ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2022 เป็นต้นไป เยอรมนีกำหนดเก็บค่ามัดจำขวดเครื่องดื่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและกระป๋องเครื่องดื่มทุกประเภท ยกเว้นเพียงขวดพลาสติกบรรจุนม ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านถึงปี 2024 ส่วนบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่อยู่ในท้องตลาดแล้ว สามารถจำหน่ายได้โดยไม่เรียกเก็บค่ามัดจำขวดจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2022

ทั้งนี้ เยอรมนีเริ่มใช้ระบบมัดจำคืนเงินสำหรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา ข้อบังคับที่ใช้จนถึงขณะนี้มีการเรียกเก็บค่ามัดจำจำนวน 0.25 ยูโร สำหรับขวดเบียร์ น้ำดื่ม น้ำอัดลม และเครื่องดื่มผสมที่มีแอลกอฮอล์ โดยยกเว้นการเก็บค่ามัดจำสำหรับขวดเครื่องดื่มน้ำผลไม้ น้ำผัก นม ไวน์ สุรา มาตรการใหม่จะยกเลิกข้อยกเว้นค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มบางประเภท เช่น กำหนดให้เรียกเก็บค่ามัดจำขวดสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ ซึ่งทำให้ต้องจำหน่ายในราคาแพงขึ้น (บวกค่ามัดจำ)

ไทม์ไลน์ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการคุมเข้มการใช้พลาสติก

  • ปี 2022  มัดจำคืนเงินสำหรับขวดเครื่องดื่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและกระป๋องเครื่องดื่มทุกประเภท
  • ปี 2023  นำเสนอภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าแทนภาชนะที่ใช้แล้วทิ้ง (ร้านขนาดเล็กได้รับการยกเว้นจากข้อบังคับนี้)
  • ปี 2025  ขวดเครื่องดื่ม (PET) แบบใช้ครั้งเดียว ต้องผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 25%
  • ปี 2030  ขวดเครื่องดื่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั้งหมด จะต้องมีสัดส่วนของพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 30%

ตั้งแต่ปี 2023 ผู้จำหน่ายหรือให้บริการอาหาร ผู้บริการจัดส่งอาหาร และร้านอาหาร จะต้องนำเสนอภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าแทนภาชนะที่ใช้แล้วทิ้ง สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่สั่งกลับบ้าน อนึ่ง มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ทั่วทั้งสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก เช่น Imbiss (ร้านขายอาหารที่รับประทานได้อย่างรวดเร็ว บางร้านมีที่นั่งให้ บางร้านมีโต๊ะสำหรับยืนรับประทาน ราคาถูกกว่าร้านอาหารปกติทั่วไป) ที่มีพนักงานสูงสุด 5 คน และพื้นที่ขายสูงสุด 80 ตารางเมตร

ในเยอรมนี มีขยะบรรจุภัณฑ์ 770 ตัน เกิดขึ้นทุกวันจากบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ผู้บริโภคซื้ออาหารแบบ take away เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์และลดการใช้พลาสติก เยอรมนีได้ห้ามผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic products – SUPs) เช่น ช้อน ส้อม จาน ก้านสำลี หลอด และไม้คน รวมถึงภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้แล้วทิ้งที่ทำจากโฟม ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2021

สัดส่วนของการรีไซเคิลของขวดเครื่องดื่ม PET

ตั้งแต่ปี 2025 ขวดเครื่องดื่ม PET แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จะต้องมีสัดส่วนของพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 25% และตั้งแต่ปี 2030 อัตราส่วนนี้จะเพิ่มขึ้น 30% เป็นอย่างน้อย สำหรับขวดเครื่องดื่ม ทั้งหมดที่ทำจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2015 ขวดเครื่องดื่ม PET ในเยอรมนี มีวัสดุรีไซเคิลเฉลี่ย 26% สัดส่วนของวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เพิ่มขึ้นทุกปีประมาณ 1%

รัฐบาลเยอรมันดำเนินการอย่างไรกับการส่งออกขยะพลาสติก?

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 สหภาพยุโรปห้ามส่งออกขยะพลาสติกที่ยากต่อการรีไซเคิลทั้งแบบผสม และแบบปนเปื้อน ขยะประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติว่าด้วยบรรจุภัณฑ์ของเยอรมนีได้มีการบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น ตั้งแต่ปี 2019 เพื่อควบคุมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

การส่งออกขยะพลาสติกจากเยอรมนีไปยังจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2016 โดยในปี 2019 ส่งออกไปยังจีนประมาณ 2,600 ตัน เทียบกับ 562,910 ตัน เมื่อ 3 ปีก่อน ส่วนการส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 374,588 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 58

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต (ธันวาคม 2564)
Presse- und Informationsamt der Bundesregierung

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2