1. บทสรุปผู้บริหาร

          สหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออกเนื้อไก่ที่สำคัญของไทย เป็นตลาดส่งออกลำดับ 2 ของไทยรองจากญี่ปุ่น และเป็นลำดับ 1 ของไทยในยุโรป ในปี 2563 ไทยส่งออกไก่ไปยังสหราชอาณาจักรมูลค่าร่วม 539.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 16,740 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สินค้าไก่เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีมาตรการการนำเข้าทั้งในด้านการจำกัดปริมาณผ่านระบบโควต้านำเข้า ตลอดจนกฎระเบียบและมาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวด รวมถึง ประเด็นสิ่งแวดล้อม แรงงาน และสวัสดิภาพสัตว์ ล้วนเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคชาวอังกฤษให้ความสำคัญมาก

          ภายหลังจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ส่งผลให้ต้องมีการ เจรจาปรับแก้ไขตารางข้อผูกพันปริมาณโควตาภาษีโดยแบ่งสัดส่วนโควตาภาษีระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าไก่เป็นหนึ่งในสินค้าในตารางข้อผูกพันเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการเจรจาจนเสร็จสิ้นและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ส่งผลให้ไทยได้รับ ปริมาณโควตาที่แน่นอนจากสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจัดสรรให้ไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับ ผู้ส่งออกไทยสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิท 19 ในประเทศไทยนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้โรงงานผลิตไก่แปรรูปต้องหยุดการผลิตไปเกือบทั้งหมดซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณสต็อคของผู้นำเข้าในสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากไทยสามารถดำเนินการให้โรงงานจะสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้แม้ในช่วงที่ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่โดยใช้มาตรการ Bubble and Seal จะส่งผลให้ไทยยังคงรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้

          ประเด็นที่ทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไทยกำลังติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ การรณรงค์ ของภาคประชาสังคมหรือ NGOs ทั่วโลกจำนวน 29 องค์กรร่วมกันจัดทำบันทึกความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยน อุตสาหกรรมไก่เนื้อ หรือที่เรียกว่า Better Chicken Commitment (BCC) ล่าสุดมีบริษัทธุรกิจด้านอาหารรายใหญ่ในยุโรป อเมริกา แคนาดา และภูมิภาคอื่นๆ มากกว่า 100 บริษัท ได้ลงนามเข้าร่วมเห็นชอบกับ BCC แล้ว เช่น KFC, Nestle, Unilever, Burger King, Subway, Compass, M&S, Carrefour เป็นต้น ทั้งนี้จากการประเมินเบื้องต้น BCC จะส่งผลทั้งบวกและลบต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยใน 4 ด้าน ได้แก่ ประสิทธิภาพ/ต้นทุน ความสามารถในการแข่งขัน ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการนำเสนอสินค้า

          การที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสมาชิกภาพของอียู หรือ Brexit นับเป็นโอกาสที่ไทยจะขยายมูลค่า การส่งออกสินค้าไก่มายังสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การค้าของตน นอกจากนี้ปัจจุบัน ไทยและสหราชอาณาจักรได้จัดทำความร่วมมือจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้าน เศรษฐกิจและการค้า หรือ Joint Economic and Trade Committee (JETCO) ซึ่งนับเป็นช่องทางสำคัญในการ ผลักดันการขยายตลาดสินค้าไก่ในสหราชอาณาจักรให้มากขึ้น

2. ภาพรวมอุตสาหกรรมเนื้อไก่ในสหราชอาณาจักร

          เนื้อสัตว์ปีกได้รับความนิยมในการบริโภคสูงสุดในสหราชอาณาจักร คิดเป็นร้อยละ 41 รองลงมา          คือ เนื้อ หมู (ร้อยละ 30) เนื้อวัว (ร้อยละ 23) และ เนื้อแกะ (ร้อยละ 6) จากการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,000 คน โดย YouGov พบว่า ร้อยละ 51 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีการบริโภคเนื้อไก่ 1 ถึง 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ โดยเนื้อไก่ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค คือ เนื้อส่วนอก (ไม่มีหนัง) และไก่ทั้งตัว นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญต่อวิธีการฆ่า และผลกระทบของการบริโภคไก่ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจำนวน ร้อยละ 47 นิยมซื้อเนื้อไก่ที่ผลิตในสหราชอาณาจักร และยังหันมาบริโภคเนื้อไก่แบบ Organic มากขึ้นอีกด้วย

          สหราชอาณาจักรมีความสามารถในการผลิตเนื้อไก่ได้เฉลี่ย 1.7 ล้านตันต่อปี มีจำนวนไก่ออกสู่ตลาดเฉลี่ย 90-100 ล้านตัวต่อเดือน มีการจ้างงาน 73,200 คน นับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสองของยุโรปรองจากโปแลนด์ โดยฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน และอิตาลี มีการผลิตรองลงมาตามลำดับ ขณะที่ชาวอังกฤษบริโภคเนื้อไก่เฉลี่ยปีละ 2.1 ล้านตันต่อปี จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเฉลี่ยปีละ 4 แสนตันต่อปี โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์ของสหราชอาณาจักรมีปริมาณที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ราคาค้าปลีก

เนื้ออกไก่ 2 ชิ้น น้ำหนัก 380 กรัม ราคา 3.50 ปอนด์ /กิโลกรัมละ 9.22 ปอนด์
เนื้ออกไก่ชิ้นเล็ก น้ำหนัก 400 กรัม ราคา 3.50 ปอนด์ /กิโลกรัมละ 8.75ปอนด์
เนื้ออกไก่ออร์แกนิก และฟรีแลนช์ น้ำหนัก 300 กรัม ราคา 4.56 ปอนด์ กิโลกรัมละ 15.38 ปอนด์
เนื้ออกไก่ชิ้นเล็ก ออร์แกนิก น้ำหนัก 300 กรม ราคา 8.43 ปอนด์ กิโลกรัมละ 28.01 ปอนด์
ไก่ทั้งตัว น้ำหนัก 1.2 กิโลกรัม ราคา 3.50 ปอนด์ กิโลกรัมละ 2.92 ปอนด์

ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูป

เนื้ออกไก่ชุบขนมปัง น้ำหนัก 505 กรัม ราคา 4.50 ปอนด์/ กิโลกรัมละ 8.92 ปอนด์
เนื้ออกไก่หมักเครื่องเทศ (พริก มะนาว ขิง) น้ำหนัก 285 กรัม ราคา 4.25 ปอนด์ กิโลกรัมละ 14.92 ปอนด์

3. สถิติการนำเข้า-ส่งออกของสหราชอาณาจักร

          ในปี 2563 สหราชอาณาจักรนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (HS Code 02) คิดเป็นมูลค่า 4,886 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปี 2562 สำหรับในปี 2564 (ม.ค. – ก.ค.) สหราชอาณาจักรนำเข้าไก่สดมูลค่า 2,698.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าเรียงตามลำดับได้แก่ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ค ส่วนไทยเป็นอันดับ 17 (ตาราง 1)

          ในส่วนของไก่แปรรูป (HS Code 16) ในปี 2563 สหราชอาณาจักรนำเข้ามูลค่า 4,527.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับปี 2562 สำหรับในปี 2564 (ม.ค. – ก.ค.) สหราชอาณาจักรนำเข้าไก่แปรรูปมูลค่า 2,445.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.2 แหล่งนำเข้าได้แก่ ไทย โปแลนด์ เยอรมนี ไอร์แลนด์ บราซิล ตามลำดับ (ตาราง 2)

          ในปี 2563 สหราชอาณาจักรส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (HS Code 02) มูลค่า 2,325 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปี 2562 สำหรับในปี 2564 (ม.ค.-ก.ค) สหราชอาณาจักรส่งออกไก่สดมูลค่า 1,027.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกเรียงตามลำดับได้แก่ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ และส่งออกไปยังไทย 0.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ตาราง 3)

          ในส่วนของไก่แปรรูป (HS Code 16) ในปี 2563 สหราชอาณาจักรส่งออกมูลค่า 500.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปี 2562 สำหรับในปี 2564 (ม.ค. – ก.ค.) สหราชอาณาจักรส่งออกไก่สดมูลค่า 154.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 41.8 ตลาดส่งออกได้แก่ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย ตามลำดับ โดยไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 45 (ตาราง 4)

          สินค้าไก่ที่สหราชอาณาจักรนำเข้าจากไทยโดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าไก่แปรรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่ปรุงสุก (HS Code 160232) ซึ่งนำมาใช้ในธุรกิจการบริการด้านอาหาร (catering and food service) และใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทต่างๆ เช่น แซนวิช สลัด อาหารสำเร็จรูป ready meal เป็นต้น โดยไทยยังคงเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าไก่แปรรูป อันดับต้นของสหราชอาณาจักร โดยในปี 2563 สหราชอาณาจักรนำเข้าสินค้าไก่ และผลิตภัณฑ์จากไทยมูลค่า 571.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2564 (ม.ค. – ก.ค.) นำเข้าจากไทยแล้ว 334.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ตาราง 5)

ตารางที่ 1: การนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (HS Code 02) (มูลค่า: ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ประเทศ 2563 2564 (ม.ค. – ก.ค.) % 64/63 (ม.ค. – ก.ค.)
ทั่วโลก 4,886.7 2,698.6 -2.7
1. ไอร์แลนด์ 1,375.1 716.4 -3.0
2. เนเธอร์แลนด์ 933.2 478.3 -10.5
3. โปแลนด์ 509.3 271.5 -2.9
4. เยอรมนี 480.0 247.7 -10.1
5. เดนมาร์ค 484.1 238.4 -15.7
6. นิวซีแลนด์ 291.6 201.6 -0.0
7. เบลเยี่ยม 134.1 103.1 25.9
8. อิตาลี 125.9 84.9 30.3
9. สเปน 153.8 84.0 -3.4
10. บราซิล 95.0 83.7 52.4
17. ไทย 12.1 7.5 -5.7

ตารางที่ 2 การนำเข้าไก่แปรรูป (HS CODE 16) (มูลค่า: ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณ:ตัน)

ประเทศ 2563 2564 (ม.ค. – ก.ค.) % 64/63 (ม.ค. – ก.ค.)
ทั่วโลก 4,527.4 2,445.9 -4.2
1. ไทย 621.6 358.4 -1.2
2. โปแลนด์ 457.5 325.0 29.9
3. เยอรมนี 648.7 273.9 -26.4
4. ไอร์แลนด์ 506.8 204.7 -28.2
5. บราซิล 206.1 130.4 10.9
6. เนเธอร์แลนด์ 246.4 121.1 -15.9
7. เดนมาร์ค 274.1 108.4 -24.4
8. ฝรั่งเศส 186.9 101.6 5.8
9. เอกวาดอร์ 106.9 96.3 109.6
10. สเปน 183.8 88.9 -23.0

ที่มา : Global Trade Atlas

ตารางที่ 3 การส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (HS Code 02) (มูลค่า: ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ประเทศ 2563 2564 (ม.ค. – ก.ค.) % 64/63 (ม.ค. – ก.ค.)
ทั่วโลก 2,325.0 1,027.8 -20.8
1. จีน 368.4 235.7 14.1
2. ฝรั่งเศส 359.3 219.3 11.9
3. เยอรมนี 177.5 80.3 -24.3
4. ไอร์แลนด์ 448.9 75.9 -69.6
5. เนเธอร์แลนด์ 214.6 65.8 -46.3
6. เบลเยี่ยม 99.3 49.2 -18.1
7. ฟิลิปปินส์ 32.2 47.4 185.6
8. ฮ่องกง 102.3 46.7 -17.0
9. สหรัฐอเมริกา 36.8 21.5 3.2
10. แคนาดา 38.8 18.1 -23.4
51. ไทย 1.6 0.8 -41.6

ตารางที่ 4 การส่งออกไก่แปรรูป (HS CODE 16) (มูลค่า: ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

ประเทศ 2563 2564 (ม.ค. – ก.ค.) % 64/63 (ม.ค. – ก.ค.)
ทั่วโลก 500.8 154.9 -41.8
1. ไอร์แลนด์ 236.1 40.4 -67.1
2. ฝรั่งเศส 27.6 19.1 28.2
3. เกาหลีใต้ 25.2 18.2 4.0
4. เนเธอร์แลนด์ 20.6 10.8 22.5
5. ออสเตรีย 12.1 8.3 30.2
6. อิตาลี 15.9 7.1 -20.2
7. เดนมาร์ค 5.7 4.8 29.8
8. เยอรมนี 33.8 4.3 -73.4
9. นอร์เวย์ 4.5 4.2 63.7
10. ฮ่องกง 6.1 3.9 12.7
45. ไทย 0.2 0.8 -55.0

ตารางที่ 5 สหราชอาณาจักรนำเข้าเนื้อไก่จากไทย (มูลค่า: ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

HS 2563 2564 (ม.ค. – ก.ค.) % 64/63 (ม.ค. – ก.ค.)
021099 ไก่หมักเกลือ. 7.3 2.8 -55.7
160232 ไก่ปรุงสุก 571.7 334.8 0.1
160239 เนื้อเป็ดและห่าน 10.4 7.5 19.1

ที่มา : Global Trade Atlas

4. ประเด็นกฎระเบียบและการรณรงค์ของภาคประชาสังคม

4.1 ระบบโควตาภาษีหลัง Brexit

ที่ผ่านมาสินค้าไก่เป็นหนึ่งในสินค้าภายใต้ข้อผูกพันตารางข้อผูกพันของสหภาพยุโรป การแยกตัวของ สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีที่ ไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญ ประเทศไทยโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการเจรจาแก้ไขจนเสร็จสิ้นและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ผลประโยชน์จากการแก้ไขและจัดทำตารางข้อผูกพันทางภาษีใหม่ภายใต้องค์การการค้าโลกมีดังนี้

  • ปริมาณการจัดสรรโควตาใหม่ทำให้ไทยทราบปริมาณโควตาที่แน่นอน ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้ ส่งออกสามารถปรับตัวและวางแผนธุรกิจในการส่งออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ปริมาณที่สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจัดสรรให้แก่ไทย เป็นไปตามที่ผู้ประกอบการต้องการ และ สอดคล้องกับการส่งออกของไทย ซึ่งไม่น้อยไปกว่าที่ไทยเคยได้รับ

รายละเอียดโควตาภาษีในสินค้าไก่ดังตาราง 6

4.2 การควบคุมด้านสุขอนามัยของเนื้อไก่ของสหราชอาณาจักร

  • การส่งออกสินค้าไก่ไปยังสหราชอาณาจักร จะต้องมีใบรับรองสุขอนามัย (Animal Health and Public Health Certificate) ตามแบบฟอร์มที่กำหนด และลงนามรับรองโดยกระทรวงเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบของไทย
  • สหราชอาณาจักรมีด่านตรวจสอบ (Border Inspection Post) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมด้านสัตว์แพทย์ โดยเป็นการตรวจสอบสัตว์ที่มีชีวิตหรือสินค้าที่ทำมาจากสัตว์ที่นำเข้าซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของ ความปลอดภัยทางด้านอาหาร (Food Safety)
  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อาจสามารถทำการสอบถามหรือตรวจสอบข้อมูล ได้แก่ The Animal and Plant Health Agency (APHA) เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ the Department for Environment Food and Rural Affairs (Defra) มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรื่องการนำเข้าสินค้าสัตว์ที่มีชีวิตหรือสินค้าที่ทำมาจากสัตว์ Animal and Plant Health Agency – GOV.UK (www.gov.uk)

ตารางที่ 6 รายการปริมาณโควตาและอัตราภาษีในและนอกโควตาของสินค้าไก่

พิกัดศุลกากร รายละเอียดสินค้า ประเทศผู้ ส่งออก ปริมาณ โควตา (ตัน) อัตราภาษี
ในโควตา
(ร้อยละ)
อัตราภาษี
นอกโควตา
(ปอนด์/กก)
02071410 ชิ้นส่วนไก่สดแช่เย็นจนแข็ง -ไม่มีกระดูก โควตาทั่วไป 278 0 85/100
02071410 02071450 02071470 ชิ้นส่วนไก่สดแช่เย็นจนแข็ง – ไม่มีกระดูก – ส่วนอก – ส่วนอื่นๆ โควตาทั่วไป 2,029 0 0 0 85/100 50/100 84/100
02109939 ไก่หมักเกลือ โควตาไทย 10,642 15.4 107/100
16023219 เนื้อไก่ปรุงสุก โควตาไทย 106,167 8 856/1,000
16023230 เนื้อไก่แปรรูปที่มีสดส่วนเนื้อไก่ มากกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 57 โควตาไทย 11,565 10.9 2,313/1,000
16023290 เนื้อไก่แปรรูปที่มีสดส่วนเนื้อไก่ มากกว่าร้อยละ 25 โควตาไทย 160 10.9 2,313/1,000
16023921 เนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูป (ดิบ) ที่มีสัดส่วนเนื้อมากกว่า ร้อยละ 57 โควตาไทย 0 2,313/1,000
16023929 เนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูป (สุก) ที่มีสัดส่วนเนื้อมากกว่าร้อยละ 57 โควตาไทย 4,928 10.9 2,313/1,000
16023985 เนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูป (สุก) ที่มีสัดส่วนเนื้อมากกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 57 โควตาไทย 300 10.9 2,313/1,000
16023985 เนื้อเป็ด ห่าน ไก่กินีแปรรูป (สุก) ที่มีสัดส่วนเนื้อมากกว่าร้อยละ 25 โควตาไทย 322 10.9 2,313/1,000

4.3 การรณรงค์ของ NGOs ประเด็น Better Chicken Commitment

  • ในช่วงที่ผ่านมา NGOs หลายรายในสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักรได้ดำเนินการ ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ต่อผู้บริโภคและธุรกิจที่มีการใช้เนื้อไก่หรือผลิตภัณฑ์ไก่ในเรื่องสุขภาวะ (Welfare) ของโรงเลี้ยงไก่ โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2026 (พ.ศ.2569) อุตสาหกรรมการผลิตไก่ในสหภาพยุโรป และสหราช อาณาจักรจะเป็นไปตามมาตรฐาน (Better Chicken Commitment) ที่ NGOs กลุ่มนี้เรียกร้องทั้งหมด
  • ในปัจจุบันมีบริษัทค้าปลีกและธุรกิจอาหารหลายรายเข้าร่วมลงชื่อในการใช้มาตรฐานตามข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยมีซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในสหราชอาณาจักร อาทิ Waitrose, M&S เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และมีกลุ่มธุรกิจอาหารรายใหญ่ในสหราชอาณาจักร เช่น KFC, GREGGs, Nando’s, Pizza Express, CGD Groups เป็นต้น เข้าร่วมโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจอาหารและค้าปลีกในสหภาพยุโรปหลายรายเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เช่น Sodexo, Danone, Nestle, Unilever, Carrefour, Lidl และ Aldi เป็นต้น
  • มาตรฐานดังกล่าวเรียกร้องให้มีการจัดมาตรฐานโรงเลี้ยงและโรงเชือดเพิ่มเติม ดังนี้ (1) ต้องมี มาตรฐานเป็นไปตามกฎระเบียบของ EU ในเรื่อง Animal Welfare (2) จำกัดจำนวนไก่ในแต่ละโรงเลี้ยงให้เหมาะสม (3) ใช้ไก่สายพันธุ์ที่เติบโตช้า (4) มีการปรับปรุงโรงเลี้ยงให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี (5) ปรับปรุงการเชือดให้ไก่มีความเครียดน้อยลง และ (6) มีการตรวจมาตรฐานโดยบุคคลที่สามเป็นระยะ
  • จากการประเมินเบื้องต้น BCC จะส่งผลทั้งบวกและลบต่ออุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยใน 4 ด้าน ได้แก่ ประสิทธิภาพ/ต้นทุน ความสามารถในการแข่งขัน ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และ รูปแบบการนำเสนอสินค้า

หมายเหตุ สามารถศึกษาข้อมูล Better Chicken Commitment เพิ่มเติมได้ที่ https://thehumaneleague.org.uk/article/what-is-the-better-chicken-commitment และโครงการ Better Chicken (https://betterchicken.org.uk/)

ความเห็น/ข้อเสนอแนะ

1. สหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออกไก่อันดับสองของไทยรองจากญี่ปุ่น และอันดับหนึ่งของไทยในยุโรป การที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสมาชิกภาพของอียู หรือ Brexit นับเป็นโอกาสที่ไทยจะขยายมูลค่าการ ส่งออกสินค้าไก่มายังสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีอิสระในการกำหนดนโยบายการค้าของตน นอกจากนี้ปัจจุบัน ไทยและสหราชอาณาจักรได้จัดทำความร่วมมือจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า หรือ Joint Economic and Trade Committee (JETCO) ซึ่งนับเป็นช่องทางสำคัญในการผลักดัน การขยายตลาดสินค้าไก่ในสหราชอาณาจักรให้มากขึ้น

2. การปิดโรงงานเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิท 19 นับจากเดือนกรกฎาคม 2564 ได้ส่งผลกระทบต่อสต็อคของผู้นำเข้ารายใหญ่ในสหราชอาณาจักร ผู้นำเข้าจึงต้องหาแหล่งนำเข้าจากประเทศอื่นมา

แทน ซึ่งหากไทยปล่อยให้เกิดขึ้นโดยไม่ดำเนินการอย่างใดจะส่งผลเสียต่อการส่งออกของไทยทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

3. ผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรมีความอ่อนไหวมากกับประเด็นทางด้านสังคม ซึ่งส่งผลให้ผู้ค้าและนักธุรกิจ ต้องนำประเด็นเหล่านี้มาเป็นปัจจัยในการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การส่งออกของไทยอาจได้รับ ผลกระทบในอนาคตหากไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เกี่ยวกับเรื่อง Better Chicken Commitment ผู้ประกอบการไทยยังมีระยะเวลาปรับตัวได้อีกระยะหนึ่งจนถึงปี พ.ศ. 2569 หรือ ค.ศ. 2026

4. การดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารของไทย ซึ่งรวมถึงสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์จะมีส่วน ช่วยในการกระตุ้นความต้องการการบริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและประชาสัมพันธ์สินค้าไก่ และผลิตภัณฑ์ของไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดสหราชอาณาจักรมากขึ้น อาทิ กิจกรรมการส่งเสริมการขายร่วมกับ ห้างสรรพสินค้า/ผู้นำเข้า การจัดคณะผู้ซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ต/ผู้นำเข้าเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านอาหาร (THAIFEX) การนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าด้านอาหารในสหราชอาณาจักร เช่น International Food and Drink Exhibition (IFE) เพื่อศึกษาทิศทางและแนวโน้มของตลาด และพบปะเจรจากับคู่ค้าธุรกิจที่มีศักยภาพ รวมถึงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่และส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์ของไทยในงานแสดงสินค้าไทยตามเมืองสำคัญต่างๆ ในสหราชอาณาจักร

ที่มาข้อมูล: รายงานข่าวเด่นจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน (ต.ค. 2564)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2