เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน สำนักงานสถิติแห่งชาติเซอร์เบียเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเซอร์เบียประจำไตรมาส 3/2564 ขยายตัว 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยที่ในไตรมาส 2/2564 GDP เซอร์เบียขยายตัว 13.7% ทั้งนี้ GDP เซอร์เบียปี 2563 หดตัว 1.1%

การขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้เป็นผลมาจากการเติบโตของมูลค่าเงินส่งกลับบ้านของแรงงานในต่างประเทศ (Remittances) และมูลค่าเพิ่มทางการค้าของภาคบริการ ได้แก่ อุตสาหกรรมการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ที่ 17%

มูลค่าเพิ่มทางการค้าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีอัตราการเติบโตสูง ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ขยายตัว 15.8% และกิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และทางเทคนิค (เช่น การออกแบบเฉพาะด้าน ธุรกิจให้คำปรึกษา การแปล รวมถึงกิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (เช่น การให้เช่าสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ สำนักงานจัดหางาน ธุรกิจนำเที่ยว รักษาความปลอดภัย ทำความสะอาด บริหารสำนักงาน ธุรกิจ MICE ฯลฯ) ขยายตัว 13.7% ในขณะที่มูลค่าเพิ่มทางการค้าของอุตสาหกรรมเกษตรกรรม การป่าไม้และการประมง หดตัวลง 4.8%

ด้านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของครัวเรือน (Household final consumption expenditure) สูงขึ้น 8.2% เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้นหลังเศรษฐกิจกลับมาเปิดอีกครั้ง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศคึกคักขึ้น ทว่าความท้าทายสำคัญ คืออัตราเงินเฟ้อ (Headline Inflation) ประจำเดือนตุลาคม 2564 อยู่ที่ 6.6% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งที่ 3% (±1.5%)

หน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคาร Erste สัญชาติออสเตรีย แถลงหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติเซอร์เบียว่า คาดการณ์ว่า GDP ปี 2564 ของเซอร์เบียจะเติบโตสูงถึง 7% ส่วนปี 2565 จะขยายตัว 4.5% โดยคาดการณ์จากตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ที่มีแนวโน้มสดใส นอกจากนี้ ยังคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลเซอร์เบียได้ประกาศขึ้นอัตราการประกันค่าแรงขั้นต่ำ 9.4% และเงินบำนาญ 5.5% อีกทั้งผู้ประกอบการธุรกิจต่างก็ขึ้นค่าแรงลูกจ้างในช่วง 7-8%

ในส่วนของธนาคารแห่งชาติเซอร์เบียได้ปรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2564 อยู่ในช่วง 6.5-7% จากที่เคยคาดการณ์ช่วงต้นปีที่ 6.5% ในขณะที่ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (EBRD) ได้ตีพิมพ์รายงานวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาค (Regional Economic Prospects) โดยสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเซอร์เบีย คือ โดยปรับคาดการณ์การขยายตัวของ GDP เซอร์เบียปี 2564 ขึ้นเป็น 6.5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ระดับ 6% ส่วนปี 2565 คาดการณ์ที่ระดับ 4.3%

ทั้งนี้ EBRD มองว่า ในอนาคตระยะสั้น เศรษฐกิจเซอร์เบียมีแนวโน้มเติบโตดี แรงขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจเซอร์เบีย คือ การผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกไปตลาดยุโรป การลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment/FDI) และการบริโภคภาคเอกชน ยังขยายตัวต่อเนื่อง

ทว่าความท้าทายสำคัญที่จะกำหนดพลวัตกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ คือ ปัจจัยภายนอก คือ ความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจโลกและตลาดสำคัญในประเทศต่างๆ ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงฤดูหนาว และอัตราการรับวัคซีนของประชาชนชาวเซอร์เบีย ปัจจุบัน อัตราการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสยังอยู่เพียงแค่ 56.5% ต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ประมาณ 6.7 ล้านคน) สาเหตุสำคัญ คือความล่าช้าในการได้รับจัดสรรวัคซีน ทั้งจากโครงการ COVAX และรัฐบาลเซอร์เบียจัดซื้อเอง และการปฏิเสธไม่รับวัคซีนของประชาชนจำนวนมาก

นอกจากนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลเซอร์เบียดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (Accommodative Monetary Policy) ตั้งอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 1% เพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศ 16% เป็น 1.56 หมื่นล้านยูโร เพิ่มการลงทุนของภาครัฐในระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณสุขในวงเงิน 400 ล้านยูโร รวมถึงออกจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล 2 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภท Seven-Year Green Bond วงเงินรวม 750 ล้านยูโร โดยมีอัตราดอกเบี้ย (Coupon Rate) 1% และอัตราผลตอบแทน (Yield) 1.26% โดยเซอร์เบียเป็นประเทศนอกอียูประเทศแรกที่ออกพันธบัตรประเภทนี้เพื่อลงทุนในโครงการที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม 2) ประเภท Fifteen-Year Eurobond วงเงินรวม 2.5 พันล้านยูโร โดยมี Coupon Rate 2.05% และ Yield 2.3%

ทั้งนี้ EBRD คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคบอลข่าน ประจำปี 2564 จะอยู่ที่ 6.4% และในปี 2565 จะอยู่ที่ 4%

ส่วนธนาคารโลกแถลงในรายงานเศรษฐกิจภูมิภาคบอลข่านตะวันตก ประจำฤดูใบไม้ร่วง 2564 (Western Balkans Regular Economic Report) โดยสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเซอร์เบีย คือ การปรับคาดการณ์การขยายตัวของ GDP เซอร์เบียและมอนเตเนโกรปี 2564 ขึ้นเป็น 6% จากเดิมที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ 5% ส่วนปี 2565 คาดการณ์ที่ระดับ 4.5% โดยธนาคารโลกเห็นว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจเซอร์เบียจะ   มาจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ทว่าการลงทุนจะยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ทั้งด้านอัตราการจ้างงานและค่าแรง ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ความสามารถในการควบคุมโรคระบาดของประเทศข้างเคียง การเปลี่ยนแปลงในตลาดสำคัญ (เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ฯลฯ) และความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง/ระบบราชการ ซึ่งธนาคารโลกก็ได้ประกาศจะลงทุนในแผนนี้ในวงเงิน 1.1 พันล้านยูโรช่วงปี 2565-2569 ด้วย

ผลสำเร็จของแผนปฏิรูปนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุข้อกำหนดเกณฑ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อสนับสนุนเซอร์เบียในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ปัจจุบัน เซอร์เบียกำลังอยู่ในกระบวนการเจรจาและปฏิบัติตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป คาดว่าจะเข้าเป็นสมาชิกได้ภายในปี 2568

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคบอลข่าน (แอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา คอซอวอ นอร์ทมาซิโดเนีย มอนเตเนโกร และเซอร์เบีย) ประจำปี 2564 ที่ 5.9% และในปี 2565 จะอยู่ที่ 4.1%

ข้อคิดเห็น/บทวิเคราะห์

เซอร์เบียเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย GDP ปี 2563 หดตัวเพียง 1.1 และขาดดุลการค้าระหว่างประเทศเพียง 4.2% จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 5% เนื่องจากแม้เซอร์เบียจะส่งออกได้น้อยลง 2.3% แต่ก็นำเข้าสินค้า/บริการน้อยลง 3.4% ตามอุปสงค์ที่ลดลงด้วย เศรษฐกิจเซอร์เบียจึงมีแนวโน้มเติบโตดี ประกอบกับธุรกิจโลจิสติกส์    ที่ขยายตัวดีจะช่วยส่งเสริมจุดเด่นของเซอร์เบียที่มีเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคบอลข่านตะวันตกได้สะดวก การดำเนินแผนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการบรรลุเป้าหมายในการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปภายในระยะเวลาที่กำหนด จะช่วยสร้างความน่าเชื่อในการทำการลงทุน/การค้าในเซอร์เบียได้มากขึ้น

ปัจจุบัน เซอร์เบียมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างน้อย 4 โครงการที่กำลังจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2564 และ 2565 ซึ่งหนึ่งในโครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้างเส้นทางหลวงระหว่างประเทศ เมือง Nis ประเทศเซอร์เบีย-กรุง Pristina ประเทศคอซอวอ-กรุง Tirana ประเทศแอลเบเนีย-ท่าเรือเมือง Durrës ประเทศแอลเบเนีย ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางและเส้นทางการค้าภายในภูมิภาค      บอลข่านตะวันตก โดยเฉพาะเซอร์เบียและคอซอวอที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้า/บริการ ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างเฟสแรก เส้นทางเมือง Nis-กรุง Pristina แล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนผ่านเงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนยุโรป (European Investment Bank/EIB) วงเงิน 100 ล้านยูโร และงบประมาณจากสหภาพยุโรปในกรอบ Western Balkans Investment Framework (WBIF) วงเงิน 40.6 ล้านยูโร ทั้งนี้ สหภาพยุโรปมองว่า ความมั่นคงทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของบอลข่านตะวันตก จะเป็นการเสริมความมั่นคงของสหภาพยุโรปด้วย จึงได้ดำเนินความร่วมมือกับชาติบอลข่านผ่านกรอบความร่วมมือในมิติต่างๆ จำนวนมาก และสนับสนุนให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพฯ ให้ได้

ทว่าความท้าทายสำคัญประการหนึ่งของเซอร์เบียคือ ความสามารถในการควบคุมโรคโควิด-19 ในช่วงกลางปี รัฐบาลเซอร์เบียมีโครงการกระตุ้นแรงจูงใจประชาชนให้มารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยการอัดฉีดเงินอุดหนุนผู้มารับวัคซีนเช่นในสหรัฐอเมริกา และมีแผนริเริ่มโครงการ Vaccine Tourism ทว่าประชาชนในเขตชนบท นักการเมืองที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากเองก็ลังเลที่จะฉีดวัคซีน อีกทั้งทวีปยุโรปเริ่มกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดครั้งใหม่ในช่วงฤดูหนาว จึงทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเซอร์เบียยังน่ากังวลอยู่มาก

ปัจจุบัน วัคซีนหลักที่มีให้บริการในเซอร์เบีย ได้แก่ BioNTech/Pfizer, Moderna, AstraZeneca, Sinopharm และ Sputnik V ทั้งนี้ เซอร์เบียเข้าร่วมโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก เพื่อรับการจัดสรรวัคซีนจากชาติพัฒนาแล้ว

ด้านการค้าระหว่างเซอร์เบียกับไทย ข้อมูลประจำปี 2564 (มกราคม – ตุลาคม) จากสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้ว่าเซอร์เบียเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยอันดับที่ 144 หมวดสินค้าส่งออกของไทยไปยังเซอร์เบียที่มีศักยภาพ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อุปกรณ์ประกอบรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางและยางพารา แม่พิมพ์หล่อโลหะ ส่วนประกอบเครื่องจักรกล และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แม้การลงทุนในเซอร์เบียน่าจะยังดำเนินไปได้โดยไม่มีผลกระทบมากนัก ทว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ส่งออกไทย คือ การนำเข้าสินค้าอาจมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากต้นทุนการขนส่งสินค้าสูงขึ้น อาจส่งผลต่อการชะลอการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ได้มีความตกลงทางการค้าเฉพาะได้

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ (ธันวาคม 2564)
Central Bank of Republic of Serbia, European Bank for Reconstruction and Development, European Commission, Ministry of Finance of the Government of the Republic of Serbia, SEE News, Statistical Office of the Republic of Serbia, World Bank, สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2