เมื่อวันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม 2564 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศปรับเพิ่มมาตรฐานประหยัดพลังงาน (Fuel-Efficiency Standard) สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกขนาดเล็ก เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศภายในประเทศและลดปริมาณการใช้น้ำมัน โดยกำหนดให้ผู้จำหน่ายรถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็กที่จำหน่ายในประเทศจะต้องรักษาค่าเฉลี่ยอัตราการประหยัดพลังงานรถยนต์ที่จำหน่ายที่ระดับ 55 ไมล์ต่อแกลลอนภายในปี 2569 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่รัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยกำหนดไว้ที่ระดับ 43 ไมล์ต่อแกลลอนภายในปีเดียวกัน ทั้งนี้ มาตรฐานประหยัดพลังงานสหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 40 ไมล์ต่อแกลลอน

องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (The Environmental Protection Agency หรือ EPA) คาดว่า มาตรฐานประหยัดพลังงานใหม่จะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน้ำมันได้เป็นมูลค่าประมาณ 2.1 – 9.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2590 แม้ว่ารถยนต์พลังงานสะอาดจะมีต้นทุนการผลิตและราคาจำหน่ายสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปก็ตาม โดยคาดว่า ผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์รุ่นที่ผลิตตั้งแต่ปี 2569 ขึ้นไปจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้เฉลี่ยคันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

นอกจากนี้ EPA ยังกล่าวว่า มาตรฐานประหยัดพลังงานใหม่จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยสหรัฐฯ ควบคุมปัญหามลภาวะทางอากาศจากอุตสาหกรรมการขนส่งซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญอันดับ 1 ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้

อย่างไรก็ตาม องค์กรความร่วมมือด้านนวัตกรรมยานยนต์ (The Alliance for Automotive Innovation) กลุ่มความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้จำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์ในตลาดกล่าวว่า การปรับปรุงมาตรฐานการผลิตรถยนต์ให้เป็นไปตามมาตรฐานประหยัดพลังงานใหม่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับกลุ่มผู้ผลิตหากปราศจากการสนับสนุนจากภาครัฐในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ มีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายงบประมาณใช้จ่าย Build Back Better มูลค่าทั้งสิ้น 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนดังกล่าวเป็นงบประมาณสำหรับสนับสนุนด้านภาษีซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าใหม่มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐฯ

ในขณะที่ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์บางรายกำลังอยู่ในระหว่างการเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งในแง่ของเงินสนับสนุนภาษีและการติดตั้งระบบการชาร์ตพลังงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคในกลุ่มผู้บริโภคมีผู้ประกอบการบางส่วนได้กำหนดกลยุทธ์กิจการไปสู่กลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้ว เช่น บริษัท Ford Motor Co. ซึ่งประการแผนเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วโลกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2570 เป็นต้น

มาตรฐานประหยัดพลังงานใหม่ของสหรัฐฯจะมีผลเริ่มบังคับใช้ภายใน 60 วันนับจากวันที่ประกาศอย่างเป็นทางการในทะเบียนรัฐบาลกลาง (Federal Registration หรือ FR) โดยจะค่อยๆเริ่มมาตรฐานการบังคับใช้ตั้งแต่รถยนต์รุ่นที่ผลิตปี 2566 เป็นต้น ไปจนกระทั่งบังคับใช้มาตรฐานโดยสมบูรณ์ในรถยนต์รุ่นที่ผลิตปี 2569 และจะเป็นมาตรฐานประหยัดพลังงานที่เข้มงวดที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ข้อมูลวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าโดยธนาคาร Deutsche Bank ระบุว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีแนวโน้มชะลอการซื้อรถยนต์ลังงานไฟฟ้าลงเหลือสัดส่วนยอดจำหน่ายเพียงร้อยละ 3 – 4 เมื่อเทียบกับยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ ทั้งหมดในปีนี้ เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนยังคงกังวลถึงปัญหาในการชาร์ตพลังงานและจำนวนสถานีชาร์ตพลังงานที่ยังมีไม่มากนักในปัจจุบัน อีกทั้ง รถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังมีจำนวนตัวเลือกในตลาดไม่มากนักและมีราคาสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ มีความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนสถานีชาร์ตพลังงานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศอย่างน้อย 5 แสนแห่ง โดยได้อนุมัติงบประมาณ 1.5 หมี่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้ร่างกฎหมายพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า (Infrastructure Bill) มูลค่าทั้งสิ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ภายใต้มาตรฐานประหยัดพลังงานใหม่ของสหรัฐฯ ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐฯ จะต้องเพิ่มศักยภาพระบบการประหยัดพลังงานรถยนต์รุ่นที่ผลิตในปี 2565 ราวร้อยละ 9.8 และค่อยๆปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 – 10 ต่อปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ระดับ 55 ไมล์ต่อแกลลอนหรือคิดเป็น 40 ไมล์ต่อแกลลอนสำหรับการใช้งานในสภาพการใช้งานจริง

โดยความพยายามดังกล่าวส่วนหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสหรัฐฯ ให้เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันกับจีนซึ่งพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วและกลายเป็นผู้นำตลาดแบตตารีและรถยนต์ไฟฟ้าของโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ้ายโดยเฉพาะกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และกลุ่มผู้สนับสนุนการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมซึ่งปัจจุบันกำลังพยายามผลักดันให้ทุกฝ่ายหันไปเลือกใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานธรรมชาติทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานอื่น ๆ เป็นต้น

จากข้อมูล EPA ในปี 2563 อุตสาหกรรมขนส่งปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศสูงสุดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29 ของทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกขนาดเล็กที่สุดที่มีส่วนปลดปล่อยก๊าชของเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 1 ใน 6 ของปริมาณก๊าชของเสียทั้งหมดของสหรัฐฯ รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น

บทวิเคราะห์: แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมายอดจำหน่ายสินค้ารถยนต์รวมถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯจะชะลอตัวลงเนื่องจากปัญหาด้านการขนส่งสินค้าและระบบห่วงโซ่อุปทานรวมถึงปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเชมิคอนดักเทอร์ในตลาด แต่คาดว่า การประกาศปรับเพิ่มมาตรฐานประหยัดพลังงานของรัฐสหรัฐฯเป็นเฉลี่ย 55 ไมล์ต่อแกลลอนภายในปี 2569 ดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ และในโลกอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว โดยกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐฯ น่าจะพิจารณาเลือกใช้สามารถสรุปได้ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่
1. การปรับปรุงสมรรถนะเครื่องยนต์ ให้มีระบบเผาผลาญดีขึ้นเพื่อก่อให้เกิดการเผาให้สะอาดและประหยัดพลังงาน โดยการเลือกใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา
2. การปรับลดน้ำหนักรถยนต์ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้คล่องตัวมากขึ้นโดยการเลือกใช้โลหะแข็งแรงน้ำหนักเบาร่วมกับเทคโนโลยีทันสมัยในกระบวนการผลิต
3. การพัฒนาไปสู่รถยนต์ระบบไฮบริดหรือระบบไฟฟ้า เพื่อลดประมาณการใช้น้ำมันจากแหล่งพลังงานฟอสซิลซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการประหยัดน้ำมันเฉลี่ย
ทั้งนี้ ประเทศไทยที่มีสัดส่วนส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไปสหรัฐฯเป็นมูลค่าสูงในแต่ละปี โดยล่าสุดในระหว่างเดือนมกราคม -ตุลาคม 2564 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์จากไทยเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งเป็นยางรถยนต์เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์เป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงด้านมาตรฐานประหยัดพลังงานของรถยนต์ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อผู้ประกอบการส่งออกไทยด้วยโดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ รถบรรทุกขนาดเล็ก รวมถึงเครื่องยนต์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับระบบการขับเคลื่อน ซึ่งจะต้องปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มและทิศทางของตลาดและผู้ประกอบการในตลาดที่ต้องดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานประหยัดพลังงานใหม่ของสหรัฐฯ

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าในกลุ่มเครื่องยนต์และระบบขับเคลื่อนไปยังตลาดสหรัฐฯน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้น จึงควรที่จะพิจารณาเตรียมความพร้อมปรับตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและพัฒนาระบบการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพเพื่อก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานเพื่อรองรับตลาดที่น่าจะต้องการสินค้าที่มีคุณสมบัติช่วยส่งเสริมระบบเผาไหม้และก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานสูง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มที่สนใจทำตลาดขึ้นส่วนรถยนต์สำหรับกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าซึ่งน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เปรียบเสมือนหัวใจหลักของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทุกคัน ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะการเก็บประจุพลังงานไฟฟ้าในขณะที่มีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบาได้ก็จะช่วยสร้างจุดขายให้กับสินค้าได้

นอกจากกลุ่มรถยนต์ประหยัดพลังงานและรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่น่าจะมีโอกาสในตลาดสหรัฐฯแล้ว กลุ่มสินค้าพลังงานทดแทนก็น่าจะมีโอกาสขยายตัวในอนาคตด้วยโดยเฉพาะสินค้าเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ประกอบการและผู้บริโภคชาวอเมริกันมากขึ้น อีกทั้ง รัฐบาลสหรัฐฯ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณากฎหมายงบประมาณใช้จ่าย Build Back Better เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศโดยงบประมาณส่วนหนึ่งจะถูกกันเพื่อสนับสนุนการติดตั้งระบบเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับครัวเรือนอเมริกันจึงน่าจะเป็นโอกาสในการขยายมูลค่าการส่งออกสินค้าเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ของไทยซึ่งมีสัดส่วนตลาดในสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง

โดยภาพรวมรัฐบาลสหรัฐฯและชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และความโปร่งใสในการดำเนินกิจการ (Governance) มากในปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯแทบจะทุกกลุ่มสินค้าจึงควรพิจารณาให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในอนาคต

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (ธันวาคม 2564)
หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2