การขาดดุลการค้าของประเทศเคนยาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (เดือนมกราคม ถึง เดือนกันยายน 2564) โดยมูลค่าการขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 38.57 อันเนื่องมาจากความต้องการสินค้าอุปโภค บริโภคที่ผลิตจากต่างประเทศ น้ำมันเชื้อเพลิง และต้นทุนการนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้นภายหลังจากการจัดหาวัตถุดิบ การผลิตสินค้า เพื่อส่งต่อมายังผู้บริโภคได้หยุดชะงักช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) อยู่ในขั้นวิกฤต

จากข้อมูลทางการค้าที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของเคนยา (Kenya National Bureau of Statistics – KNBS) แสดงให้เห็นว่าการขาดดุลการค้ามีมูลค่ามากขึ้นเป็น 988.51 พันล้านเคนยาชิลลิ่ง จากเดิม 713.37 พันล้านเคนยาชิลลิ่ง ซึ่งเป็นการตรวจสอบรวบรวมข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นานาประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการนำเข้าสินค้าและบริการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากการสะดุดของการจัดสรรวัตถุดิบ การผลิตสินค้าไปจนถึงการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดให้แก่ผู้บริโภค ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงได้เองอย่างประเทศเคนยา

อ้างอิงจากข้อมูลก่อนการแก้ไขครั้งล่าสุดระบุว่าผู้ประกอบกิจการและผู้นำเข้าชาวเคนยาต้องใช้ต้นทุนการนำเข้ามากถึง 1.53 ล้านล้านเคนยาชิลลิ่ง ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายนปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.04 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งมีต้นทุนการนำเข้าสินค้าอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านเคนยาชิลลิ่ง

การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คิดเป็นร้อยละ 13.29 เมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้า คิดเป็นมูลค่า 543.5 พันล้านเคนยาชิลลิ่ง ในขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าประเภทชาและไม้ดอกตัดแต่งของประเทศเคนยากลับสร้างรายได้เข้าประเทศลดลง

ตามมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าการขาดดุลกาค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้คนรุ่นใหม่มีการพัฒนาทักษะ ความชำนาญ การทำงานหรือการผลิตสินค้าใหม่ๆ นั้นลดลง การใช้จ่ายส่วนมากหมดไปกับการซื้อสินค้านำเข้า การผลิตจากต่างประเทศ รวมถึงการจ้างงานที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นตลาดต้นทาง

การขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นนี้ยังได้สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินเคนยาชิลลิ่งอันเนื่องมาจากความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ค่าเงินเคนยาชิลลิ่งอ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์เคลื่อนไหวในระดับ 111-113 ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

หากจะกล่าวให้เห็นตัวอย่างเช่น เงินเคนยาชิลลิ่งอ่อนลงที่ระดับต่ำสุดในประวัติการซื้อขายนับจากวันแรกของปีที่ทำการซื้อ ขาย จนถึงปัจจุบัน มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 112.29 เคนยาชิลลิ่งต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการอ่อนค่าลงร้อยละ 2.85 ของค่าเงินเคนยาชิลลิ่ง

นายแพทริค โจรอจ (Mr. Patrick Njoroge) ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งเคนยา (Central Bank of Kenya – CBK) ได้กล่าวไว้ในการบรรยายสรุปครั้งล่าสุดประจำเดือนกันยายน 2564 ว่าแรงกดดันด้านราคาในตลาดโลกซึ่งได้รับแรงหนุนมาจากการจำกัดการให้บริการขนส่งของท่าเรือหลักๆ อย่างท่าเรือในประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังมีปัจจัยจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงมากขึ้นซึ่งสร้างความกังวลอย่างมากว่าการนำเข้าสินค้าและบริการจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างที่ประเทศเคนยาที่ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าเป็นจำนวนมากดังที่ได้ประสบอยู่ขณะนี้

กระแสแรงกดดันด้านต้นทุนการนำเข้ามีเพิ่มมากขึ้นสืบเนื่องจากปัญหาคอขวดของการให้บริการขนส่งนำมาสู่ความยากลำบากในการจัดหาสินค้า ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าสำเร็จรูปแล้วเพียงอย่างเดียวแต่ยังหมายรวมถึงส่วนประกอบต่างที่จะนำมาทำเป็นสินค้าด้วยเช่นกัน ดร. แพทริค โจรอจ กล่าวไว้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ว่า “สิ่งนี้จะเป็นข้อกังวลใหญ่ข้อหนึ่งเพราะจะนำไปสู่การขึ้นราคาสินค้าต่อผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ”

ข้อมูลจากสถิติการค้าของสำนักงานสถิติแห่งชาติของเคนยา (Kenya National Bureau of Statistics – KNBS) ที่เผยแพร่โดยหน่วยงานสรรพากรของเคนยา (Kenya Revenue Authority – KRA) แสดงให้เห็นว่ารายจ่ายของการนำเข้าเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้นมากกว่าครึ่งในช่วงที่มีการตรวจสอบ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.47 คิดเป็นมูลค่า 257.27 พันล้านเคนยาชิลลิ่ง

การชำระค่าสินค้านำเข้าสำหรับสินค้าที่ไม่ใช่อาหารนั้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32.39 มูลค่าสูงเกือบ 607.80 พันล้านเคนยาชิลลิ่ง ในขณะที่เครื่องจักรที่ส่งเข้ามาในประเทศมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.67 คิดเป็นมูลค่า 220.71 พันล้านเคนยาชิลลิ่ง ในทางกลับกัน รายได้จากการส่งออกสินค้าประเภทดอกไม้ตัดแต่งกลับลดลงร้อยละ 7.46 คิดเป็นมูลค่า 78.06 พันล้านเคนยาชิลลิ่ง ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา และรายได้จากการส่งออกผลิตภัฑ์จากชาลดลงร้อยละ 3.80 คิดเป็นมูลค่า 95.62 พันล้านเคนยาชิลลิ่ง ในยามที่ทั่วโลกมีความต้องการสินค้ามีเพิ่มขึ้นในขณะเดียวกันความเจ็บปวดของผู้บริโภคจากราคาสินค้าก็มากขึ้นตามไปด้วย

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ประเทศเคนยามีความพยายามดิ้นรนเพื่อกระจากยการส่งออกชา สินค้าเพาะปลูก และกาแฟซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ส่งออกเพื่อป้อนสู่โรงงานการผลิตในต่างประเทศให้มีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรกำลังเผชิญกับปัญหาวัตถุดิบราคาตกต่ำในตลาดต่างประเทศ

ความเห็น

การขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องจะส่งผลต่อนโยบายการคลังและการจัดเก็บรายได้ของประเทศเคนยาที่มีทิศทางที่ไม่สดใสและอาจทำให้รัฐบาลอาจประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยในประเทศนั้นๆ เพื่อลดแรงกดดันต่อสกุลเงินท้องถิ่น โดยราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น อาจนำไปสู่สภาวะเงินเฟ้อ และเมื่ออัตราเงินเฟ้อมีเพิ่มสูงขึ้น และจะทำให้กำลังชื้อในประเทศมีความสามารถลดลง ธนาคารกลาง หรือธนาคารแห่งชาติอาจผลักดันนโยบายการเงินการธนาคารที่เข้มงวดมากขึ้น สำหรับสินค้าของไทยที่ส่งออกมานั้น ผู้ส่งออกจะต้องระมัดระวังการส่งมอบสินค้าและการชำระเงินให้มากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงในการได้รับชำระค่าสินค้าล่าช้า และอาจทำให้ผู้นำเข้านำเข้าในปริมาณที่ลดลงหรือไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนั้น การส่งออกของไทยในปีหน้าอาจจะไม่ขยายตัวสูงมากนัก ทำให้การทำตลาดของผู้ส่งออกมายังเคนยาหรือประเทศในแอฟริกาตะวันออกอาจจะประสบปัญหามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี เคนยายังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าจำนวนมากจากต่างประเทศ และไม่อาจขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้หากไม่พึ่งพาการนำเข้า ก็ยังมีโอกาสอีกมากที่ไทยจะส่งออกสินค้ามายังเคนยามากขึ้น แต่ควรต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของเคนยาว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวในปี 2565 ได้มากน้อยเพียงไร โดยธนาคารโลกและ IMF ต่างคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเคนยาจะเติบโตประมาณร้อยละ 5.0 – 5.5 ในปี 2565

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไนโรบี (ธันวาคม 2564)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2