อุตสาหกรรมน้ำแร่บรรจุขวดต้องกระเทือน หากครัวเรือนต่าง ๆ  หันมาซื้อเครื่องผลิตน้ำแร่ด้วยตัวเองมากขึ้น

หลังจากที่ใช้เวลาถึง 5 ปี ในการพัฒนาเครื่องผลิตน้ำแร่ส่วนบุคคล (Personalized) หรือใช้ในครัวเรือนขึ้น บริษัท Mitte Home ซึ่งเป็นธุรกิจ  Start  Up ที่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลินก็ได้เริ่มจำหน่ายเครื่องผลิตน้ำแร่ฯ โดยเจ้าเครื่องนี้สามารถฆ่าเชื้อโรคในน้ำ กรองอนุภาคของโลหะหนักและไมโครพลาสติกได้ โดยนำน้ำที่ได้นี้มาเติมแร่ธาตุจำพวกแมกนีเซียมและแคลเซียมลงไป ในขณะเดียวกันหากลูกค้าต้องการจะผสมโซดาลงไปในน้ำแร่นี้ก็สามารถทำได้

นาย Moritz Waldstein ผู้ก่อตั้งบริษัท Mitte Home ได้ออกมาเปิดเผยว่า “ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องผลิตน้ำแร่ที่สามารถเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ ด้วยการเดิมแร่ธาตุต่าง ๆ อาทิ สังกะสี เหล็ก หรือแม้แต่ CBD จากกัญชง” ซึ่งนาย Waldstein เห็นว่า “บริษัทฯ มีความพยายามพัฒนาระบบการผลิตน้ำดื่มให้เป็นแบบ Decentralized และ Personalized มากขึ้น และจริงแล้วเครื่องผลิตน้ำโซดาหรือเครื่องกรองน้ำต่าง ๆ นั้นเป็นเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว แต่ยังขาดการใส่นวัตกรรมลงไป ปัจจุบันราคาจำหน่ายเครื่องผลิตน้ำแร่ของบริษัทฯ มีราคาอยู่ที่ 349,99 ยูโร ซึ่งสามารถผลิตน้ำแบบ Personalized ได้ ในราคาลิตรละ 21 – 49 ยูโรเซ็นต์ และจากข้อมูลของ Climate Partner ได้แสดงให้เห็นว่า น้ำแร่ของบริษัทฯ มีค่า Co2 น้อยกว่าน้ำแร่ปกติถึง 24 เท่า และที่สำคัญลดการใช้พลาสติกได้มากกว่าการซื้อน้ำแร่บรรจุขวดในปกติ ได้ถึง 20 เท่า นอกจากนี้ จากข้อมูลของ Euromonitor มีการคาดการณ์ว่า ปัจจุบันมีการผลิตขวดน้ำพลาสติกมากถึง 500 พันล้านขวดต่อปี ซึ่งนับเป็นเรื่องที่แย่มากสำหรับสิ่งแวดล้อม โดยน้ำแร่บรรจุขวดพลาสติกเริ่มถูกจับตามองว่าสร้างปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผลิตขยะพลาสติกเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก หากมีการใช้น้ำแร่ที่ผลิตได้จากแหล่งในธรรมชาติ

โดยสมาคมบ่อน้ำแร่เยอรมนี (VDM – Verband Deutscher Mineralbrunnen) ออกมาเปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายของน้ำแร่ในเยอรมนี ปี 2020 ลดลง 5.1% อยู่ที่ 9.9 ล้านลิตรเท่านั้น โดยปัจจัยสำคัญมาจากการใช้มาตรการ Lockdown ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ร้านอาหารและสถานบริการต่าง ๆ  ต้องปิดทำการ ประกอบการปริมาณการบริโภคต่อคนปี 2020 ก็ลดลงจาก 140 ลิตร เหลือ 132 ลิตรต่อคนเท่านั้น ซึ่งกว่า 78% ของน้ำแร่ที่บริโภคในตลาด เป็นการบริโภคน้ำโซดา และจากปริมาณการบริโภคน้ำโซดาที่มีมากนี่เองจึงทำให้สินค้าจำพวกอุปกรณ์กรองน้ำหรือผลิตน้ำโซดา เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดน้ำแร่ธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ

บริษัท Sodastream ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Pepsico เจ้าพ่อแห่งวงการน้ำโซดาบรรจุขวดเริ่มต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งอย่างบริษัท Philips หรือ Brita ที่เป็นผู้นำด้านเครื่องกรองน้ำในบ้าน ในขณะเดียวกันบริษัท Nestle ผู้ผลิตน้ำแร่บรรจุขวดยี่ห้อ Vittel ก็กำลังเตรียมส่งระบบน้ำดื่มสำหรับ Canteen และ Office ออกมาแข่งขันด้วย โดยนักวิจัยตลาดคาดการณ์กันว่า ตลาดน้ำบรรจุขวดทั่วโลกมีมูลค่ารวมกันกว่า 300 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยบริษัทผลิตอุปกรณ์กรองน้ำหรือผลิตน้ำโซดานั้น ไม่เพียงจะเข้ามาทำลายธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nestle หรือ Danone (Vovic และ Evian) ที่เป็นผู้นำในด้านผลิตและจัดจำหน่ายน้ำแร่บรรจุขวดชื่อดังของฝรั่งเศส แต่ยังเข้ามาทำลายรูปแบบธุรกิจของแหล่งน้ำแร่จำนวน 200 บ่อของประเทศเยอรมนีอีกด้วย นาย Kral Tack ผู้บริหารหลัก VDM กล่าวว่า “เราต้องเตรียมรับมือกับคู่แข่งอย่างผู้ผลิตอุปกรณ์กรองน้ำหรือผลิตน้ำโซดาอย่างเต็มรูปแบบ” โดยที่ผ่านมา VDM ได้ออกมาฟ้องร้องบริษัทผลิตอุปกรณ์กรองน้ำฯ ที่โฆษณาว่า “น้ำที่ได้จากเครื่องผลิตน้ำแร่ผ่านการตรวจสอบดีที่สุดในโลก” หรือที่บอกว่า “ดีต่อสุขภาพ” เป็นต้น เพราะตามกฎ EU Health Claim แล้ว ผู้ผลิตน้ำแร่ไม่สามารถใช้ทั้ง 2 คำกล่าวนี้ได้ อย่างไรก็ดี บริษัท Danone หรือ Bitburger ได้เห็นศักยภาพในเทคโนโลยีดังกล่าว จึงได้เข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัท  Mitte Home เรียบร้อยแล้ว และจะร่วมผลักดันให้ Mitte ส่งสินค้าไปขายในตลาดสหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้ เพราะจากข้อมูลล่าสุดพบว่า กว่า 18 ล้านครัวเรือนของคนอเมริกัน ยังใช้น้ำจากท่อประปาตะกั่ว ที่มีการผสมคลอรีนจำนวนมากอยู่เลย ซึ่งเครื่องผลิตน้ำแร่ของ Mitte จะสามารถลดปริมาณสิ่งปนเปื้อนหรือสารเคมีที่มีอยู่ในน้ำประปาดังกล่าวได้ สำหรับช่วงแรกในการเข้าตลาด บริษัทฯ คาดว่าจะเป็นการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น และเน้นทำการตลาดในรูปแบบเดียวกันกับ Nespresso ที่เคยทำไว้

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (22 พฤศจิกายน 2564)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2