Aeroflot สายการบินพาณิชย์แห่งชาติของรัสเซียได้ประกาศหยุดให้บริการการบินระหว่างประเทศ (ยกเว้นประเทศเบลารุส) ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสายการบินอื่น ๆ ของรัสเซีย ได้แก่ S7 Airlines และ Ural Airlines

จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้เกิดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจำนวนมากจากประเทศตะวันตกและพันธมิตร รวมทั้งบริษัทให้เช่าซื้อเครื่องบินในยุโรปตะวันตกที่ขอยกเลิกสัญญาเช่าแก่สายการบินในรัสเซีย (เครื่องบินส่วนใหญ่เป็นการเช่าซื้อจากบริษัทเอกชนในยุโรปตะวันตก) ควบคู่ไปกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Boeing และ Airbus ได้ยุติการให้บริการทางเทคนิคและการจัดส่งชิ้นส่วนหรืออะไหล่ให้กับสายการบินของรัสเซีย ด้วยเหตุนี้จึงเปรียบเสมือนการบังคับให้สายการบินของรัสเซียต้องหยุดดำเนินธุรกิจไปโดยปริยาย แม้แต่สายการบินที่ให้บริการสำหรับขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ (Freighter) ก็ต้องหยุดให้บริการด้วยเช่นกันจากการขาดแคลนอะไหล่

การเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับการส่งออกสินค้าผักสด/ผลไม้สด/ดอกไม้สดของไทย เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าเน่าเสียง่ายต้องพึ่งพาเที่ยวบินตรงระหว่างรัสเซีย-ไทย เพื่อใช้เวลาในการขนส่งให้สั้นที่สุด อีกทั้งรัสเซีย-ประเทศตะวันตกและพันธมิตรก็ปิดน่านฟ้าระหว่างกัน จึงเหลือช่องว่างให้กับสายการบินของบางประเทศเท่านั้นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งคือสายการบินในตะวันออกกลาง ได้แก่ Emirates–Qatar–Ethihad ที่ยังดำเนินธุรกิจการบินได้ตามปกติ แต่ก็มีข้อเสียที่จะต้องมีการต่อเครื่องที่เมืองท่าของประเทศเจ้าของสายการบินทำให้มีความเสี่ยงกับการใช้เวลาขนส่งที่ยาวนานขึ้นและอุณหภูมิสูงของประเทศในแถบตะวันออกกลางที่ไม่เหมาะกับสินค้าเน่าเสียง่าย

จากการสอบถามผู้นำเข้าผัก/ผลไม้สดของไทยในรัสเซีย ทำให้ได้รับทราบว่าขณะนี้จำเป็นต้องหยุดการนำเข้าชั่วคราวเนื่องจากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบจำนวนมาก โดยเฉพาะประเด็นค่าเงินท้องถิ่น (รูเบิล) ได้อ่อนตัวลงเกือบร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อแตะระดับร้อยละ 10 อีกทั้งการเข้าถึงและการโอนเงินสกุลหลักก็เป็นไปได้ยากอันมีผลจากมาตรการคว่ำบาตร ทั้งนี้ผู้นำเข้าบางรายก็จะพยายามศึกษาหาความเป็นไปได้ที่ทดลองใช้บริการของสายการบินในตะวันออกกลางแม้ว่าจะต้องจ่ายค่าระวางสินค้าเพิ่มขึ้นและความเสี่ยงที่สินค้าอาหารเน่าเสียง่ายจะเสียหายในอัตราร้อยละ 10 – 15 ก็ตาม

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่าในปีที่ผ่านมารัสเซียนำเข้าผลไม้สดจากไทยเป็นมูลค่า 5.9 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ (192 ล้านบาท) และผักสดหรือแช่เย็นอีก 2.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (92 ล้านบาท)

ในสภาวะที่ปัจจัยในการทำการค้ากับรัสเซียยังผันผวนและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงขอแนะนำให้ผู้ส่งออกผัก/ผลไม้สดของไทยชะลอการรับคำสั่งซื้อในช่วงนี้ออกไปก่อนสักระยะหนึ่งจนกว่าสถานการณ์การขนส่งจะมีความชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลับมาเปิดให้บริการการบินเส้นทางตรงระหว่างไทย-รัสเซียอีกครั้ง

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก (มีนาคม 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2