้าซอสปรุงรสที่ทำจากปลา

       การขยายตลาดซอสน้ำปลาร้าไปยังสหรัฐฯ

1. กฎระเบียบต้องไม่เป็นอุปสรรค:  สำนักงานUS Food & Drugs Administration (US FDA)  ไม่ยอมรับการรับรองของสำนักงานอาหารและยาของไทย (อย) สหรัฐฯ กำหนดว่า สินค้าอาหารที่นำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ จะต้องผลิตได้ตามมาตรฐานสินค้าที่ผลิตในประเทศ ดังนั้น สินค้าอาหารไทยที่จะนำเข้าไปจำหน่ายสหรัฐฯ จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องและตรงตามกับกฎระเบียบสินค้าอาหารของสหรัฐฯ กฎและระเบียบที่สำคัญต้องพึงปฏิบัติ ประกอบด้วย

(1)  US Food & Drugs Administration: FDA บังคับให้โรงงานผลิตสินค้าอาหารในต่างประเทศที่จะส่งสินค้าอาหารไปจำหน่ายในสหรัฐฯ จะต้องจดทะเบียนโรงงานกับ US FDA หรือ Food Facility Registration ดังนั้น หากผู้ลิตในต่างประเทศไม่ดำเนินการ สินค้าอาหารของโรงงานผู้ผลิตที่ส่งไปยังสหรัฐฯ จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า
(2)  สินค้าปลาหมักดองหรือปลาร้าเป็นสินค้าที่มีสหรัฐฯ มองว่ามีอัตราความปลอดภัยอยู่ในระดับต่ำ และจะถูกตรวจสอบในการนำเข้าอย่างเข้มงวด ซอสน้ำปลาร้าอาจจะถูกเข้าข่ายในเรื่องนี้ การผลิตได้มาตรฐาน GMP ยังไม่เพียงพอ อุตสาหกรรมการผลิตซอสน้ำปลาร้าของไทย จะต้องผลิตด้วยมาตรฐานสุขลักษณะที่สูงขึ้น จัดทำระบบการผลิตให้ตรงตามมาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Points) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ
(3)  ซอสน้ำปลาร้าที่บรรจุในภาชนะสูญญากาศซึ่งจะก่อให้เกิดกรด:  สำนักงาน US FDA บังคับให้สินค้าต้องจดทะเบียน Food Canning Establishment (FCE) และสินค้า Acidified  (มี pH 4.6 หรือต่ำกว่า) และสินค้า Low Acid  (มี pH มากก่า 4.6)
(4)  ฉลากสินค้า (Food Product Labeling) และ ฉลากโภชนการ (Nutritional Label) ที่สอดคล้องตามระเบียบ US FDA ได้วางไว้
(5)  การเติมส่วนผสมและสีอาหาร US FDA:  ปัจจุบัน US FDA ยังห้ามการเติมสาร CBD จากกัญชงและกัญชาลงไปในสินค้าอาหาร ถือว่าผิดกฎหมาย อีกทั้ง US FDA ยังมีบัญชีสีเติมอาหารต้องห้าม ซึ่งผู้ผลิตต้องศึกษาและเลี่ยง

2.  การส่งเสริมการตลาดและการสร้างแบรนด์

(1)  ช่องทางหนึ่งในการสร้างการรับรู้และให้รู้จักสินค้าได้รวดเร็ว คือ การใช้พ่อครัวไทยที่มีชื่อเสียง (Celebrity Chef) ในสหรัฐฯ มาให้การสนับสนุนในการใช้ซอสน้ำปลาร้า
(2)  การประชาสัมพันธ์ผ่าน Blog Thai Cuisine ในสหรัฐฯ, Facebook กลุ่มคนไทยในสหรัฐฯ เพื่อแนะนำสินค้าและชักจูงในการเพิ่มการบริโภค
(3)  การจัดทำเมนูปรุงด้วยซอสน้ำปลาร้า เพื่อใช้กับอาหารได้หลากหลายทุกระดับ ในวงกว้างขึ้นไม่เพียงเฉพาะใช้กับส้มตำ
(4)  จัดทำซอสน้ำปลาร้าซองเล็ก ๆ เพื่อการแจกฟรีให้เป็นของกำนัลผู้บริโภคเพื่อการทดลองนำในใช้การปรุงอาหาร และรู้จักสินค้า

3.  การติดต่อกลุ่มเป้าหมาย 

กลุ่มผู้นำเข้าอาหารเอเซียคือกลุ่มเป้าหมายหลักในการนำเสนอสินค้า ทั้งนี้ ได้แนบรายชื่อผู้นำเข้าในเขตอาณาดูแลของสำนักงานฯ ชิคาโก ในตอนท้ายรายงาน

ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ

1. ปัจจุบัน ขณะที่ตลาดซอสน้ำปลาร้าในสหรัฐฯ ยังไม่มีผู้นำอย่างชัดเจน คู่แข่งขันจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ยังมิได้มุ่งการส่งเสริมการขาย และสินค้าได้รับการบริโภคเฉพาะในกลุ่มเชื้อชาติ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการซอสน้ำปลาร้าไทยที่มีความพร้อมทั้งในตัวสินค้าและทุนทรัพย์ในการขยายตลาดมายังสหรัฐฯ เพื่อเป็นชิงความเป็นผู้นำตลาด
2. ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทยสินค้าซอสปรุงรสอาหารที่มีศักยภาพในการผลิตและการตลาดและปัจจุบันส่งสินค้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ  พิจารณาเพิ่มซอสน้ำปลาร้าเข้าไปในแบรนด์บริษัทฯ
3. ผู้ผลิตซอสน้ำปลาร้าแบรนด์เล็กอาจจะร่วมมือ/ร่วมทุนกับผู้ผลิต/ส่งออกอาหารเพื่อพัฒนาและวิจัย เพื่อการขยายตลาดไปต่างประเทศ
4. สปริงบอร์ดซอสน้ำปลาร้าหลากหลายการใช้การพัฒนาและยกระดับซอสปลาร้าให้เป็นซอสที่ร้านค้านำไปแบบวางบนโต๊ะเพื่อให้ลูกค้าใช้เติมหรือปรุงรส ในทำนองเดียวกันกับ ซอสศรีราชา น้ำปลา หรือ ซีอิ้วดำ
5. การแสดงชื่อสินค้าเป็นภาษาลาว พม่า เวียดนาม และ เขมร นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ เพื่อจะเป็นเครื่องสื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าซอสนี้คือน้ำปลาร้าตามภาษาชาติต่าง ๆ

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก (มีนาคม 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2