บริษัทในสาธารณรัฐเช็กให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมีเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องมาจากข้อบังคับของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้มีการจัดทำรายงานด้านการลดก๊าซคาร์บอน ทั้งนี้ นอกจากกฎเกณฑ์/ข้อบังคับของสหภาพยุโรปแล้ว ยังมีแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้บริษัทต้องจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอน ได้แก่ ลูกค้า ลูกจ้าง ที่เข้ามามีความสำคัญกับการวางแผนดำเนินธุรกิจมากขึ้น

ในปี 2562 สหภาพยุโรปได้มีการออกข้อบังคับที่กำหนดให้มีการรายงานการดำเนินการธุรกิจแบบยั่งยืนและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Footprint) ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ผลิต ธนาคาร ผู้ให้บริการด้าน IT  โดยนอกจากข้อบังคับในการต้องจัดทำรายงานดังกล่าวแล้ว ยังมีแรงกดดันจากบริษัทแม่/บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ที่ต้องการให้ซัพพลายเออร์สามารถตอบโจทย์การดำเนินการลดก๊าซคาร์บอน อีกทั้งธนาคารหรือบริษัทประกันภัยต่างกำหนดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ให้บริษัทต่าง ๆ ดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน

บริษัทหลายแห่ง อาทิ  “Vadafone” ได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2583 และได้แจ้งให้กลุ่มลูกค้าทราบถึงแผนการดังกล่าว โดยในการยื่นเสนอซื้อขาย ได้มีการนำหลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวมาใช้ในการตัดสินใจของบริษัทถึงร้อยละ 20  

Pavel Růžička จากบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน “Enviros” ระบุว่า ในอนาคตประเด็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จะมีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัท โดยบริษัทส่วนใหญ่ในสาธารณรัฐเช็กเห็นว่า การลดการใช้พลังงานหรือการใช้พลังงานทดแทนใน 5 ปีข้างหน้าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

การรายงานข้อมูลตามข้อบังคับของสหภาพยุโรป กำหนดว่า บริษัทที่มีลูกจ้าง 250 คนขึ้นไป จะต้องแจ้งข้อมูล Carbon Footprint ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งบริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการรายงานข้อมูล โดยการระบุเพียงแค่ว่า “ได้ดำเนินการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีแล้ว”

การตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ (1) การปล่อยมลพิษทางตรง อาทิ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงาน (2) การปล่อยมลพิษทางอ้อมจากพลังงาน อาทิ ไฟฟ้า ความร้อน เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ (3) อื่น ๆ อาทิ การจัดการขยะ/ของเสีย ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป หรือการเดินทางโดยเครื่องบิน  ประเด็นปัญหาสำคัญคือ บริษัทจะต้องรวบรวมข้อมูลและรายงาน Carbon Footprint ทั้งหมด ซึ่งข้อมูลบางอย่างจะติดตามหรือเก็บข้อมูลได้ยาก

ตัวอย่างเช่น บริษัท “Cleverlance” ผู้ให้บริการคำปรึกษาด้าน IT ที่ต้องเช่าสถานที่ทำการ การใช้ไฟฟ้าจะคำนวณจากการใช้งานจริงจากมิเตอร์ ขณะที่การใช้เครื่องทำความร้อนและความเย็นจะเป็นอัตราคงที่ที่ตกลงกันระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า นอกจากนี้ ยังไม่สามารถคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ เนื่องจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะนับเป็นอาคาร อย่างไรก็ดี บริษัทฯ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้เกือบร้อยละ 40/ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้พนักงานต้องทำงานที่บ้านหรือเข้ามาทำงานลดลง จึงไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอน  ทั้งนี้ การรายงานข้อมูลของบริษัทฯเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนส่วนใหญ่มาจากทัศนคติของลูกจ้างและผู้สมัครงานเป็นหลัก โดยพบว่าในการสัมภาษณ์งาน ผู้สมัครได้สอบถามถึงการจัดการขยะและ Carbon Footprint นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่บริษัทฯ เสนอให้เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ดีเซลเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าอาจจะมีการคัดค้าน แต่ปรากฎว่าพนักงานกลับสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวและบางคนใช้จักรยานมาทำงาน

สำหรับบริษัทผู้ให้บริการด้าน IT ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณหลักร้อยตัน สามารถลดก๊าซคาร์บอนได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทผู้ผลิตอื่น ๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในหลักแสนถึงหลักล้านตัน ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตดังกล่าวจึงใช้วิธีการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon Offsetting) โดยการลงทุนปลูกป่าหรือสร้างแหล่งพลังงานทดแทน อาทิ บริษัท Škoda Auto มีการลงทุนฟาร์มกังหันลมในเขตโมราเวียของสาธารณรัฐเช็กและในประเทศอินเดีย เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนให้มากที่สุด  หรือกรณี ซูเปอร์มาเก็ตออนไลน์ “Rohlik” ที่กำลังดำเนินโครงการปลูกป่าเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของผลิตภัณฑ์นมยี่ห้อ “Miil” เป็นต้น

บทวิเคราะห์/โอกาส/ข้อเสนอแนะ/แนวทางการปรับตัว

บริษัทต่าง ๆ ในสาธารณรัฐเช็กได้เริ่มดำเนินการในเรื่อง carbon footprint ตามข้อบังคับของสหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ แรงกระตุ้นสำคัญนอกเหนือจากข้อบังคับดังกล่าว ได้แก่ ลูกค้าของบริษัท ซึ่งคาดว่าบริษัทจะต้องมีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่มาจากกลุ่มลูกค้าของตนเองด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่เป็นผู้ผลิต โรงงานอุตสาหกรรม จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยต้องมีรายงานข้อมูล (Data) ตามข้อบังคับของสหภาพยุโรป

สำหรับผู้ผลิต/ผู้ประกอบการไทยที่มีลูกค้าเป็นบริษัทผู้ผลิต/โรงงานผลิตอุตสาหกรรมต่าง ๆ ควรวางแผนการพัฒนาการผลิตชิ้นส่วน ส่วนประกอบ Semi-products ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า โดยการแสดงถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Carbon Footprint เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมแผนรองรับ ทั้งระยะสั้นและ
ระยะยาวเพื่อบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าว  รวมถึงการวางแผนให้ครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิต ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การส่งมอบสินค้า และการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก (ธันวาคม 2564)
idnes.cz/ekonomika/domaci

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2