ข้อมูลบริษัท Petco ผู้จำหน่ายปลีกสินค้าสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ในสหรัฐอเมริการายงานปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยพบว่ามีจำนวนครอบครัวชาวอเมริกันที่มีสัตว์เลี้ยงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และกว่าหนึ่งในสามของครอบครัวชาวอเมริกันที่เลี้ยงสัตว์อยู่แล้วยังเพิ่มจำนวนสัตว์เลี้ยงในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้บริโภคในตลาดยังนิยม และกล้าที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการคุณภาพสูงเกรดพรีเมี่ยมสำหรับสัตว์เลี้ยงของตนอีกด้วย

ในขณะที่การขยายตัวของตลาดค้าปลีกสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นอานิสงค์จากกลุ่มประชากรผู้สูงอายุมักจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพื่อคลายเหงา กระแสการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงแบบให้ความรักและการดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงเปรียบเสมือนเป็นบุคคนในครอบครัว หรือที่ เรียกว่า “Pet Humanization” ก็เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ตลาดค้าปลีกสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ ขยายตัวด้วย โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยงมากเป็นพิเศษ และมักจะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ปกครองสัตว์เลี้ยง (Pet Parents) ทำให้กล้าที่จะใช้จ่ายเงินเพื่อเลือกซื้อสินค้าและบริการคุณภาพสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงของตนได้ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรกลุ่ม Millennials และ Generation Z ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญและมีสัดส่วนใช้จ่ายเงินสำหรับสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ สูงสุดคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยระหว่าง 107.85 – 173.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน รองลงมา ได้แก่ กลุ่ม Generation X เฉลี่ยประมาณ 102.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และ Baby Boomer เฉลี่ยประมาณ 80.43 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนตามลำดับ

โดยกระแส Pet Humanization ที่เกิดขึ้นในตลาดสนับสนุนให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการบริโภคสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูงที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้นเช่นเดียวกับกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบันสนใจเลือกบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าสดใหม่มากขึ้น กลุ่มผู้บริโภคสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงก็มีแนวโน้มสนใจสนใจเลือกซื้อสินค้ากลุ่มดังกล่าวให้กับสัตว์เลี้ยงของตนเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะเห็นได้จากแนวโน้มการขยายตัวของมูลค่าตลาดอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงสหรัฐฯ ที่ล่าสุดขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดทั้งหมดเป็นสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงประเภทคุณภาพสูงเกรดพรีเมี่ยม เช่น แบรนด์ Blue Buffalo แบรนด์ Taste of the Wild และแบรนด์Farmer’s Dog เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นทิศทางแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสำหรับปี 2565 โดยบริษัท AMD ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในสหรัฐฯ ยังพบข้อมูลที่รายงานในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนามีอิทธิพลสำคัญต่อพฤติกรรมและแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในตลาด ทำให้มีความต้องการใจบริโภคสินค้ากลุ่มสินค้าอาหารโปรตีนจากพืช อาหารปลอดสารพิษอาหารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และอาหารเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น โดยแนวโน้มดังกล่าวยังได้ขยายตัวไปสู่กลุ่มสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย โดยพบว่าร้อยละ 30 ของกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันที่มีสัตว์เลี้ยงมักจะใช้เวลาศึกษาหาข้อมูลรายละเอียดสินค้าต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเลือกสินค้าที่ดีที่สุดให้กับสัตว์เลี้ยงของตนได้ อีกทั้งยังคาดว่า กระแส Pet Humanization ที่เกิดขึ้นในตลาดปัจจุบันจะขยายตัวต่อเนื่องไปถึงปีหน้า และส่งผลดีต่อการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงในอนาคต

นอกจากนี้ กระแสการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของผู้บริโภคในตลาด ยังทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมักจะเลือกซื้อสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยพิจารณาถึงรายละเอียดวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับบรรจุสินค้าด้วย Ms. Melissa Bauer ตำแหน่งDirector of Strategic Initiatives and Sustainability Programs องค์กร The Pet Sustainability Coalition (PSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานผลักดันและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการประกาศเจตนารมย์ของผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในตลาด ซึ่งขยายตัวไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่นบริษัท Nestle บริษัท Unilever และบริษัท Mars เป็นต้น โดยแนวโน้มดังกล่าวยังสอดคล้องกับแนวนโยบายขององค์การสหประชาชาติที่ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้พลาสติกจากวัสดุนำกลับมาใช้ (Recycle) พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Refllable) หรือพลาสติกย่อยสลายได้ (Composable) ให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2568 และสนับสนุนให้ลดการใช้พลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นผ่านการออกแบบ เทคโนโลยี และการจัดส่งที่ทันสมัย เป็นต้น

อีกทั้ง ผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดยังสนใจสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงที่แสดงข้อมูลประวัติเรื่องราวของบริษัทและข้อมูลประกอบรวมถึงภาพกราฟิกที่น่าสนใจ เช่น บรรจุภัณฑ์สินค้าขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงแบรนด์ Zuke’s ที่ระบุประวัติบริษัท ข้อมูลรายละเอียดส่วนประกอบสินค้า ด้วยรูปภาพกราฟฟิกที่น่าสนใจนอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสนใจสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่ใช้บรรจุภัณฑ์ออกแบบน่าสนใจ สะดวกต่อการใช้งาน   เก็บรักษาและสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Resealable) เช่น สินค้าน้ำซุปสำหรับสัตว์เลี้ยงแบรนด์ Merrick ที่บรรจุในถุง Pouch ซึ่งประหยัดพื้นที่ทำให้การเก็บรักษาสะดวกและมีฝาปิดหากใช้ไม่หมดสามารถเก็บรักษาและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น

บทวิเคราะห์

ตลาดสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด เนื่องจากชาวอเมริกันบางส่วนหันไปเลือกเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นกิจกรรมคลายเหงาและรับมือกับความกดดันและความเครียดในช่วงระหว่างที่ต้องจำกัดการเดินทางออกนอกบ้านจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ตลาดสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯขยายตัวเพิ่มขึ้นจากมูลค่าทั้งสิ้น 9.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เป็น 4.91 หมี่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569 หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.93 ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัขและแมวประเภทคุณภาพสูงเกรดพรีเมียมแล้วพบว่า มีแนวโน้มขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11 และร้อยละ 12 ต่อปีตามลำดับ

ในระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2564 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากลุ่มสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่าทั้งสิ้น 1.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในตลาดสหรัฐฯ มูลค่าส่งออกทั้งสิ้น431.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 25.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน36.76 ของมูลค่าตลาดนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยส่วนที่เหลือสหรัฐฯ นำเข้าจากแคนาดา (ร้อยละ 23.33) จีน(ร้อยละ 12.70) เวียดนาม (ร้อยละ 5.1 1) และนิวซีแลนด์ (ร้อยละ 3.36) ตามลำดับ ทั้งนี้ไทยมีจุดแข็งจากการมีฐานอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าอาหารทะเลขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสินค้าปลาทูน่าซึ่งสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นสินค้าผลพลอยได้ (Byproduct) จากอุตสาหกรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงส่งออกจากไทยไปตลาดสหรัฐฯส่วนมากเป็นสินค้ากลุ่มทั่วไป ซึ่งแม้ว่าจะยังมีโอกาสในการขยายตลาดในอนาคต แต่ก็มีแนวโน้มอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงเกรดพรีเมี่ยม ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมจึงอาจจะพิจารณาปรับเพิ่มสายผลิตภัณฑ์สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงประเภทคุณภาพสูง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงในอนาคต อีกทั้งแนวโน้มการขยายตัวของตลาดสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูงยังน่าจะมีผลดีต่อผู้ประกอบการไทยในกลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงแบบเกรดพรีเมี่ยมรายการอื่นด้วย เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับสัตว์เลี้ยง ปลอกคอ สายจูง กรง เบาะที่นอนรถเข็น และผ้ารองการขับถ่าย เป็นต้น

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกันในตลาดให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และปลอดภัยทั้งกับตนเองและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยซึ่งถือว่ามีความได้เปรียบและมีสัดส่วนส่งออกในตลาดสหรัฐฯ สูงที่สุด อีกทั้งยังมีความได้เปรียบในการเข้าถึงกลุ่มวัตถุดิบการผลิตสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพสูงในระดับราคาที่เหมาะสม เช่น เนื้อปลา ผัก และธัญพืชที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงควรที่จะพิจารณาปรับตัวทางธุรกิจเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5 ปี

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรพิจารณาให้ความสำคัญกับการปรับปรุงรูปแบบบรรจุภัณฑ์ โดยเน้นการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้ชีวิตสำหรับผู้บริโภคในตลาดปัจจุบันที่ต้องการบริโภคสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงที่สามารถเก็บรักษา และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย อีกทั้งหากสามารถพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความเหมาะสมกะทัดรัด ใช้ปริมาณพื้นที่ขนส่งและเก็บสินค้าไม่มาก ก็น่าจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในตลาดการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯได้อีกด้วย เนื่องจากสินค้ากลุ่มอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงถือว่ามีการแข่งขันที่ค่อนข้างเสรี สหรัฐฯมีนโนบายยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากทุกประเทศในกลุ่มทั่วไป ในขณะที่จีนซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาด สหรัฐฯยังคงดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากจีนในอัตราร้อยละ 25

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันประเด็นด้านความโปร่งใสในการดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ จะยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก ด้วยกระแสความนิยมหลักการดำเนินธุรกิจแบบESG (Environmental, Social and Corporate Governance) ของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ให้ความสนใจและมักจะเลือกพิจารณาสนับสนุนสินค้าที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลของกิจการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่ากระแสดังกล่าวจะขยายตัวไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นด้านหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานในอุตสาหกรรม ซึ่งต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในตลาดและป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ นำประเด็นดังกล่าวมาใช้ในการกีดกันการนำเข้าสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวสำหรับสัตว์เลี้ยงของไทยซึ่งมีสัดส่วนตลาดค่อนข้างสูงในปัจจุบัน

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (ธันวาคม 2564)
Seeking Alpha และ Pet Food Processing

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2