จากการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจของโคลอมเบียที่ดำเนินการโดย Kantar พบว่า เศรษฐกิจของโคลอมเบียฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคชาวโคลอมเบียมีการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โคลอมเบียประสบกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นจากเดือนธันวาคม 2564 โดยอยู่ที่ร้อยละ 5.62 ในเดือนมกราคม 2565 ราคาสินค้าและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น แต่มิได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค หากแต่ผู้บริโภคพิจารณาซื้อสินค้าในปริมาณที่ลดลง

การเติบโตและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโคลอมเบียค่อนข้างมีเสถียรภาพและรวดเร็ว และโคลอมเบียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ (ร้อยละ 3.9) ส่งผลให้จำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น และความสามารถในการจับจ่ายของประชาชนโดยรวมเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ผู้บริโภคชาวโคลอมเบียมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้จ่ายและการอุปโภคบริโภค โดยสินค้าที่มียอดการจำหน่ายสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2564 ได้แก่ สินค้าเสริมความงาม เครื่องสำอางค์ และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง สินค้าในหมวดอาหาร ยาและเวชภัณฑ์

สินค้าเสริมความงาม และเครื่องสำอางค์

ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ผู้บริโภคชาวโคลอมเบียให้ความสำคัญและใส่ใจต่อคุณภาพของสินค้าเสริมความงามและเครื่องสำอางค์มากขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักของการใช้ผลิตภัณฑ์ เพื่อการบำรุงผิว และรักษาความอ่อนเยาว์ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยบำรุงผิวและป้องกันการเกิดสิว (Markne) ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคสตรี เพื่อใช้ในการบำรุงผิวในชีวิตประจำวัน และให้สำคัญเป็นอันดับต้นกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากส่วนผสมของธรรมชาติ โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดสินค้าเสริมความงาม และเครื่องสำอางค์ของโคลอมเบียจะมีการขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ในช่วงปี 2563 – 2563

ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง

ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงของโคลอมเบียมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และจากข้อมูลของ Statista สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในครัวเรือนของโคลอมเบียในปี 2562 โดยจากข้อมูลผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 73 เป็นเจ้าของสุนัข และร้อยละ 41 เป็นเจ้าของแมว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนสถานการณ์ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่อาหารสุนัขมีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 65 อย่างไรก็ดี ความเจริญและการเป็นชุมชนเมืองที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันทำให้ชาวโคลอมเบียพักอาศัยในอพาร์ทเม้นท์มากขึ้น โดยเฉพาะอพาร์ทเม้นท์ขนาดเล็ก สัตว์เลี้ยงที่มีขนาดเล็กลงจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ชาวโคลอมเบียที่พักอาศัยในอพาร์ทเม้นท์ดังกล่าวจึงหันมาเลี้ยงสุนัขที่มีขนาดเล็กลง และเลี้ยงแมวมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของการเติบโตของอาหารสุนัข ในขณะที่อาหารแมวมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 และมาตรการล็อคดาวน์ทำให้ชาวโคลอมเบียมีโอกาสได้ใช้เวลากับสัตว์เลี้ยงที่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.9 ในช่วงปี 2564 – 2569

ยาและเวชภัณฑ์

มูลค่าของตลาดยาที่ขายโดยตรงให้ผู้ซื้อโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาของแพทย์ (Over the Counter Pharmaceuticals) มีมูลค่าถึง 674 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยชาวโคลอมเบียใช้จ่ายสำหรับค่ายาและเวชภัณฑ์ประมาณ 13.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปีใน 2564  ซึ่งกลุ่มยาระงับปวดเป็นกลุ่มที่มียอดขายสูงที่สุด หรือคิดเป็นมูลค่า 178 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรและยาพื้นเมืองได้รับความนิยมอย่างมากในโคลอมเบีย โดยเฉพาะยาสมุนไพรที่ช่วยให้หลับดีขึ้น และที่ช่วยบำรุงร่างกาย รวมถึงเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนี้ จากข้อมูลของหอการค้าร้านขายยา ANDI’s Cámara Farmacéutica ของโคลอมเบียคาดการณ์ว่าตลาดจะมีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.4 ในช่วงปี 2564 – 2568

อาหาร

มูลค่าตลาดอาหารของโคลอมเบียในปี 2564 มีมูลค่า 41,939 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยชาวโคลอมเบียใช้จ่ายสำหรับค่าอาหารประมาณ 818.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปีใน 2564 ทั้งนี้ อาหารในหมวดเนื้อสัตว์มีมูลค่าตลาดรวมสูงสุด ที่มูลค่า 9,506 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 อย่างไรก็ดี ชาวโคลอมเบียเริ่มหันมารับประทานอาหารที่ทำจากพืชมากขึ้น และให้ความใส่ใจต่อการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์สุขภาพ  ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ชาวโคลอมเบียเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน โดยประชาชนส่วนใหญ่ปรุงอาหารรับประทานที่บ้าน และพิจารณาราคาและความคุ้มค่าของส่วนประกอบและวัตถุดิบในการปรุงอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมและมีความต้องการสูง ได้แก่ แป้งทำขนมปัง เส้นพาสต้า น้ำตาล และซอสปรุงรสต่าง ๆ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าตลาดอาหารจะมีการขยายตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.81 ในช่วงปี 2564 – 2569 นอกจากนี้ จากข้อมูลการศึกษาของ BBVA พบว่าร้อยละ 56 ของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าอาหารเป็นเพศชาย และร้อยละ 44 เป็นเพศหญิง และผู้บริโภคที่มีช่วงอายุ 35 – 44 เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงที่สุด ในขณะที่กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป มีการใช้จ่ายค่าอาหารน้อยที่สุด

บทวิเคราะห์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

โคลอมเบียเป็นประเทศที่มีการเติบโตและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง ประกอบกับภาครัฐเร่งกระจายการฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันชาวโคลอมเบียกว่าร้อยละ 58 ของประชาชนทั่วประเทศได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว ทำให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อการจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โคลอมเบียมีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีทั้งสิ้น 17 ฉบับ กับ 65 ประเทศทั่วโลก จึงมีการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ จากประเทศภาคีความตกลงฯ ซึ่งสหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียนถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของโคลอมเบีย และแม้ไทยจะไม่มีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับโคลอมเบีย แต่โคลอมเบียมีการนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากชิลี โดยไทยสามารถใช้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี เป็นประตูการค้าหนึ่งในการส่งออกสินค้าไทยไปยังโคลอมเบีย ซึ่งผู้ประกอบการของไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมในโคลอมเบียและเป็นตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ตามที่ได้กล่าวข้างต้น ได้แก่ เครื่องสำอางค์จากจากส่วนผสมของธรรมชาติ  เครื่องปรุง  อาหารเพื่อสุขภาพและอาหารที่ทำจากพืช นอกจากนี้ การขยายตัวของชุมชนเมืองในโคลอมเบียมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตของชาวโคลอมเบียเปลี่ยนแปลงไป และทำให้ความต้องการอาหารพร้อมทานมีเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้ง การเพิ่มจำนวนของร้านอาหารและภัตตาคารต่าง ๆ ก็ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบในการปรุงอาหารเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะเส้นพาสต้า น้ำตาล และซอสปรุงรส ที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในครัวเรือนสำหรับการประกอบอาหารเช่นกัน

ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวโคลอมเบียยังคงให้ความสำคัญกับราคาและความคุ้มค่าเป็นลำดับต้นในการเลือกซื้อสินค้า และจากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรของหน่วยงานภาครัฐของโคลอมเบีย มีการคาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคเอกชนในปี 2565 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการบริโภค และการนำเข้าสินค้าของโคลอมเบียจะขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลการพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการส่งสินค้าไปยังโคลอมเบียด้วย เพื่อให้การนำเข้า/ส่งออกสินค้าดำเนินได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก (มกราคม 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2