บริษัท Goldman Sachs ผู้ประกอบการวาณิชธนกิจ (Investment Banking) รายใหญ่ในสหรัฐฯ รายงานแนวโน้มตลาดผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการลดการปลดปล่อยก๊าซของเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศ (Net-Zero) จะทำให้พลังงานจากไฮโดรเจนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดและจะผลักดันให้มูลค่าตลาดพลังงานไฮโดรเจนจะขยายตัวเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีหรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของมูลค่าการบริโภคพลังงานทั้งหมดภายในปี 2593

Mr. Michele DellaVigna หัวหน้ากลุ่มตราสารสินค้าโภคภัณฑ์บริษัท Goldman Sachs กล่าวว่า การที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซของเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก (Net-Zero) ได้นั้น การให้ความสำคัญเฉพาะการเลือกใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power) เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียนควบคู่กับการใช้พลังงานจากไฮโดนเจนจึงน่าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเนื่องจากพลังงานไฮโดรเจนมีความสะอาดสูงและสามารถทดแทนพลังงานจากก๊าซธรรมชาติได้ อีกทั้ง กระบวนการผลิตยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยด้านฤดูกาลและความต่อเนื่องในกระบวนการผลิตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบการผลิตน้ำมันจากฟอสซิลอีกด้วย

ทั้งนี้ พลังงานจากไฮโดรเจนสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้แทบจะทุกกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมการสร้างพลังงานความร้อน และอุตสาหกรรมหนัก อย่างไรก็ตาม กระบวนการผลิตพลังงานไฮโดรเจนบางวิธีอาจจะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น อุตสาหกรรมที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่จึงมักจะเลือกใช้พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และพลังงานไฮโดรเจนสีฟ้า (Blue Hydrogen) เป็นหลัก

ข้อมูลจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (the International Energy Agency หรือ IEA) ระบุว่า กรรมวิธีการผลิตพลังงานจากไฮโดรเจนในปัจจุบันมีหลากหลายวิธีโดยจะแบ่งออกเป็นสีตามกระบวนการผลิต ได้แก่ พลังงานไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) พลังงานไฮโดรเจนสีฟ้า (Blue Hydrogen) พลังงานไฮโดรเจนสีน้ำตาล (Brown Hydrogen) และพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen)

โดยวิธีการผลิตไฮโดรเจนที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือใช้พลังงานไฟฟ้ากระตุ้นน้ำให้เกิดการแตกตัวของสารออกซิเจนและสารไฮโดรเจน (Electrolysis) ซึ่งหากพลังงานที่ใช้ในการแยกไฮโดรเจนมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เช่น พลังงานจากลม (Wind Power) หรือพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) พลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตได้ดังกล่าวจะถูกเรียกว่า พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) หรือพลังงานไฮโดรเจนหมุนเวียน (Renewable Hydrogen)

ส่วนพลังงานไฮโดรเจนสีฟ้ามาจากกระบวนการกลั่นก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันจากฟอสซิล ซึ่งกรรมวิธีการผลิตนี้จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างกระบวนการผลิต ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องทำการกักเก็บก๊าซของเสียไม่ให้ออกสู่ชั้นบรรยากาศและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการถกเถียงกันเป็นวงกว้างว่ากรรมวิธีการผลิตดังกล่าวจะสามารถช่วยให้ลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซของเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ตามเป้าหมายระยะยาวหรือไม่

Mr. DellaVigna ระบุไว้ในรายงานการขยายตัวของตลาดการผลิตพลังงานไฮโดรเจนเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า แนวโน้มความต้องการบริโภคพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลทำให้มูลค่าตลาดพลังงานไฮโดรเจนที่มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันขยายตัวไปเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2593

แนวโน้มตลาดพลังงานไฮโดรเจนดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีกำหนดเป้าหมายให้สหรัฐฯ ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ให้ได้ภายในปี 2593

โดยรายละเอียดในคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้อาคารหน่วยงานรัฐทั้งหมดซึ่งมีมากกว่า 3 แสนแห่งทั่วประเทศใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซของเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศภายในปี 2573 และกำหนดให้การดำเนินงานของหน่วยงานต้องปราศจาการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างสิ้นเชิง (Carbon Free) ภายในปี 2588 นอกจากนี้ ยังกำหนดให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดเปลี่ยนรถยนต์และรถบรรทุกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไปเป็นรถยนต์และรถบรรทุกขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2578 หรือเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 6 แสนคัน เป็นเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง ยังกำหนดให้การทำสัญญาซื้อสินค้าและบริการของภาครัฐทั้งหมดจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างสิ้นเชิง (Carbon Free) ภายในปี 2593

กระแสดังกล่าวส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับแนวโน้มของตลาดพลังงานที่กำลังขับเคลื่อนไปสู่พลังงานไฟฟ้าและพลังงานไฮโดรเจนซึ่งถือเป็นพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในขณะนี้ โดยผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ในตลาดหลายรายกำลังเร่งพัฒนาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนที่สามารถจำหน่ายและใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ เช่น แบรนด์ BMW แบรนด์ Audi แบรนด์ Toyota และแบรนด็ Yamaha เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัท Airbus ผู้ประกอบการผลิตเครื่องบินรายใหญ่ก็กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเครื่องบินขนาดใหญ่รุ่น Airbus A380 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนที่จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซของเสียออกสู่ชั้นบรรยากาศในอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการทดสอบการบินได้จริงภายในปี 2571

บทวิเคราะห์

ตลาดผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบันค่อนข้างให้ความสำคัญกับประเด็นด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของกลุ่มสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly) ในสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากเดิมที่มีมูลค่าตลาดทั้งสิ้นประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.41 ต่อปี อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

โดยกลุ่มสินค้าและบริการที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า พลังงานทดแทน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม การบริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการบริการทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งสหรัฐฯ เองถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย โดยล่าสุดในปี 2564 ไทยส่งออกสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.71 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ทั้งนี้ หากเทคโนโลยีการใช้งานพลังงานไฮโดรเจนสามารถพัฒนาไปถึงขั้นการผลิตและจำหน่ายเพื่อการค้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตน่าจะทำให้ผู้บริโภคในตลาดหันไปเลือกใช้สินค้าจากพลังงานไฮโดนเจนมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ ซึ่งน่าจะทำให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ในตลาดต้องการนำเข้าสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนเซลล์พลังงานในการขับเคลื่อน (Fuel Cell) เพื่อทดแทนระบบขับเคลื่อนรูปแบบเดิมมากขึ้นด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านเทคโนโลยีและความชำนาญในอุตสาหกรรมเพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางสะอาดและพลังงานทางเลือกของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ ในอนาคต

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

แม้ว่าแนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มพลังงานไฮโดรเจนจะไม่มีความสัมพันธ์ทางตรงกับโอกาสและแนวโน้มการขยายตลาดส่งออกสินค้าพลังงานไฮโดรเจนของไทยเนื่องจากสหรัฐฯ สามารถผลิตพลังงานไฮโดรเจนได้เองภายในประเทศในขณะอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฮโดรเจนในประเทศไทยเองก็ยังมีกำลังการผลิตไม่มากนัก แต่แนวโน้มดังกล่าวก็น่าจะเป็นสัญญาณสำคัญแสดงให้เห็นทิศทางความต้องการของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนกำหนดทิศทางการดำเนินกิจการและพัฒนาธุรกิจเพื่อรักษาตลาดส่งออกสินค้าในสหรัฐฯ

ในภาพรวมแนวโน้มแหล่งพลังงานทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะปรับลดการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน แล้วหันไปเลือกใช้พลังงานจากแหล่งที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทั้งในรูปของพลังงานหมุนเวียน พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสูงน่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการขนส่ง และอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องอาศัยพลังงานในการขับเคลื่อน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานของไทยจึงควรพิจารณาให้การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาตลาดพลังงานทางเลือกทั้งด้านการศึกษาวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดทั้งภายในประเทศและในตลาดส่งออกต่างประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนทั้งการด้านการศึกษาวิจัยและด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานสะอาดอย่างจริงจังจึงคาดว่าตลาดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือกและสินค้าที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมน่าจะมีโอกาสขยายตัวอีกมากและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ปัจจุบันไทยมีมูลค่าการส่งออกในสหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับที่ 3 (ร้อยละ 16.29) รองจากมาเลเซีย (ร้อยละ 30.57) และเวียดนาม (ร้อยละ 28.52)

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี (กุมภาพันธ์ 2565)
สำนักข่าว CNBC และ หนังสือพิมพ์ U.S. News

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2