ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสมาคมพิทักษ์ผู้บริโภคฝรั่งเศส CLCV ได้ศึกษาฉลากและส่วนประกอบของสินค้าอาหารรวม 900 รายการ และพบว่าฉลากสินค้าส่วนใหญ่มักสร้างความเข้าใจที่ผิดให้กับผู้บริโภคในด้านโภชนาการ

ฉลากสินค้านับเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญ แต่จากการศึกษาโดยสมาคมพิทักษ์ผู้บริโภคฝรั่งเศส CLCV ระหว่างปี 2560 – 2564 พบว่าฉลากส่วนใหญ่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่อผู้บริโภค สินค้าที่สมาคมฯ พบว่ามีปัญหาในประเด็นดังกล่าวมากที่สุด ได้แก่ ซีเรียลอาหารเช้า อาหารสำเร็จที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสม ปลาชุบเกล็ดขนมปัง บิสกิต ผลิตภัณฑ์อาหารมังสวิรัติ เครื่องดื่มชูกำลัง และโยเกิร์ต เป็นต้น

โดยฉลากของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มดังกล่าวมักนำเสนอว่ามีวัตถุดิบหนึ่งเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้วเมื่อสังเกตรายการส่วนผสมและสัดส่วนในรายละเอียดแล้ว จะพบว่าผลิตภัณฑ์มีวัตถุดิบดังกล่าวเป็นส่วนผสมน้อยมาก เช่น ฉลากสินค้าราวีโอลีเนื้อวัว ที่มีเนื้อวัวประกอบเพียงร้อยละ 4 หรือโยเกิร์ตที่บนฉลากมีรูปผลไม้แต่กลับมีเนื้อผลไม้ในปริมาณน้อยหรือเกือบไม่มีเลย นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของการกล่าวอ้างถึงสรรพคุณทางโภชนาการและสุขภาพ เช่น การใช้คำว่า Detox บนฉลากเป็นต้น นอกจากนี้ฉลากของสินค้าบางส่วนยังใช้รูปธงชาติฝรั่งเศส ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าใช้วัตถุดิบจากฝรั่งเศส แต่ในความจริงแล้วเป็นเพียงสินค้าที่ผลิตและ/หรือบรรจุในฝรั่งเศส แต่วัตถุดิบอาจมาจากต่างประเทศ

สมาคมฯ จึงได้เสนอให้รัฐกำหนดแนวทางการจัดทำฉลากสำหรับสินค้าต่าง ๆ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงต่อผู้บริโภค โดยขอให้กำหนดให้มีปริมาณขั้นต่ำของวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถใช้รูปภาพของวัตถุดิบนั้น ๆ บนฉลากได้ ประกอบกับเรียกร้องให้มีการวางขอบเขตของการใช้คำกล่าวอ้างสรรพคุณทางโภชนาการและสุขภาพของสินค้าต่าง ๆ  นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการจำกัดปริมาณของสารเติมแต่ง กลิ่นสังเคราะห์ เกลือ ไขมัน และน้ำตาลในอาหารสำหรับทารกและเด็ก สมาคมฯ ยังเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับที่มาของวัตถุดิบต่าง ๆ ด้วย

ทั้งนี้ระหว่างการศึกษาบริษัทอุตสาหกรรมอาหารบางราย ได้พัฒนาสูตรของสินค้าบางกลุ่มให้ดีขึ้น ลดการกล่าวอ้างสรรพคุณ และหันมาใช้ฉลากคะแนนทางโภชนาการ Nutri-Score ซึ่งนาง Lisa Faulet หัวหน้าฝ่ายวิชาการและอาหารของสมาคมฯ ได้ชื่นชมบริษัทในกลุ่มดังกล่าว แต่หวังว่าจะมีกฎระเบียบเพื่อบังคับใช้แนวทางดังกล่าวกับสินค้าและฉลากสินค้าของทุกบริษัทในอนาคต

ความเห็น

ฉลากสินค้านับเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสินค้าที่ทางการฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปมีกฎระเบียบควบคุมอยู่ โดยผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเป็นผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยรายละเอียดพื้นฐานที่ต้องมีบนฉลาก ได้แก่ ปริมาตร น้ำหนัก รายการส่วนผสม รายละเอียดคุณค่าทางโภชนาการ (สำหรับสินค้าอาหาร) วันที่/สถานที่ผลิต วันหมดอายุ ข้อมูลผู้ผลิต
ข้อมูลผู้นำเข้า ข้อควรระวังในการบริโภค นอกจากนี้จะมีกฎระเบียบควบคุมการใช้คำต่าง ๆ บนฉลาก เช่น การตั้งชื่อเรียกสินค้า การใช้คำเกี่ยวกับสรรพคุณที่มีต่อสุขภาพ (Health claims) ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ของสหภาพยุโรปด้านการค้า (Access2Market) และกรมการแข่งขันทางการค้า การบริโภค และการปราบปรามการทุจริตฝรั่งเศส (DGCCRF) ประจำกระทรวงเศรษฐกิจฝรั่งเศส

ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลกฎระเบียบด้านฉลากดังกล่าวเพื่อที่จะจัดทำฉลากให้ถูกต้องตามกฎระเบียบของประเทศตลาดเป้าหมาย และติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกฎระเบียบที่อาจเปลี่ยนแปลง หรือมีกฎระเบียบเพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น การจำกัดการใช้ภาพวัตถุดิบบนฉลากตามเนื้อข่าวข้างต้น ซึ่งอาจกลายเป็นกฎระเบียบเพิ่มเติมในไม่ช้า สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าในเชิง OEM ให้กับผู้นำเข้า ควรหารือเรื่องฉลากกับผู้นำเข้าให้ละเอียดในขั้นตอนการเจรจาการค้าด้วย

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส (มกราคม 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2