เมื่อถึงช่วงใกล้เทศกาลสิ้นปีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มักจะออกมาเปิดเผยผลการสำรวจและทิศทางแนวโน้มของตลาดอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ Mr. Louis Biscotti นักหนังสือพิมพ์และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในสหรัฐฯ ได้เปิดเผยแนวโน้มทิศทางตลาดอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของสหรัฐฯ สำหรับปี 2565 และในอนาคตผ่านนิตยสาร Forbes โดยสามารถสรุปได้ 5 แนวโน้มหลักที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

  1. เทคโนโลยีทันสมัยจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมอาหาร โดยคาดว่ากลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจะเลือกใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่น ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระบบการขนส่งผ่านโดรน ระบบปัญญาประดิษฐ์ ระบบร้านค้าปลีกอัจฉริยะ และระบบการเก็บข้อมูลลักษณะ Blockchain ในกิจการมากขึ้น ดังเช่นในปัจจุบันที่บริษัท Kroger ผู้ประกอบการจำหน่ายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในสหรัฐฯ ได้ตระหนักถึงแนวโน้มดังกล่าวและได้เริ่มพัฒนาระบบให้บริการอัจฉริยะร่วมกับบริษัท Ocado เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดในอนาคต
  2. สินค้าโปรตีนจากพืชและจากเซลล์จะยังคงขยายตัว แม้ว่ากระแสความนิยมสินค้ากลุ่มโปรตีนจากพืช (Planted- Based) และโปรตีนจากเซลล์ (Cell-Based) จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดจะยังคงมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืน (Sustainability) และให้การสนับสนุนกลุ่มกิจการที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และความโปร่งใสในการดำเนินกิจการ (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากผลการสำรวจตลาดโดยบริษัท IBM พบว่า ร้อยละ 80 ของผู้บริโภคชาวอเมริกันเชื่อว่า ปัจจัยด้านความยั่งยืนเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมาก โดยร้อยละ 60 ของชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าหากสามารถช่วยลดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมได้ อีกทั้ง ผลการสำรวจดังกล่าวยังพบว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญและติดตามรายการด้านสุขภาพมากขึ้น จากเดิมร้อยละ 49 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 64 ในปี 2564 ด้วย นอกจากนี้ ยังคาดว่า จะมีผู้ประกอบการสินค้าอาหารจากพืชและจากเซลล์เข้าตลาดมากขึ้นในอนาคต อีกทั้ง ยังจะมีสินค้าเทคโนโลยีจากพืชและจากเซลล์รายการใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นหลายรายการในตลาด เช่น สินค้าสเต็กโปรตีนจากพืชของบริษัท Redefine Meat และ บริษัท Juicy Marbles และสินค้าคุ๊กกี้จากเนื้อหนูเพาะจากเซลล์ (Lab-Grown) สำหรับแมว เป็นต้น
  3. สินค้ากลุ่มอาหารแช่แข็งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐฯ หันไปเลือกผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่ต้องการความสะดวกสบายและอรรถประโยชน์จากการบริโภค เช่น แบรนด์ Martha Stewart ที่เพิ่งจะเพิ่มสายผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารแช่แข็งประเภทปลอดสารกลูเตน เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคในตลาดมีทัศนคติต่อกลุ่มสินค้าอาหารแช่แข็งดีขึ้นจากเดิมที่มักจะมองว่าเป็นอาหารสำหรับคนมีรายได้น้อยและไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยคาดว่าจะทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการร้านอาหารจะเลือกบริโภคสินค้าอาหารแช่แข็งเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลสถิติโดย Statista พบว่า ยอดจำหน่ายพิซซ่าแช่แข็งสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 4.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 เป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 5.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 อีกทั้ง ตลาดค้าปลีกสินค้าพิซซ่าแช่แข็งสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 6.06 พันล้านในปี 2564 อีกด้วย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ประกอบการผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งในตลาดยังเริ่มที่จะหันไปเลือกใช้วัตถุดิบใหม่หรือผลิตสินค้าแช่แข็งประเภทใหม่ เช่น เนื้อโปรตีนจากพืช แป้งพิซซ่าจากถั่วชิกพี (Chick Pea Crust) และเครื่องดื่มสมู้ทตี้กึ่งสำเร็จรูป (Ready to Blend Smoothies) เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย
  4. ผู้บริโภคจะยังเลือกนั่งรับประทานอาหารนอกร้านและสั่งกลับบ้านต่อเนื่องผู้ประกอบธุรกิจบริการร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านจะเพิ่มขึ้น จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในภูมิภาค ทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ นิยมเลือกรับประทานอาหารนอกร้านหรือสั่งกลับบ้านมากขึ้น และจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดจะเริ่มดีขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมบริการส่งอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทำให้มีผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่าจะเกิดความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารร้านค้าปลีกและผู้ให้บริการส่งอาหารเพิ่มมากขึ้นด้วยในอนาคต นอกจากนี้ แนวโน้มดังกล่าวยังจะผลักดันให้กลุ่มผู้ให้บริการอาหารชั่วคราวแบบไม่มีหน้าร้าน (Ghost Kitchens) เพิ่มจำนวนมากขึ้นในตลาด ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดปัญหาด้านต้นทุนและการขาดแคลนแรงงานสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการร้านอาหารได้ในระยะสั้น  
  5. แนวโน้มการบริโภคสินค้าจากผู้ผลิตตรงสู่ผู้บริโภคขยายตัว การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
    โคโรนาที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดนิยมเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสั่งซื้อสินค้าแบบรับสินค้าที่บริเวณที่จอดรถ (Curbside Pickup) รวมถึงการสั่งซื้อสินค้าตรงจากผู้ผลิตผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้บริโภคชาวอเมริกันสูงถึงร้อยละ 73 เลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แนวโน้มดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยที่ไม่สามารถปรับตัวรองรับกับแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมค้าปลีกออนไลน์ได้ในอนาคต

บทวิเคราะห์: อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสหรัฐฯ เป็นอุตสาหกรรมสำคัญและมีสัดส่วนในตลาดค้าปลีกของสหรัฐฯ ราวร้อยละ 25 ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมดของสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 17.50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมย่อมส่ง
ผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในตลาด และส่งผลต่อมูลค่าตลาดในอนาคต ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมามีอิทธิพลต่อแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงต่อตลาดการค้าปลีกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในสหรัฐฯ และมีผลต่อผู้ผลิตในต่างประเทศด้วย เนื่องจากสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ที่นำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมูลค่าสูงในแต่ละปี และถือเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของไทย

โดยในระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าศักยภาพส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ อาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูป ข้าว ธัญพืช และอาหารแปรรูปอื่น ๆ เป็นต้น ดังนั้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในตลาดสหรัฐฯ จึงย่อมมีผลต่อทิศทางและแนวโน้มการขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทย อีกทั้ง ยังจะเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มสินค้าอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ของไทย เช่น สินค้าอาหารโปรตีนจากพืช อาหารและฟังก์ชั่น และอาหารแปรรูปแช่แข็งรายการอื่น ๆ ด้วย

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในภูมิภาคยังส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตและ

การบริการ ในตลาดใหม่ ๆ เพื่อชดเชยบางกิจกรรมที่ไม่สามารถทำได้ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด เช่น เทคโนโลยีการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และเทคโนโลยีการจัดส่งสินค้า และเทคโนโลยีอัจฉริยะอื่น ๆ ซึ่งเมื่อผู้บริโภคในตลาดเข้าถึงการบริการเทคโนโลยีบางส่วนก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมไปเกือบถาวร เช่น การใช้บริการเลือกซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ และการใช้บริการส่งสินค้า เป็นต้น

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ปัจจุบันการปรับตัวด้านเทคโนโลยีของผู้บริโภคในสหรัฐฯ เป็นแนวโน้มพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรปรับเปลี่ยนวิธีการเข้าตลาดแบบเดิมๆ เป็นการเจาะตลาดด้วยวิธีการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ เช่น amazon.com, saywee.com หรือผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้บริการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทาง www.thaitrade.com ซึ่งสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าจำนวนน้อย SOOK (Small Order, Ok) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในตลาดเป้าหมายได้สะดวกมากขึ้น โดยผู้บริโภคชาวอเมริกันความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืน รวมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ประเด็นด้านสังคม และประเด็นด้านความโปร่งใสในการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะประเด็นด้านการดูแลแรงงานและสวัสดิการแรงงาน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญและดำเนินกิจการให้สอดคล้องกับประเด็นดังกล่าวเพื่อรักษาตลาดและลดโอกาสที่จะเกิดการกีดกันทางการค้าของสินค้าไทยในอนาคต นอกจากนี้ควรยกระดับพัฒนาการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม โดยให้ความสำคัญกับสินค้านวัตกรรมที่อยู่ในกระแสเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาด เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารฟังก์ชั่น และอาหารโปรตีนจากพืช เป็นต้น จะมีส่วนช่วยให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและช่วยรักษาตลาดส่งออกสินค้าไทยได้ในอนาคต การเลือกใช้เทคโนโลยีทันสมัยในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้านอกจากจะสามารถช่วยลดต้นทุนและช่วยเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคในตลาดแล้ว ยังสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดของสินค้าไทยในช่วงที่เกิดปัญหาในระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลก อีกทั้ง การพิจารณาเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทยได้ ทั้งนี้ จากกระแสความนิยมในการเลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรงของผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบันจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยไทยให้สามารถสเจาะตลาดส่งออกสินค้าในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (ธันวาคม 2564)
นิตยสาร Forbes

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2