จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในอิตาลีเป็นอย่างมาก อันมีผลมาจากกำลังซื้อจากทั่วโลกรวมถึงอิตาลีมีการหดตัวอย่างรุนแรง ประกอบกับการ lockdown ประเทศที่ทำให้ภาคการผลิตต้องหยุดชะงักจนส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบของรถยนต์ ที่ส่งผลให้การผลิตและการส่งมอบรถยนต์เกิดความล่าช้า รวมถึงราคาน้ำมันที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ได้ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในอิตาลีในปัจจุบันยังคงประสบปัญหาในการกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่า รถยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์ที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่) ในอิตาลีกลับมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวเชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่หลายประเทศทั่วโลกมีการตื่นตัวและเห็นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงแรงจูงใจของรัฐบาลอิตาลีที่ออกนโยบายช่วยเหลือสนับสนุนสำหรับการซื้อรถยนต์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่ำ/ปลอดมลพิษ (Ecobonus) จำนวน 100 ล้านยูโร ซึ่งถือเป็นนโยบายสนับสนุนที่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) ของสหภาพยุโรป ซึ่งหนึ่งนโยบายดังกล่าว คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยของรถยนต์ใหม่ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030 และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2035 รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่ในสหภาพยุโรปจะมีการปล่อยมลพิษ/ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

จากข้อมูลตัวเลขของสหพันธ์สมาคมรถยนต์ (ACI) เปิดเผยว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่มีจำนวน 31,734 คัน ซึ่งมีจำนวนที่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยตั้งแต่ปี 2560 – 2563 ตัวเลขยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1,394% จากจำนวน 2,104 คัน ในปี 2560 ขยายเป็น 31,433 คัน ในปี 2563 นอกจากนี้ จากข้อมูลของสมาคมส่งเสริมการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (Motus-E) เปิดเผยว่า ระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในอิตาลีมีจำนวน 112,353 คัน (ขยายตัวเพิ่มขึ้น 208% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า) แบ่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) 54,160 คัน และรถยนต์ไฮบริด (PHEV) 58,193 คัน โดยเดือนตุลาคม 2564 ตัวเลขยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ จำนวน 7,108 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 145.7% เทียบกับเดือนตุลาคม 2563

ปัจจุบันชาวอิตาเลียนมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 211,335 คัน โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ จำนวน 109,053 คัน และรถยนต์ไฮบริด จำนวน 102,282 คัน โดยแคว้นในอิตาลีที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด คือ แคว้น Lombardia (เมืองมิลานตั้งอยู่) (สัดส่วน 21% ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดใน อิตาลี) แคว้น Trentino-Alto Adige (สัดส่วน 20%) และแคว้น Lazio (สัดส่วน 9%) สำหรับสถานีชาร์จ  รถยนต์ไฟฟ้าในอิตาลีมีจำนวน 24,794 แห่ง เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศในยุโรปที่มีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือคิดเฉลี่ยทุก ๆ 100 กิโลเมตร จะมีบริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 5 แห่ง ซึ่งถือว่ามีจำนวนเฉลี่ยที่น้อยมากหากเทียบกับประเทศเนเธอร์แลนด์ (ทุก ๆ 100 กิโลเมตร จะมีสถานีชาร์จ จำนวน 47 แห่ง) แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2573 อิตาลีจะมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 4 ล้านแห่ง ซึ่งน่าจะเพียงพอกับการรองรับกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอิตาลี Fiat ได้ร่วมมือกับซุปเปอร์มาร์เก็ต Carrefour Italia และบริษัทให้บริการระบบชาร์จไฟฟ้า Be Charge  ในการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบริเวณลานจอดรถของซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้บริการลูกค้าในการชาร์จรถยนต์ในขณะที่กำลังจับจ่ายซื้อสินค้า โดยคาดว่าจะมีการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในซุปเปอร์มาร์ตเก็ต Carrefour จำนวน 135 สาขาทั่วอิตาลี

ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ตั้งแต่ ปี 2558 – 2564  (หน่วย:คัน)

ข้อคิดเห็น      

1. ถึงแม้เศรษฐกิจในอิตาลีและทั่วโลกยังคงอยู่ในภาวะค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่สำหรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในอิตาลีและในยุโรปกลับเติบโตส่วนทางและขยายตัวอย่างก้าวกระโดด อันเนื่องมาจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินช่วยเหลือสนับสนุน การปรับลดภาษี  ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคในอิตาลีเป็นอย่างมาก และการที่สหภาพยุโรปได้ออกนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงมาตรการจำกัดอายุการใช้งานรถยนต์ ประเภทของรถยนต์ดีเซล เบนซิน ห้ามวิ่งในเขตพื้นที่เมืองสำคัญต่างๆ ในบางเขตพื้นที่ในอิตาลีแล้ว ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ของไทยที่จะขยายตลาดมายังอิตาลี ซึ่งที่ผ่านมา สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอันดับต้น ๆ มายังตลาดอิตาลี โดยระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวมายังอิตาลีมีมูลค่า 161.49 ล้านเหรียญสหรัฐ (+33.24%) โดยเป็นสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่น ๆ มีมูลค่า 29.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (+27.78%)

2. ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของเอเชีย แต่จากแนวโน้มการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยุโรป อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่ยังคงเน้นการผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์สันดาบ (ICE) โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดกลาง (Tier 2) และขนาดเล็ก (Tier 3) ดังนั้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ควรหันมาให้ความสำคัญในการเพิ่มการผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่การเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล ที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2570

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน (ธันวาคม 2564)
Khungthai compass

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2