คงไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่า วิกฤต Covid-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาสนใจกับอาหารและสุขภาพมากขึ้น โดยทุกวันนี้ อาหารเสริม วิตามินประเภทต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยม เริ่มตั้งแต่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (Immnue System) ลดความเครียดและปรับสภาพจิตใจทางอารมณ์ (Stress Resilience and metal well-being) ยังคงเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องไปในปี 2565 นอกจากนี้ สินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Environmetal Sustaintability) ตามกระแส Climate Chage ที่ได้กลายเป็นสินค้าที่ผู้ผลิต/ผู้บริโภคได้หันมาสนใจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เทรนด์สินค้าอาหาร ที่น่าจับตาในปี 2565 แบ่งออก 4 เทรนด์ที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

1) Plant-Based Power ผู้บริโภคได้ให้ความสนใจกับสินค้าโปรตีนจากพืชตั้งแต่ช่วงก่อน Covid-19 ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวยังคงมาแรงในปีนี้ ที่ปัจจัยสนับสนุนจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Flexitarian (เป็นกลุ่มที่ทานมังสวิรัตเป็นหลักแต่ก็มีการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นครั้งเป็นคราว) หรือเรียกว่าเป็นกลุ่มมังสวิรัติที่ไม่ได้เคร่งครัด โดยทุกวันนี้มีประชากรกว่า 65% ที่เริ่มหันมาบริโภค Plant-Based และ 22% ของประชากรที่ยอมรับว่ามีการบริโภคสินค้า Plant-Based เป็นประจำทุกวัน

เหตุผลหลักที่คนกลุ่มนี้หันมาบริโภคโปรตีนทางเลือกเนื่องจาก มองว่าเป็นสินค้าสุขภาพ และมาจากเรื่องของ “ความเชื่อ” ที่มองว่าสารอาหารโปรตีนจากพืชนั้นมีคุณภาพที่ดีกว่าจากเนื้อสัตว์รวมถึงผู้บริโภคมองว่าสินค้าโปรตีนทางเลือกนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม การปลูกพืชใช้ทรัพยากรของโลกน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น

เทรนต์สินค้าในกลุ่มนี้ ได้กว้างไปกว่าเนื้อสัตว์ ที่ส่วนใหญ่เป็นเนื้อแฮมเบอเกอร์ เนื้อไก่เทียม จะมีสินค้าของทานเล่น (Snack) ของหวาน (Dessert) รวมถึงอาหารที่ใช้อบ (Bake Goods) ที่ใช้วัตถุดิบจากโปรตีนจากพืชมากขึ้น ทั้งนี้วัตถุดิบอาหารที่นำจับตาอีกชนิดในปีนี้ ได้แก่ สาหร่าย (Seaweed, Dulce, Kelp) ซึ่งอาจไม่ใช่สินค้าแปลกใหม่สำหรับคนชาวเอเชีย แต่สำหรับผู้บริโภคชาวตะวันตก สินค้าสาหร่ายและคุณสมบัติเด่นทางโภชนาการได้เริ่มเป็นที่สนใจของผู้บริโภคมากขึ้น

2) From Food Waste to Healthy Eats กระแสรักษ์โลก และการห่วงใยสิ่งแวดล้อมได้นำมาสู่แนวคิด การลดใช้ทรัพยากรอาหารที่สิ้นเปลือง (Reduce Food Waste) ทุกวันนี้อาหารกว่า 58% ในแคนาดาได้ถูกนำมาทิ้งในถังขยะ อาทิ ผัก เนื้อสัตว์ นม ขนมปังที่หมดอายุ หรืออาหารที่ส่วนใหญ่เก็บในตู้เย็นแล้วไม่ได้มาบริโภค ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นขยะอาหารที่ถูกนำมาทิ้ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า และในส่วนของสิ่งแวดล้อมนั้น อาหารขยะที่เน่าเสียได้ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ทำให้เกิดสภาพก๊าซเรือนกระจกต่อโลกอีกด้วย  (มีโทษมากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เสียอีก)

แนวคิดของ Upcycle ที่นำมาของเสีย (Waste) หรือผลพลอยได้จากการผลิต (By Product) มาผลิตสินค้าใหม่ ๆ ให้เกิดประโยชน์ อาทิ บริษัท Still Good Foods ผู้ผลิตเบียร์ ตั้งอยู่เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบค ซึ่งปรกติ ขั้นตอนผลิตเบียร์จากหมักข้าวบาร์เลย์ ทางบริษัทฯได้นำรำข้าวของเหลือจากการหมักข้าว นำมาใช้ต่อเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ใหม่ (Repurpose Value) จากของเหลือที่ในอดีตถูกนำไปทิ้งเป็นขยะ ซึ่งแนวทางดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ลดผลกระทบต่อสิ่งแวตล้อมอีกทางหนึ่ง

3) A Brainy Approach to Aging นักการตลาดส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะมุ่งเจาะตลาดคนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ (กลุ่ม Millenials) เป็นหลัก แต่อีกกลุ่มที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากันเลย ได้แก่ กลุ่ม Baby Boomer (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ โดยกลุ่มผู้สูงอายุนี้มีกำลังซื้อ การจับจ่ายที่สูง ยินดีจับจ่ายกับสินค้าเพื่อสุขภาพในสัดส่วนของรายได้ที่สูง มองหาสินค้าที่เน้นบำรุงทั้งทางร่างกาย (สารอาหาร) และสภาพจิตใจ (ปรับมู้ด อารมณ์) อาทิ ช่วยเหลือการหลับนอนรวมถึงเรื่องการบำรุงสมอง (Brain Food) ช่วยเหลือเรื่องโสตประสาทการทรงจำ (Cognitive) ต่าง ๆ โดยอาหารในกลุ่มนี้จะมาจากวัตถุดิบผลไม้กลุ่มเบอร์รี่ ผักโขม ถั่วธัญพืชและปลา ซึ่งคาดว่าจะมาแรงในปี 2565 ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพของสมอง (Brain Health) มากขึ้น ที่อาจขยายตลาดไปสู่กลุ่มอายุอื่น ๆ ที่อาจกว้างไปกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ

4) Drink up, Sober-Style กลุ่มนักดื่ม (แอลกอฮอล์) ในช่วง Covid-19 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมองหาเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เครื่องดื่มมีส่วนผสมแอลกอฮอล์ต่ำหรือปราศจากแอลกอฮอล์ (Low or Non Alcoholic Beverage) มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่สนใจและห่วงใยสุขภาพมากขึ้น (กว่าแต่ก่อน) มองหาทางเลือกของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ ที่รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่ต่ำ ปริมาณน้ำตาลต่ำหรือแพ็คเก็จจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกวันนี้ได้มีสินค้า อาทิ Alcohol-Free Wine, Beer หรือ Spirits เริ่มวางจำหน่ายแล้วในแคนาดา

ความเห็น

กระแสสินค้าอาหารที่จะมาแรงในปี 2565 ในแคนาดา ยังคงเป็นสินค้าที่เน้นเรื่อง “สุขภาพ” และ “สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” กระแสรักษ์โลกต่อสู้กับปัญหา Climate Change สินค้าเพื่อความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญของการพัฒนาสินค้าอาหารในโลกหลังยุค Post Pandemic ที่ผู้ผลิตไทยควรให้ความสำคัญมากขึ้น ในมิติ BCG Model (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) ซึ่งในมุมมองของต้านการตลาดจะต้องมีการพัฒนาเรื่องราว (Story Telling) ของสินค้ามากขึ้น สามารถจับต้องได้ สร้างการรับรู้ อาทิ เผยแพร่ ข้อมูลความโปร่งใสขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำสร้างความรู้สึก การมีส่วนร่วมประโยชน์ของสินค้ากับสังคมสิ่งแวดล้อม ที่นอกเหนือไปจาก (คุณประโยชน์) ของตัวสินค้า เป็นการสร้างจุดเด่น (Uniqueness) สินค้าไทยในยุคต่อไป ที่อาจประยุกต์ใช้แพลทฟอร์มของโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ Facebook, Instagram, TikTok, YouTube ในการเผยแพร่ข้อมูล เรื่องราวประวัติความเป็นมาของสินค้า และข้อมูลผลกระทบเชิงบวกในการพัฒนาความยั่งยืนในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในระยะยาว

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต (มกราคม 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2