ผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์ในตลาดสหรัฐฯ คาดว่า สัดส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicles หรือ EVs) ในสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดในสหรัฐฯ ภายในปี 2573 โดยแนวโน้มดังกล่าวเป็นไปตามทิศทางนโยบายด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในปัจจุบัน

รายงานการสำรวจตลาดอุตสาหกรรมรถยนต์ประจำปีครั้งที่ 22 โดยบริษัท KPMG (KPMG’s 22nd annual Global Automotive Executive Survey) ซึ่งได้เก็บข้อมูลจากการสอบถามผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผลิตและจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ทั่วโลกมากกว่า 1,100 รายระบุว่า กลุ่มผู้บริหารในอุตสาหกรรมพยากรณ์ สัดส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 52 ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับประเทศจีน และญี่ปุ่นที่มีอัตราการขยายตัวของตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสูงในปัจจุบัน

โดยผลการสำรวจดังกล่าวอาจจะสวนทางกับอัตราการเพิ่มจำนวนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Adoption Rate) ในสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่ยังมีสัดส่วนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าน้อยในประเทศเมื่อเทียบกับประเทศอื่นโดยเฉพาะจีน อย่างไรก็ตาม จากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้แถลงกำหนดเป้าหมายการเพิ่มจำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดในสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ในตลาดต่างขานรับกับนโยบายดังกล่าว โดยบริษัท Ford Motor และบริษัท General Motor ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นร้อยละ 40 และ ร้อยละ 50 ตามลำดับภายในปี 2573 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักวิเคราะห์ในตลาดจะเห็นด้วยว่าสหรัฐฯ จะสามารถผลักดันการขยายตัวของสัดส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในตลาดได้อย่างรวดเร็วในอนาคตก็ตาม แต่บางส่วนเห็นว่าการที่สหรัฐฯ จะบรรลุเป้าหมายได้ตามที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนตั้งเอาไว้นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายมากและเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าร้อยละ 73 ของกลุ่มผู้บริหารบริษัทรถยนต์ยังเห็นว่า ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ จะบรรลุจุดเสมอภาคด้านราคา (Price Parity) ภายในปี 2573 และร้อยละ 77 มองว่าราคาสินค้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ จะมีระดับราคาในตลาดที่สมดุลทำให้อุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนด้านการขายจากรัฐบาลซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ ยังคงต้องพึ่งพาโครงการสนับสนุนจากรัฐบาลในรูปของเงินภาษีซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

Mr. Gary Silberg ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ บริษัท KPMG ระบุว่า ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ ปัจจุบันมีแนวโน้มที่สดใสมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ โดยการลงทุนในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้มีจำนวนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในตลาดเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ปัจจัยด้านสถานีชาร์จพลังงานยังคงเป็นปัจจัยถ่วงการขยายตัวของตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯ มีสถานีชาร์จพลังงานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเร่งด่วนไม่เกิน 30 นาทีสำหรับการเดินทางไกลไม่มากนัก ทั้งนี้ ปัจจุบันสหรัฐฯ มีสถานีชาร์จพลังงานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเร่งด่วนเพียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของทั้งหมด โดยส่วนมากกว่าร้อยละ 80 เป็นสถานีชาร์จพลังงานประเภททั่วไปที่ใช้ระยะเวลาการเติมพลังงานนานมากกว่าครึ่งชั่วโมงในแต่ละครั้ง

นอกจากนี้ แนวโน้มการขยายตัวของตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าดังกล่าวยังน่าจะดึงดูดให้เกิดกลุ่มธุรกิจในลักษณะ Start Ups ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารายใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดมากนักเนื่องจากกลุ่มธุรกิจรายใหม่ขนาดเล็กที่มีศักยภาพส่วนใหญ่มักจะถูกซื้อหรือถูกควบรวมเข้ากับผู้ประกอบการรายใหญ่ในอนาคต

โดยปัจจุบันมีจำนวนธุรกิจรายใหม่ในลักษณะ Startups ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดหลายรายแล้ว เช่น บริษัท Rivian สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Irving รัฐแคลิฟอร์เนีย บริษัท Lucid สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Newark รัฐแคลิฟอร์เนีย บริษัท Canoo สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Torrance รัฐแคลิฟอร์เนีย บริษัท Fisker สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Manhattan Beach รัฐแคลิฟอร์เนีย และบริษัท Lordstown Motors สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Lordstown รัฐโอไฮโอ เป็นต้น

อีกทั้ง รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า ผู้บริหารในอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าร้อยละ 53 ยังมีความเชื่อมั่นว่า อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะยังคงมีสัดส่วนกำไรสูงในอีก 5 ปีข้างหน้าในขณะที่     ร้อยละ 38 ยังคงกังวลกับสถานการณ์และแนวโน้มตลาด โดยตลาดที่อุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวสูง ได้แก่ สหรัฐฯ และจีน รองลงมา ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น และบราซิล ส่วนประเทศฝรั่งเศส และอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวไม่มากนัก

บทวิเคราะห์: สหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แม้ว่าปัจจุบันสหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับการใช้รถยนต์พลังงานสะอาดเพื่อรักษาสภาพก็ตาม แต่กลับพบว่าสัดส่วนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ ยังมีสัดส่วนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะในทวีปยุโรป โดยปัจจุบันคาดว่า มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าใช้งานอยู่ในสหรัฐฯ ทั้งสิ้นเพียง 1.8 ล้านคันหรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.6 ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในสหรัฐฯ เท่านั้น โดยปัจจัยสำคัญที่อุปสรรคต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ได้แก่ ปัจจัยด้านราคาจำหน่ายในตลาดที่ค่อนข้างสูง ปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายบริการหลังการขายโดยเฉพาะการเปลี่ยนแบตตารี ปัจจัยด้านสถานีชาร์จพลังงานและระยะเวลาในการชาร์จ รวมถึงปัจจัยด้านความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาพลังงานน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันประกอบกับนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่งจะพิจารณาผ่านร่างกฎหมายงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศเป็นมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งของงบประมาณดังกล่าวจะใช้สำหรับการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จพลังงานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วสหรัฐฯ ทั้งสิ้น 5 แสนแห่งทั่วประเทศเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของจำนวนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังกันงบประมาณทั้งสิ้น 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับสนับสนุนการขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศในรูปของภาษีซื้อ (Tax Credit) คันละไม่เกิน 1.25 หมื่นดอลลาร์สหรัฐด้วย โดยนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐดังกล่าวน่าจะส่งผลทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดมีผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดมากขึ้นทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทันสมัยในอุตสาหกรรมและน่าจะทำให้ระดับราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าปรับตัวลดลงสามารถแข่งขันกับรถยนต์พลังงานน้ำมันได้ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น

แนวโน้มตลาดดังกล่าวจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไทยสำหรับขยายตลาดและเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ศักยภาพหลักของไทย โดยในระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2564 ไทยมียอดส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 817.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 100.31 เมื่อเทียบกันช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: แม้ว่าภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในปัจจุบันจะยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงดังกล่าวที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนในหลายพื้นที่ทำให้กลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคชะลอตัวด้านการลงทุนและการบริโภคเพื่อประเมินสถานการณ์ก็ตาม แต่ในภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยด้านความขาดแคลนสินค้ารถยนต์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเทอร์และปัญหาในอุตสาหกรรมการขนส่ง ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารจัดการการผลิตและการจัดส่งสินค้าได้ตามความต้องการของผู้ประกอบการในตลาดสหรัฐฯ ก็น่าจะเป็นโอกาสให้สามารถขยายตลาดส่งออกในสหรัฐฯ ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ สินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ศักยภาพของไทยที่มีอัตราการส่งออกขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ในปีนี้ ได้แก่ เพลาล้อรถ (+ร้อยละ 128.09) ล้อรถ (ร้อยละ 160.76) พวงมาลัย (ร้อยละ 79.00) ตัวถัง (ร้อยละ 76.28) ระบบรองรับแรงกระแทกช่วงล่าง (ร้อยละ 56.79) และระบบถุงลมนิรภัย (ร้อยละ 40.25) เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่อง เช่น ยางรถยนต์ แบตตารี และอุปกรณ์สำหรับการชาร์จพลังงานก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดด้วย

ในภาพรวมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าน่าจะมีบทบาทมากขึ้นและเข้ามาแทนที่กลุ่มรถยนต์พลังงานน้ำมันทั้งในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงตลาดในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเองมีระบบการขับเคลื่อนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตและชิ้นส่วนการผลิตแตกต่างจากรถยนต์พลังงานน้ำมันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะชิ้นส่วนเซมิคอนดักเทอร์ซึ่งการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้องการใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเทอร์มากกว่าการผลิตรถยนต์พลังงานน้ำมันถึงกว่า 2 เท่า จึงคาดว่าในอนาคตจะมีความต้องการนำเข้าสินค้าเซมิคอนดักเทอร์สำหรับสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจึงควรที่จะเตรียมความพร้อมทั้งด้านระบบสาธารณูปโภคและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเพื่อรองรับตลาดและแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (ธันวาคม 2564)
สำนักข่าว CNBC

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2