หน่วยงาน National Media and Infocommunications Authority และกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีฮังการี เตรียมดำเนินโครงการแจกเงินสนับสนุนประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นเก่าระบบเครือข่าย 3G เป็นโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่รองรับ 4G และ 5G ในกรอบวงเงิน 5 พันล้านโฟรินท์ (ประมาณ 5.3 ร้อยล้านบาท) เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม โดยตั้งเป้าหมายช่วยให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างครอบคลุม

โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้นโยบายพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาลฮังการี อันจะนำไปสู่ การเจริญเติบโตในของธุรกิจหลายภาคส่วนในฮังการี และการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล

รัฐบาลฮังการีดำเนินรอยตามประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปที่เริ่มพิจารณายกเลิกระบบ 3G โดยให้เหตุผลว่า 3G เป็นเทคโนโลยีเก่า และมีค่าบำรุงรักษาโครงข่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลักภาระต้นทุนค่าบริการไปให้ผู้บริโภคที่ต้องใช้บริการระบบ 3G ในราคาแพงกว่าระบบที่ใช้เทคโนโลยีใหม่กว่า การคงระบบ 3G ไว้ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายทุกเจ้าต้องแบ่งคลื่นความถี่ออกมาให้ใช้เฉพาะ แทนที่จะนำไปใช้กับเทคโนโลยีใหม่อย่าง 4G และ 5G อย่างเต็มที่ ทำให้ใช้คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการสัญญาณมือถือไม่เต็มประสิทธิภาพ

สาระสำคัญของโครงการดังกล่าว คือผู้ที่ต้องการซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่ จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลฮังการีเป็นจำนวน 20,000 โฟรินท์ (ประมาณ 2,100 บาท) ซึ่งใช้เป็นส่วนลดในการซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ที่ร้านจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์หรืออุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ ร้านค้าที่จำหน่ายยังรับคืนโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าเพื่อนำไปทำลายอย่างถูกต้องและไม่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกค้างในประเทศอีกด้วย

จากข้อมูลปี 2564 ยอดผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ในฮังการีอยู่ที่ประมาณ 5 แสนเลขหมาย คิดเป็นประมาณ 5% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แสดงให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากเริ่มปรับตัวใช้เทคโนโลยีใหม่แล้ว

ด้านผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ ทั้ง Magyar Telekom และ Telenor เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมยุติการให้บริการระบบ 3G ภายในครึ่งปีหลัง 2565 และกำลังเร่งดำเนินการโอนย้ายลูกค้าออกจากระบบ 3G ให้ทันตามกำหนด ส่วนค่าย Vodafone ยังไม่ได้แถลงกำหนดการชัดเจน

ความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาคและประเทศ

เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลเป็นวาระการพัฒนาสำคัญวาระหนึ่งของสหภาพยุโรป เห็นได้จากการอนุมัติโครงการย่อยภายใต้โครงการ Digital Europe ในกรอบเวลาปี 2564 – 2570 เพื่อเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจอียูหลังวิกฤตโควิด ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และสร้างอธิปไตยทางดิจิทัลของอียู (Digital Sovereignty) เช่น การลดการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจากการใช้บริการโทรคมนาคมและธุรกรรมออนไลน์ การพัฒนาระบบ Cloud และการจัดการ Big Data ของ EU เอง และการริเริ่มกฎบัตรว่าด้วยสิทธิพื้นฐานดิจิทัล (Charter of Digital Rights) เพื่อป้องกันการละเมิดหรือเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองและนิติบุคคลสัญชาติประเทศสมาชิก EU โดยมิชอบธรรม โดยมีหัวเรือใหญ่ได้แก่ประเทศโปรตุเกส ในฐานะประธานสภาสหภาพยุโรปในช่วงครึ่งปีแรก 2564

โครงการ Digital Europe เป็นเครื่องมือที่สำคัญของ EU ในการบรรลุเป้าหมายดิจิทัลด้านต่างๆ สำหรับสำหรับปี 2573 ตามที่กำหนดไว้ในแผน Europe’s Digital Decade เช่น ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาประชากรอย่างน้อย 80% ให้มีทักษะด้านดิจิทัลขั้นพื้นฐาน ให้ทุกครัวเรือนใน EU เข้าถึงการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 1 Gbps ได้ และให้เครือข่าย 5G ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัย

เมื่อพิจารณาความก้าวหน้าของฮังการีด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ฮังการียังคงตามหลังประเทศอื่นๆ อยู่หลายประการ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความพร้อมของทรัพยากรบุคคล ทว่าฮังการีเริ่มดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นหนึ่งในหมวดธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้เข้าประเทศมากเป็นลำดับต้นๆ อีกทั้ง ยังได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณและ ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ จากสหภาพยุโรป จึงมุ่งหมายจะผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจดิจิทัลจะสร้างรายได้เข้าประเทศได้ ราว 6.3% ของ GDP ในปี 2568

แผนแม่บทและยุทธศาสตร์ระดับชาติที่เกี่ยวข้องและมีผลในปัจจุบัน ได้แก่

1. Artificial Intelligence Strategy 2020 – 2030 ว่าด้วยการกำหนดแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เพื่อการพัฒนาภาคธุรกิจ

2. National Digitization Strategy 2021 – 2030 ว่าด้วยการปรับตัวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล (Digitization) โดยเฉพาะการส่งเสริมทักษะดิจิทัลของประชาชน การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีพัฒนาธุรกิจ SME และ การขับเคลื่อนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-government) ของฮังการี รับแผน Europe’s Digital Decade ของ EU ประเด็นการพัฒนาสำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนให้ SME นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจการพัฒนาธุรกิจ Start-up และระบบนิเวศ Start-up ในฮังการี การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT และการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data)
ทั้งนี้ รัฐบาลฮังการีตั้งเป้าหมายสำคัญไว้หลายประการ เช่น 95% ของทุกครัวเรือนในฮังการีเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 1 Gbps และเครือข่าย 5G ครอบคลุมอย่างน้อย 75% ของพื้นที่ที่มีประชากรอยู่อาศัยในฮังการี ภายในปี 2573

3. Research, Development and Innovation Strategy 2021 – 2030 ว่าด้วยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ มีประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การส่งเสริมกระบวนการสร้าง องค์ความรู้ด้วยการขยายกรอบอัตรากำลังและเพิ่มค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานวิจัย การสนับสนุน การส่งต่อ-แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในหน่วยงานวิจัย ส่งออกความรู้สู่สังคมภายนอก และการกระตุ้นให้ SME นำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

4. Digital Success Program 2030 ว่าด้วย Digital State Governance คือนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการของภาครัฐ รวมถึงการจัดการข้อมูล อันจะไปสู่การบรรลุเป้าหมายการเป็น e-government
รัฐบาลฮังการีหวังขยับอันดับขึ้นจากลำดับที่ 23 จาก 27 ประเทศสมาชิกตามการจัดอันดับ Digital Economy and Society Index (DESI) โดยคณะกรรมาธิการยุโรปประจำปี 2564

ปัจจัยเร่งเข้าสู่ Digitization

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนไปโดยสิ้นเชิง และสร้างมาตรฐานสังคมและรูปแบบวัฒนธรรมแบบใหม่ที่จะคงอยู่ต่อไปแม้ภาวะโรคระบาดสิ้นสุดลง ประเด็นสำคัญ คือทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญในการเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยี เพื่อรองรับการปฏิบัติงานในภาวะปกติใหม่ (New Normal) สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์คาดว่า เมื่อสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้นแล้ว ประชาชนชาวฮังการีจำนวนมากจะยิ่งนิยมสั่งซื้อสินค้า/บริการ และทำธุรกรรมออนไลน์ และจำไม่กระทบต่อการขยายตัวของ E-commerce และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ด้านการให้บริการของภาครัฐ มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดทำระบบศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการติดเชื้อและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เป็นปัจจุบันให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งในภาษาฮังกาเรียนและภาษาต่างประเทศอื่นๆ การให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในการติดต่อหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบบริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล Client’s Gate (Ügyfélkapu) รวมถึงการใช้ระบบ Cloud ในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อจัดทำบัตรภูมิคุ้มกัน (Immunity Certificate) และ EU Digital Covid Certificate ซึ่งสามารถเข้าถึงได้จากแอพพลิเคชั่นมือถือ EESZT ต่อยอดจากการส่งต่อข้อมูลใบสั่งยาจากแพทย์สู่ร้านขายยาในระบบ Cloud

ในส่วนของสถาบันการศึกษา มีการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ และขยายการติดตั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ดังที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาดิจิทัลแห่งชาติ รัฐบาลฮังการีให้ความสำคัญกับ Open Government Data ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มเทคโนโลยีในอนาคตด้าน Big Data จึงจัดตั้งหน่วยงาน National Data Agency มาบริหารจัดการศูนย์กลางรายการข้อมูลภาครัฐ และสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติฮังการี (Hungarian Central Statistical Office) เพื่อให้ข้อมูลที่ผ่านการรวบรวมและประมวลมาแล้วนำไปใช้วิเคราะห์และพัฒนาการให้บริการของภาครัฐได้ และเปิดโอกาสให้เอกชนนำข้อมูลไปใช้พัฒนาการบริการ เสริมความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจได้ อันจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ด้านภาคเอกชน ธุรกิจจำนวนมากปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัลด้วยการก้าวสู่ E-commerce หรือการปรับรูปแบบการจำหน่ายสินค้า/บริการไปขายผ่านช่องทางออนไลน์ รัฐบาลฮังการีร่วมมือกับหอการค้าและอุตสาหกรรมฮังการี (Hungarian Chamber of Commerce and Industry) สนับสนุนกระบวนการนี้ ผ่านโครงการ Modern Enterprises Program ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก EU ในเฟสแรกช่วงปี 2559 – 2564 และกำลังดำเนินการโครงการเฟส 2 ต่อไป โครงการดังกล่าวช่วยให้ SME ทั่วประเทศนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจได้สะดวกขึ้น ผ่านการจัดสัมมนาให้ความรู้และการให้ส่วนลดการซื้อโซลูชั่นดิจิทัลในวงธุรกิจ เป็นได้ทั้งผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ บริการ ซอฟต์แวร์ ระบบ เพื่อช่วยบริหารจัดการหรือแก้ไขปัญหาใดปัญหานึง

ทว่าความท้าทายสำคัญสำหรับ SME ในการค้าขายบน Ecommerce คือการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อทำความรู้จักลูกค้าและให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจสูงสุด เช่น การวางแผนโปรโมชั่นการส่งเสริมการขายตามสินค้าขายดี เพื่อสนองความต้องการผู้บริโภค การวิเคราะห์ช่วงเวลาทองในการขาย และการติดตามผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าการลงโฆษณาทางสื่อออนไลน์ ในจุดนี้ รัฐบาลหรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจึงควรพิจารณาให้ความรู้ผู้ประกอบการเพิ่มเติม

ข้อคิดเห็น

อุตสาหกรรมดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นยุคของการปฏิวัติเพิ่มผลผลิตภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Industry 4.0) ต่อยอดจากยุคแห่งการพัฒนาธุรกิจด้วย ICT แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลส่วนใหญ่นั้นยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Advanced Economies) ซึ่งรวมถึงพื้นที่ EU ด้วย ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปได้ผลักดันนโยบายการก้าวไปสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่องและจริงจังมาโดยตลอด

จากข้อมูลประกอบข้างต้น ทำให้เห็นว่า EU และประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมาก โอกาสทางธุรกิจในบริบทนี้ของตลาด EU จึงอยู่ในหมวดธุรกิจบริการดิจิทัล ซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการสร้างมูลค่าผ่านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์สู่เศรษฐกิจดิจิทัล

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ มองว่า แนวโน้มสำคัญของอุตสาหกรรมดิจิทัลและการวางกลยุทธ์การตลาดในสหภาพยุโรป ซึ่งรวมถึงฮังการีด้วย จะมีการใช้เทคโนโลยี 4G และ 5G ในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากโทรคมนาคมและห่วงโซ่โลจิสติกส์ เช่น การใช้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติในอุตสาหกรรมการผลิต การสั่งการระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของรถยนต์ และบริการสาธารณสุข  การพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล (Data-driven, Analytics-based Customer Experience) ให้รู้ใจลูกค้าที่สุด  การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) ในการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation หรือ GDPR) การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) การใช้ AI และ Machine Learning ในการขยายขีดความสามารถของธุรกิจหรือการบริการภาครัฐ  การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain เนื่องจาก Blockchain สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะในอุตสาหกรรมการเงินและธนาคารเท่านั้น เช่น การเก็บรักษาข้อมูลต่างๆ  การประยุกต์ใช้ Cloud Computing และ Internet of Things (IoT)  รวมถึงการกระจายตัวของเนื้อหาโฆษณาไปลง Social Media Platform อื่นนอกเหนือจาก Facebook และ Instagram มากขึ้น เนื่องจากค่าโฆษณาในแพลตฟอร์มดังกล่าวปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ (กุมภาพันธ์ 2565)
Budapest Business JournalTrade Magazin

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2