ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ฝรั่งเศสเริ่มบังคับใช้กฎหมายห้ามจำหน่ายผักและผลไม้ในบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก โดยจะทยอยบังคับใช้กับผักผลไม้ประเภทต่าง ๆ จนครบทุกประเภทภายในปี 2569

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ฝรั่งเศสได้บังคับใช้กฤษฎีกาหมายเลข 2021-1318 ฉบับวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เรื่องข้อบังคับในการจำหน่ายผักและผลไม้สดไม่แปรรูปโดยไม่บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกหรือมีส่วนประกอบเป็นพลาสติก กฤษฎีกาฉบับดังกล่าวเป็นผลจากกฎหมายว่าด้วยความฟุ่มเฟือยและเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ต้องการลดปริมาณขยะที่เกิดการบริโภคเกินความจำเป็นเพื่อรักษาสิงแวดล้อม ซึ่งรวมไปถึงขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี กฤษฏีกาฉบับดังกล่าวไม่ได้บังคับให้ผู้ประกอบการเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกหรือมีส่วนประกอบเป็นพลาสติกทันทีกับผักผลไม้สดทุกประเภทนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 แต่มีกรอบระยะเวลาสำหรับผักและผลไม้แต่ละประเภท เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาในการเตรียมพร้อม หาทางออก และใช้บรรจุภัณฑ์คงคลังให้หมด โดยกฤษฏีกาได้กำหนดรายละเอียดระยะต่าง ๆ (ห่างกัน 18 เดือน) พร้อมรายการผักและผลไม้สดไว้ดังนี้

ระยะที่ 1 : ห้ามจำหน่ายผักและผลไม้สดต่อไปนี้ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกหรือมีส่วนประกอบเป็นพลาสติก มีผลบังคับใช้ทันที นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

ผัก : ต้นกระเทียม ซุกินี มะเขือ พริกหยวก แตงกวา มันฝรั่ง แครอท (ไม่มีใบ) มะเขือเทศกลม หอมใหญ่ หัวเทอร์นิป ผักกาดและกะหล่ำต่าง ๆ ฟัก พาร์สนิป แรดิช ผักหัวต่าง ๆ เยรูซาเล็มอาร์ติโชค
ผลไม้ : แอปเปิล ลูกแพร์ กล้วย ผลไม้ตระกูลส้ม กีวี ลูกพรุน เมลอน สับปะรด มะม่วง ลูกเสาวรส ลูกพลับ

ระยะที่ 2 : ผักและผลไม้สดต่อไปนี้ สามารถจำหน่ายในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก หรือมีส่วนประกอบเป็นพลาสติกได้ ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2566

ผัก : มะเขือเทศหยัก มะเขือเทศยาว มะเขือเทศหัวใจต่าง ๆ มะเขือเทศเชอร์รี่ หอมใหญ่เก็บเกี่ยวใหม่ พาร์สนิปเก็บเกี่ยวใหม่ กะหล่ำ Brussel Sprout ถั่วแขก
ผลไม้ : องุ่น ลูกพีชต่าง ๆ แอปปริคอต

ระยะที่ 3 : ผักและผลไม้สดต่อไปนี้ สามารถจำหน่ายในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก หรือมีส่วนประกอบเป็นพลาสติกได้ ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2567

ผัก : ผักสลัด คอร์นสลัด ต้นอ่อนผักสลัด สมุนไพร ผักปวยเล้ง ใบ Sorrel ดอกไม้รับประทานได้ ถั่วงอก (จากถั่วเขียว) หัวเอนไดฟ์ หน่อไม้ฝรั่ง บรอคโคลี มันฝรั่งเก็บเกี่ยวใหม่ แครอตเก็บเกี่ยวใหม่ แครอตจิ๋ว เห็ด
ผลไม้ : เชอร์รี แครนเบอร์รี ลิงกอนเบอร์รี เคพกูสเบอร์รี (โทงเทงฝรั่ง)

ระยะที่ 4 : ผักและผลไม้สดต่อไปนี้ สามารถจำหน่ายในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก หรือมีส่วนประกอบเป็นพลาสติกได้ ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2569

  • ผักและผลไม้สดจำหน่ายในปริมาณ 1.5 กิโลกรัมขึ้นไป
  • ผักและผลไม้ที่เสี่ยงต่อความเสียหายหากจำหน่ายโดยไม่บรรจุหีบห่อ ได้แก่
    • ราสป์เบอร์รี สตรอว์เบอร์รี เรดเคอร์แรนท์ แบลเคอร์แรนท์ บลูเบอร์รี มะยม กระเจี๊ยบ กีวีจิ๋ว
    • ผลไม้สุกพร้อมรับประทาน (เก็บเมื่อสุกงอมเต็มที่)
    • ผักงอกจากเมล็ดถั่วหรือธัญพืชต่าง ๆ เช่น อัลฟาฟา ถั่วเลนทิล ถั่วเหลือง เป็นต้น

ระยะที่ 5 : ภายในสิ้นปี 2569 ผู้ประกอบการจะต้องจำหน่ายผักและผลไม้สดทุกประเภทโดยไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกหรือมีส่วนประกอบเป็นพลาสติก โดยผู้ประกอบการจำหน่ายผักและผลไม้สดที่ละเมิดกฤษฎีกาจะถูกปรับเป็นเป็นเงินจำนวน 15,000 ยูโร

ทั้งนี้กฤษฎีกาดังกล่าวไม่ครอบคลุมสินค้าผักและผลไม้สดที่ผ่านการแปรรูปแล้ว (ปอก หั่นชิ้น) และได้นิยาม “พลาสติก” ว่าเป็น “วัสดุที่ประกอบด้วยโพลีเมอร์ตามคำนิยามของมาตราที่ 3 ข้อที่ 5 ของกฎหมายสภายุโรปและคณะกรรมการยุโรปที่ 1907/2006 ซึ่งอาจจะมีการเติมสารหรือวัตถุดิบอื่น ๆ โดยวัสดุนั้นเป็นส่วนประกอบทางโครงสร้างพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ (ยกเว้นโพลีเมอร์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและไม่ได้ถูกปรับแต่งด้วยสารเคมี แต่สามารถมีสี หมึก และกาวได้)” ดังนั้นผู้ประกอบการจึงยังสามารถใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากโพลีเมอร์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติได้ เช่น เยื่อไม้ เส้นใยธรรมชาติ แป้ง เป็นต้น

ความเห็น

มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่จะทวีความสำคัญขึ้น โดยรัฐได้ให้ความสำคัญและออก
เป็นกฎหมาย โดยในกฎหมายฉบับดังกล่าวจะบังคับให้ลดหรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์และภาชนะใช้ครั้งเดียวทิ้ง

โดยล่าสุดได้เริ่มบังคับห้ามจำหน่ายผักและผลไม้สดในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกหรือมีส่วนประกอบเป็นพลาสติกนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ตามเนื้อความของข่าวข้างต้น มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผักและผลไม้สดของไทยมายังฝรั่งเศส โดยเฉพาะผักและผลไม้สดที่บรรจุหีบห่อจากพลาสติกหรือมีส่วนประกอบเป็นพลาสติก (รวมถึงฟิลม์ห่ออาหาร และโฟมรังผึ้งห่อผลไม้) ผู้ประกอบการควรศึกษากฎระเบียบข้างต้นอย่างละเอียด เตรียมความพร้อม หาบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่ไม่ขัดกฎระเบียบ และหารือกับลูกค้าผู้นำเข้าหรือผู้ที่สนใจจะนำเข้า โดยอาจหันไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากกระดาษหรือวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ ทดแทน

ทั้งนี้ผักและผลไม้ในกฤษฎีกาฉบับนี้เป็นผักและผลไม้ที่มีการจำหน่ายทั่วไปในฝรั่งเศสเป็นปริมาณมาก ไม่ได้ครอบคลุมถึงผักและผลไม้ทุกชนิด ผู้ประกอบการจึงจำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าผักและผลไม้ไทยแต่ละประเภทจะถูกจัดรวมกับผักและผลไม้ในกฤษฎีกาดังกล่าวอย่างไร เพื่อที่จะสามารถดำเนินการจัดหาบรรจุภัณฑ์สำหรับส่งออกผักและผลไม้ไทยแต่ละชนิดให้เป็นไปตามกฤษฎีกาดังกล่าวได้ทันภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส (มกราคม 2565)
https://www.service-public.fr/particuliers/actualites/A15243

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2