ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีกำลังความต้องการบริโภคสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปลายปีนี้ แม้ว่าขณะนี้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในตลาดสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในตลาดส่วนใหญ่คาดว่าผลประกอบการโดยรวมในปีนี้จะฟื้นตัวดีขึ้น

โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (United States Department of Commerce) รายงานตัวเลขยอดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางร้านค้าปลีกทั่วไป ช่องทางออนไลน์ และร้านอาหาร

Mr. Faucher ยังกล่าวว่า หากปัจจัยด้านการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในตลาดยังคงรักษาตัวในระดับสูงต่อเนื่องในระยะยาวอาจจะส่งผลกระทบต่อกำลังการซื้อของผู้บริโภคในตลาดทำให้ลดลง ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะซะลอการซื้อลงซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายสินค้าได้ อย่างไรก็ตาม หากฤผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการการจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานของกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพก็น่าจะช่วยให้สามารถสร้างจุดแข็งและช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายของกิจการได้มากขึ้น

ข้อมูลจากบริษัท Panjiva ผู้วิจัยด้านระบบห่วงโซ่อุปทานกล่าวว่า ผู้ประกอบการในตลาดบางส่วนได้ปรับตัวเพื่อรับกับแนวโน้มปัญหาด้านระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยมีคำสั่งซื้อสินค้าเร็วขึ้นราว 2 – 3 สัปดาห์จากช่วงปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านระบบขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในตลาดที่อาจจะทำให้ได้รับสินค้าล่าช้าทำให้มั่นใจว่าจะมีสินค้าเพียงพอสำหรับจำหน่ายในช่วงเทศกาลปลายปี ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านปัญหาในระบบการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานในตลาดยังมีส่วนส่งเสริมให้ยอดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ขยายตัวสูงขึ้นด้วย เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเลี่ยงปัญหาการได้รับสินค้าล่าช้า อย่างไรก็ตามคาดว่า เมื่อใกล้ถึงช่วงเทศกาลปลายปีผู้บริโภคในตลาดน่าจะหันไปเลือกซื้อสินค้าผ่านร้านค้ามากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับสินค้าทันสำหรับช่วงเทศกาล

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านการขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรมก็มีส่วนทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต่างต้องพยายามหาทางปรับตัวเพื่อรองรับความต้องการที่ขยายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจบริการร้านอาหารในสหรัฐฯ ที่ต่างกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมอย่างหนัก ซึ่งส่งผลกระทบให้ไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่ อีกทั้ง ปัจจัยด้านราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นประกอบกับแนวโน้มการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ เป็นผลให้ยอดจำหน่ายปลีกในกลุ่มธุรกิจบริการร้านอาหารในช่วงระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคมที่ผ่านมาขยายตัวได้ไม่เต็มศักยภาพอีกด้วย

บทวิเคราะห์: การค้าปลีกภายในประเทศเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนักชะลอตัวลงกว่าร้อยละ 30 เนื่องจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่างเกิดความกังวลและลดการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ เพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดประกอบกับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการใช้จ่ายภาคประชาชน ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันบางส่วนมีเงินเก็บเหลือเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อสหรัฐฯ เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนมากขึ้นในช่วงต้นปี 2564 สถานการณ์ด้านการแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้นชาวอเมริกันเริ่มสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติ ทำให้มีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการเพื่อทดแทนช่วงที่ต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตในเอเชียยังคงได้รับผลกระทบไม่สามารถผลิตและส่งออกสินค้าได้ตามปกติ ประกอบกับปัญหาด้านเรือและตู้ขนส่งสินค้าขาดแคลนจนเกิดผลกระทบลูกโซ่เป็นวงกว้าง

หากพิจารณาจากมูลค่าการนำเข้าพบว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2564 สหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 22.27 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา และคิดเป็นร้อยละ 10.20 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด แม้ว่าจีนจะยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ แต่ก็มีสัดส่วนการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าการอัตราการขยายตัวเฉลี่ยโดยรวมของสหรัฐฯ เนื่องจากจีนยังไม่สามารถขยายการผลิตสินค้าได้เต็มศักยภาพจากภาวะการแพร่ระบาดประกอบกับภาวการณ์ขนส่งที่ยังประสบปัญหาในตลาด รวมถึงนโยบายการกีดกันทางการค้าจากจีนของสหรัฐฯ เองด้วย ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในตลาดโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น เสื้อผ้า ของแต่งบ้าน และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งในอดีตนำเข้าจากจีนเป็นหลักต้องแสวงหาแหล่งนำเข้าแหล่งใหม่ทดแทนและเป็นอานิสงค์ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าวด้วย

อีกทั้ง แนวโน้มความต้องการบริโภคของผู้บริโภคชาวเมริกันที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปีนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าของขวัญของชำร่วย ของแต่งบ้านตามเทศกาล เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก รวมถึงกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในการขยายตลาดส่งออกเพื่อรองรับกำลังความต้องการผู้บริโภคในตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนกระทั่งต้นปี 2565 ตามแนวโน้มของนโยบายการเปิดประเทศของสหรัฐฯ ที่ทำให้การใช้ชีวิตของชาวอเมริกันเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในพื้นที่ซึ่งคาดว่าน่าจะมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมากในช่วงเทศกาลปลายปี และเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกกลุ่มสินค้าวัตถุดิบการปรุงอาหารไทยด้วย

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้องควรปรับตัวและใช้โอกาสจากการขยายตัวด้านอุปสงค์ในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาด เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคโดยให้ความสำคัญกับการควบคุมและบริหารการผลิตให้มีปริมาณสินค้าสม่ำเสมอถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับตลาดสหรัฐฯ ในปัจจุบัน นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารการจัดส่งสินค้าให้ตรงตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดรวมถึงการควบคุมต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้เกิดประสิทธิภาพก็จะช่วยให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดได้

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านความเคยชินของกลุ่มผู้บริโภคในตลาดผู้บริโภคชาวอเมริกันที่หันไปเลือกบริโภคสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงที่เกิดการแพรระบาดในช่วงต้นปี 2563 ยังน่าจะคงอยู่ต่อเนื่องแม้ว่าสถานการณ์ด้านการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ จะเริ่มดีขึ้นแล้วก็ตาม ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำตลาดส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ จึงควรพิจารณาเลือกใช้ช่องทางการค้าแบบออฟไลน์ควบคู่กับช่องทางการค้าออนไลน์เพื่อช่วยร่นระยะเวลาในการเจรจาการค้าและก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการขยายตลาดส่งออกไทยสูงสุดในอนาคต

อย่างไรก็ดี จากการขยายตัวด้านช่องทางการค้าแบบออนไลน์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายประเทศหันมาลงทุนเช่า warehouse เพื่อจัดส่งสินค้าและกระจายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้โดยตรง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าของขวัญของชำร่วย ของแต่งบ้านตามเทศกาล เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก รวมถึงกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มควรรวมตัวกันจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าวเพื่อรองรับการค้าในรูปแบบใหม่ซึ่งกำลังขยายตัวเป็นอย่างมากในภูมิภาคนี้

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (19 พฤศจิกายน 2564)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2