จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มมีความรุนแรงนับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาจากการที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ตัดสินใจส่งกองกำลังเข้าไปปกป้องสองแคว้นด้านตะวันออกของยูเครนที่มีชายแดนติดกับรัสเซียหลังจากรัสเซียเพิ่งรับรองเอกราชและลงนามในสัญญามิตรภาพกับสองแคว้นนั้นไปหมาด ๆ ผลที่ตามมาคือประเทศตะวันตกรวมทั้งพันธมิตรที่หนุนหลังยูเครนก็ได้รุมกินโต๊ะประเคนออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียรัวถี่ยิบเป็นรายวันหรือนับเป็นรายชั่วโมงจนลุกลามบานปลายแบบไร้ขอบเขต รวมทั้งสถาบัน องค์กร และภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็ขอพักความเป็นกลางไว้ชั่วคราวกระโดดเข้าร่วมวงคว่ำบาตรขยายไปยังด้านกีฬา ดนตรี และอุตสาหกรรมบันเทิงอีกต่างหาก

เป้าหมายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของรัสเซียเบื้องต้นก็มุ่งทำลายระบบการเงิน กล่าวคือทำให้รัสเซียประสบความยากลำบากและความวุ่นวายให้มากที่สุดในทุกสิ่งที่เกี่ยวกับการเงินแบบครบวงจร นับตั้งแต่สร้างปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ตัดช่องทางการหารายได้เข้าประเทศ ก่อปัญหาเงินเฟ้อแก่ประชาชน ฯลฯ แล้วยกระดับความเข้มข้นด้วยการแช่แข็งทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซียในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ควบคู่ไปกับการตัดธนาคารบางแห่งของรัสเซียออกจากระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) แต่ยังใจดีเปิดช่องไว้ให้ประเทศตะวันตกเองสามารถชำระค่าพลังงานที่ต้องซื้อจากรัสเซียได้หรือสำหรับในกรณีที่รัสเซียอยากจะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ในฝั่งตะวันตก จากสองมาตรการหลังนี้ทำให้ประธานาธิบดีของรัสเซียรู้สึกว่าตะวันตกกระทำก้าวร้าวเกินไปและตามมาด้วยการสั่งปลดล็อคอาวุธนิวเคลียร์ให้พร้อมใช้ปฏิบัติการขั้นสูงสุดทันที

การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยังไม่พอแค่นั้น ประเทศตะวันตกทั้งหลายรวมทั้งยุโรปตะวันออกและประเทศพันธมิตรเกือบ 40 ประเทศ แม้แต่สวิตเซอร์แลนด์ที่เคยดำรงความเป็นกลางท้าทายความขัดแย้งในโลกมาโดยตลอดยังต้องขอร่วมแจมปิดน่านฟ้าไม่อนุญาตให้อากาศยานของรัสเซียบินผ่าน โดยฝ่ายรัสเซียก็ตอบโต้ในลักษณะเดียวกันจนทำให้ท้องฟ้าปลอดโปร่งเบาสบายปราศจากเครื่องบินไปมาหาสู่ระหว่างกัน หากประเทศทางตะวันตกประสงค์จะบินไปทางตะวันออกที่ต้องผ่านรัสเซียก็ต้องไปหาทางบินอ้อมให้สิ้นเปลืองพลังงานและเสียเวลาเล่นมากกว่าเดิม เช่นจากอังกฤษหากจะบินไปญี่ปุ่นก็อาจต้องอ้อมแวะพักเที่ยวขั้วโลกเหนือเสียก่อนโดยใช้เวลาเพิ่มอีกแค่ 17 ชั่วโมง

หลังจากปิดน่านฟ้าก็มาถึงคราวปิดน่านน้ำกันต่อ ประเดิมด้วยสายการเดินเรือขนส่งตู้สินค้าขาใหญ่ของยุโรป เช่น Maersk ของเดนมาร์ก MSC ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ CMA และ CGN ของฝรั่งเศส ประกาศงดให้บริการกับสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกกับรัสเซีย ตามมาด้วยน้องรองอย่าง Ocean Network Express ของสิงคโปร์และ Hapag Lloyd ของเยอรมนีที่ขอเดินรอยตามรุ่นพี่ ก่อนจะมาถึงท่าเรือหลักในยุโรปอย่าง Rotterdam, Antwerp และ Hamburg ก็ประกาศขอร่วมสังฆกรรมงดให้บริการกับสินค้าเข้า-ออกและถ่ายลำที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย

ในภาวะสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมอย่างนี้ในปัจจุบันนี้ ผู้นำเข้าสินค้าของรัสเซียก็กำลังตกอยู่ในความสับสนว่าจะเดินต่อไปอย่างไรจากการเปลี่ยนแปลงในทางลบรายวันและมีแต่คำถามมากมายที่หาคำตอบไม่ได้ เช่น จะสามารถเข้าถึงเงินสกุลหลักได้หรือไม่? จะมีการขนส่งสินค้าได้หรือไม่? อัตราแลกเปลี่ยจะผันผวนไปแค่ไหน? ต้นทุนสินค้าที่แพงขึ้นผู้บริโภคจะรับไหวไหม? ธนาคารกลางจะเข้ามาแทรกแซงระบบการเงินอะไรหรือเปล่า? หันมาวางมือทางธุรกิจชั่วคราวแล้วนำเงินท้องถิ่นไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ยร้อยละ 20 ก่อนดีไหม? ฯลฯ สรุปแล้วคือยังไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะทำการค้าขายระหว่างประเทศนั่นเอง เพราะมีตัวแปรมากเกินไปแถมวิกฤตนี้ยังส่อว่าจะมีแต่ความรุนแรงเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ส่งออกไทยที่ทำธุรกรรมทางการค้ากับคู่ค้าเก่าในรัสเซียเป็นประจำอยู่แล้ว หากมีความเชื่อใจกันและสามารถยอมรับความเสี่ยงร่วมกันท่ามกลางความผันแปรสูงได้ก็จะยังพอมีช่องทางจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้อยู่ ส่วนเงื่อนไขที่จะขอรับชำระค่าสินค้าล่วงหน้าทั้งหมดคงไม่น่าเป็นไปได้ในเวลานี้ ทั้งนี้สำหรับผู้ส่งออกที่ตั้งใจจะเริ่มเจาะตลาดหรือมองหาลูกค้าใหม่ในรัสเซีย ขอให้อดใจรอดูสถานการณ์รอให้ฝุ่นหายตลบจนพอมองเห็นและคาดการณ์อนาคตข้างหน้าได้ก็จะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุด

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก (มีนาคม 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2