ความเชื่อที่กล่าวว่าชาวตะวันตกไม่กินข้าวนั้นอาจเป็นคำกล่าวในอดีตสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือกว่า 80 ปีที่แล้ว หากปัจจุบันชาวตะวันตกรู้จักและหันมาบริโภคข้าวมากขึ้นด้วยอิทธิพลจากการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวเอเชียที่เข้าไปตั้งรกรากในประเทศแถบตะวันตก ประกอบกับกระแสโลกาภิวัฒน์ อินเตอร์เนตและสื่อสังคมออนไลน์ที่หลอมรวมวัฒนธรรมการบริโภคเข้าไว้ด้วยกันในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันชาวออสเตรียรู้จักและนิยมรับประทานข้าวผ่านเมนูข้าวผัดแบบอิตาลี (Risotto) เมนูข้าวกับแกง (Curry) ประเภทต่างๆ ทั้งแกงอินเดียและแกงไทยที่พบเห็นได้ตามภัตตาคารและร้านอาหารทั่วไป อย่างไรก็ดี วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผนวกกับมาตรการล๊อคดาวน์และร้านอาหารที่ถูกบังคับให้ปิดตัวลงเป็นเหตุให้ชาวออสเตรียหันมาปรุงอาหารด้วยตนเองมากขึ้น ความนิยมและโหยหาเมนูอาหารที่ปรุงด้วยข้าวทำให้เกิดอุปสงค์ในสินค้าข้าวสำหรับการบริโภคในครัวเรือน สถิติยอดจำหน่ายข้าวสารในปี 2019 ผ่านร้านค้าปลีกเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 6 โดยข้าวบาสมาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้นร้อยละ 18

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา ได้ทำการสำรวจตลาดร้านค้าปลีกประเภทซุปเปอร์มาร์เก็ตและพฤติกรรมผู้บริโภคชาวออสเตรียพบว่ามีข้าวสารวางจำหน่ายหลากหลายประเภทและหลากหลายรูปแบบ ข้าวสารที่วางจำหน่าย ได้แก่ ข้าวอาร์โบริโอจากอิตาลี ข้าวบาสมาติจากอินเดียและปากีสถาน ข้าวหอมมะลิจากเยอรมนี ไทยและกัมพูชา ข้าวซูชิจากญี่ปุ่น ข้าวขาวไม่ระบุประเภทจากอินเดีย และข้าวสีอื่นๆ อย่างข้าวดำจากอินเดียและข้าวแจ๊สเบอรี่จากประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจคือขนาดบรรจุภัณฑ์ที่แบ่งออกได้ 3 ขนาดได้แก่ ขนาดบรรจุ 1,000 กรัม 500 กรัม และ 300 กรัม ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว (12 รายการจากสินค้า 20 รายการที่วางจำหน่าย) จะมีขนาดบรรจุอยู่ที่ 500 กรัม ทั้งนี้ ตามปกติแล้วปริมาณการบริโภค 1 หน่วยจะอยู่ที่ประมาณ 75-100 กรัมต่อคน จึงเห็นได้ว่าผู้บริโภคชาวออสเตรียยังมิได้นิยมซื้อข้าวสารไว้เป็นของติดบ้านแบบชาวเอเชีย หากความต้องการซื้อข้าวในแต่ละครั้งจะเป็นไปเพื่อการบริโภคให้หมดไปภายในครั้งเดียวหรือในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ดี จากการสำรวจร้านค้าปลีกเอเชีย (Asian grocery) ในกรุงเวียนนาพบว่าพฤติกรรมการซื้อขาวของชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในออสเตรียจะแตกต่างจากชาวออสเตรียกล่าวคือจะเป็นการซื้อข้าวสารในขนาดบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่กว่ามาก คือเริ่มตั้งแต่ขนาด 1 กิโลกรัม และไล่ขนาดขึ้นไปตั้งแต่ 5 และ 10 กิโลกรัม และขนาดใหญ่ที่บรรจุในกระสอบขนาด 25 และ 40 กิโลกรัม

ข้อเสนอแนะและความคิดเห็น

สินค้าข้าวมีอนาคตและโอกาสที่สดใสในตลาดออสเตรีย เนื่องจากข้าวมีภาพลักษณ์เป็นอาหารสุขภาพ ปราศจากสารกลูเตน มีโภชนาการและสารต้านอนุมูลอิสระ การผลิตข้าวป้อนเข้าสู่ตลาดออสเตรียควรใส่ใจตั้งแต่กระบวนการผลิตไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง คำนึงถึงกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสื่อสารและกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิจากไทยมีภาพลักษณ์และจุดยืนในตลาดเป็นสินค้าพรีเมี่ยม ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนาได้จัดกิจกรรมสาธิตการหุงข้าวและปรุงอาหารไทยออนไลน์และได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากชาวออสเตรีย สำนักงานฯ มีความเชื่อมั่นว่าสินค้าข้าวจากประเทศไทยจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต ขอเพียงผู้ประกอบการไทยรักษามาตรฐานและมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพข้าวไทยต่อไป

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา (ธันวาคม 2564)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2