แนวโน้มการลดการบริโภคอาหารจากเนื้อสัตว์กลายเป็นเรื่องปกติในสเปน  ชาวสเปนจะบริโภคไข่ นม เนยแข็ง และโยเกิร์ตบ่อยสุดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง  ผลิตภัณฑ์ที่บริโภคมากที่สุดคือผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก และจากการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพ สร้างความยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based) ในฐานะโปรตีนทางเลือกสำหรับผู้ใส่ใจในสุขภาพ อาหารควบคุมน้ำหนัก อาหารสำหรับผู้บริโภคมังสวิรัติและวีแกนมีการขยายตัวของยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรป รวมทั้งสเปน 

สเปนเป็นตลาดผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based) ที่อยู่ในลำดับต้นๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป นอกเหนือจากเยอรมนี  เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส เป็นต้น  โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สเปนมียอดขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถึง 448 ล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 48%  น้ำนมจากพืชเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาดสเปน  (มูลค่า 318 ล้านยูโร) รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช (มูลค่า 87 ล้านยูโร)  และโยเกิร์ตจากพืช (มูลค่า 42 ล้านยูโร) ในส่วนของผลิตภัณฑ์น้ำนมจากพืชนั้น  น้ำนมจากข้าวโอ๊ตมียอดขายสูงสุดเป็นมูลค่า 125 ล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 25%  รองลงมา ได้แก่ น้ำนมจากถั่วเหลือง (มูลค่า 91 ล้านยูโร) และน้ำนมจากเมล็ดอัลมอนต์ (มูลค่า 57 ล้านยูโร)

ในแง่ยอดขายผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชในสเปนก็เติบโตสูงถึง 31% โดยราว 90% เป็นเนื้อจากพืชแบบสด คิดเป็นมูลค่า 80 ล้านยูโร  ส่วนที่เหลือเป็นเนื้อจากพืชแช่แข็ง ( มูลค่า 3.4 ล้านยูโร) และเนื้อจากพืชแช่เย็น (มูลค่า 3.1 ล้านยูโร)  ขณะที่ โยเกิร์ตจากพืชมียอดขาย 42 ล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้น 55%   ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชและวีแกน จะขยายตัวระหว่าง 20%-30% ในช่วงปี 2564-2565 ในครอบครัวชาวสเปน

สำหรับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชจะอ้างอิงตามกฎระเบียบที่ใช้บังคับสินค้าอาหารทั่วไปของสหภาพยุโรป รวมถึงกฎระเบียบการให้ข้อมูลอาหารแก่ผู้บริโภค  เช่น อาหารที่ใช้ไขมันจากพืชจะห้ามใช้ถ้อยคำที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารที่ทำจากนมหรือผลิตภัณฑ์นม หรือห้ามผลิตภัณฑ์นมทดแทนใช้ชื่อที่แสดงว่าเป็นสินค้าเลียนแบบหรือทำให้เหมือนผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น

ความเห็นของ สคต.

การเติบโตของยอดขายของอาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based) ในสเปนสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่กำลังขยายตัว และยังมีช่องว่างทางการตลาดที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม Startup สามารถนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอาหารเข้ามาปรับเปลี่ยนการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญสำหรับส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้ามายังตลาดยุโรปรวมทั้งสเปนจำเป็นจะต้องคำนึงถึงมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการจะต้องศึกษา/ทำความเข้าใจ รวมถึงการติดฉลากรับรองผลิตภัณฑ์  Plant-based  เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด (มกราคม 2565), Proveg International Organization และ Ministry of Agriculture, Fisheries and Foods

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2