หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของโคลอมเบียได้แถลงตัวเลขการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 โดยมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ถึง 35 โครงการ ในกรุงโบโกตา เพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ การลงทุนดังกล่าวยังมีส่วนในการสร้างงานกว่า 11,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ กรุงโบโกตา ได้ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) และการจัดจ้างบริการทางธุรกิจต่าง ๆ (outsourcing) โดยบริษัทข้ามชาติด้าน IT ที่เข้าไปลงทุนในโคลอมเบีย อาทิ เม็กซิโก (บริษัท Softtek) สหรัฐอเมริกา (บริษัท Command Alkon, Optum และ Auxis) ฝรั่งเศส นอกจากนี้ ในส่วนของการลงทุนด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มีการลงทุนจาก เกาหลีใต้ (บริษัท Korea Re) บราซิล (บริษัท Espolaser)  เยอรมนี (บริษัท Beurer) และฝรั่งเศส (บริษัท Elis)

โคลอมเบียเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคง และน่าสนใจต่อการดึงดูดการลงทุน โดยในช่วงระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลโคลอมเบียได้มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายในการพัฒนาบรรยากาศการดำเนินธุรกิจในประเทศ และส่งผลให้มีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจากการจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจของธนาคารโลก ปี 2020 โคลอมเบียเป็นประเทศลำดับที่ 3 ของภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ รองจาก ชิลี และเม็กซิโก (ตามแผนภูมิที่ 1)

แผนภูมิที่ 1: การจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจของธนาคารโลก ปี 2020

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ และการชะลอตัวในภาคการผลิตของโคลอมเบีย อย่างไรก็ดี เงินลงทุนจากต่างประเทศเริ่มไหลเข้าประเทศในช่วงปี 2563 – 2564 และถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของโคลอมเบียในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 การส่งออกและนำเข้าสินค้าที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (แผนภูมิที่ 2) โดยในปี 2563 มูลค่าการค้ารวมประมาณ 97,873 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.74 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.55

แผนภูมิที่ 2: การค้าระหว่างประเทศของโคลอมเบียช่วงปี 2558 – 2564

ที่มา: The National Administrative Department of Statistics (Dane)

จากข้อมูลนิตยสาร fDi ในช่วงปี 2564 – 2565 ระบุว่ากรุงโบโกตาเป็นเมืองลำดับที่ 2 ในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่น่าสนใจที่สุดสำหรับการลงทุนในอนาคต รองจากเมืองเม็กซิโกซิตี้

5 อันดับแรกของเมืองแห่งอนาคตสำหรับการลงทุนในภูมิภาคลาตินอเมริกา ปี 2564-2565

Rank City Country
1 Mexico City Mexico
2 Bogota Colombia
3 Sao Paulo Brazil
4 Santiago Chile
5 Queretaro Mexico

ทั้งนี้ เงินลงทุนที่ไหลเข้าไปยังกรุงโบโกตา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44 ของเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศทั้งหมดที่โคลอมเบียได้รับ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวที่ผ่านโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชนจะช่วยให้โคลอมเบียสามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ รวมทั้ง การพัฒนาแหล่งพื้นที่พักอาศัย และการสร้างงาน นอกจากนี้ กรุงโบโกตา ยังได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 8 ของกลุ่มเมืองแห่งอนาคตในทวีปอเมริกา ระหว่างปี 2564 – 2565

10 อันดับแรกของเมืองในอนาคตสำหรับการลงทุนในภูมิภาคอเมริกา ปี 2564-2565

Rank City Country
1 New York US
2 Mississauga Canada
3 San José Costa Rica
4 Greater Montréal Canada
5 Savannah US
6 Atlanta US
7 Chicago US
8 Bogota Colombia
9 Tampa US
10 Raleigh US

ทั้งนี้ กรุงโบโกตา ถือเป็นเมืองที่เหมาะสมต่อการลงทุนพัฒนาธุรกิจในทุกสาขา โดยภาคธุรกิจที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศสูงที่สุด ได้แก่

บริการพื้นฐานด้านเทคโนโลยี
เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)
Outsourcing Industry (BPO)
Life Sciences
บริการสุขภาพ
ผลิตภัณฑ์ยา
เครื่องสำอาง
อุปกรณ์/เครื่องมือแพทย์
การผลิต
วัสดุก่อสร้าง
อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
อุตสาหกรรมการบิน
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
เทคโนโลยีด้านพลังงาน
โครงสร้างพื้นฐาน
โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเมือง
อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
Creative industries in Bogota
สาขาอื่น ๆ
เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)
พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาขาธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้น สามารถเข้าเว็บไซต์ https://en.investinbogota.org/investment-sectors ในส่วนของกระบวนการนำเข้าและส่งออก ทรัพย์สินทางปัญญา และข้อมูลที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าเว็บไซต์ https://en.investinbogota.org/how-to-invest

บทวิเคราะห์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

กรุงโบโกตา เป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 11 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศ นอกจากนี้ โคลอมเบียมีความโดดเด่นด้านความมั่นคงและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งนี้ องค์ประกอบอื่นที่ช่วยให้โคลอมเบียมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น อาทิ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์  ความสามารถด้านแรงงาน นโยบายที่ดึงดูดการลงทุน รวมทั้งการให้หลักประกันการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันระหว่างคนชาติและนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าวช่วยให้โคลอมเบียเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่หลากหลาย รัฐบาลโคลอมเบียได้รับการยอมรับว่ามีการบริหารจัดการระบบการให้บริการสุขภาพดีที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคลาตินอเมริกา และมีการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ (ยาและสาธารณสุข) จำนวนมาก ทำให้อุตสาหกรรมบริการสุขภาพมีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ นโยบายที่เปิดกว้างเพื่อรับการลงทุนจากต่างประเทศของโคลอมเบีย เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าสำหรับเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ขั้นกลางสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในโคลอมเบีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง และบริการสุขภาพ อันเนื่องจากการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองของภาครัฐ และโครงการด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ได้เริ่มดำเนินการในปี 2564 ซึ่งกําหนดแล้วเสร็จภายในปี 2578 อาทิ การสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงโบโกตาและในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญในสาขาที่โคลอมเบียต้องการ โดยเฉพาะบริการก่อสร้างและบริการสุขภาพ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกบริการ รวมถึง ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวของโคลอมเบีย อย่างไรก็ดี ประเด็นปัญหาวิกฤตห่วงโซ่อุปทานยังคงเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไทยอาจใช้ประกอบการตัดสินใจ ในการขยายฐานการผลิตหรือการลงทุนไปยังโคลอมเบีย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตและลดความเสี่ยงด้านการขนส่ง

นอกจากโอกาสของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างและบริการสุขภาพแล้ว สาขาอื่น ๆ ที่จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการนําเข้า-ส่งออก และการลงทุนในโคลอมเบีย ได้แก่ (1) พลังงานหมุนเวียน โดยรัฐบาลโคลอมเบียมีมาตรการจูงใจในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เช่น การลดหย่อนภาษีเงินร้อยละ 50 เป็นเวลา 15 ปี การยกเว้นภาษีอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มสําหรับการนําเข้าอุปกรณ์ผลิตพลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์ (2) ภาคอุตสาหกรรม โคลอมเบียเป็นศูนย์กลางการผลิต จําหน่ายและส่งออกผลิตภัณฑ์ภาคอุตสาหกรรมของภูมิภาคลาตินอเมริกา (3) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (4) การท่องเที่ยว โคลอมเบียมีมาตรการจูงใจสําหรับการลงทุนในการสร้างโรงแรมและโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว เช่น การเสนอเก็บภาษีเงินได้ในอัตราพิเศษร้อยละ 9 เป็นเวลา 20 ปี และ (5) อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรม สร้างสรรค์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก (มีนาคม 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2