สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อาร์เจนตินา (Asociación de Fábricas Argentinas de Componentes หรือ AFAC) จัดทำรายงานเกี่ยวกับภาคส่วนชิ้นส่วนยานยนต์พบว่า กิจกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของอาร์เจนตินา ในปี 2564 เติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 65.66 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 สูงกว่าจำนวนรวมของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 21 โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าว มาจากสามภาคส่วนหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ การผลิตรถยนต์ การส่งออกยานยนต์ และตลาดชิ้นส่วน/อะไหล่ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การผลิตยานยนต์ในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม 2564 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 109.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ในส่วนของการส่งออกยานยนต์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 47 หรือคิดเป็นเงินประมาณ 660 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบเป็นรายปีและในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 (มกราคม – มิถุนายน) ดุลการค้าชิ้นส่วนยานยนต์ของอาร์เจนตินาขาดดุลมูลค่า 3,529 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการนำเข้ายานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563

อนึ่ง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – มิถุนายน) การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 612 คิดเป็นมูลค่า 4,189 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่สัมพันธ์กับการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอยู่เป็นจำนวน 193,580 คัน โดยการผลิตยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบนำเข้าในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในไตรมาสที่สองของปี 2563

สำหรับคู่ค้าหลักของอาร์เจนตินาในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ (1) บราซิล โดยอาร์เจนตินาขาดดุลการค้าบราซิลอยู่ที่ 1,085 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการนำเข้ามูลค่า 1,520 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออกมูลค่า 435 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามมาด้วย (2) สหภาพยุโรป ซึ่งอาร์เจนตินาขาดดุลการค้าอยู่ที่ 790 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการนำเข้ามูลค่า 856 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออกมูลค่า 66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับไทย อาร์เจนตินาขาดดุลการค้ากับไทย มูลค่า 488.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอาร์เจนตินานำเข้าจากไทยมูลค่า 490 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอาร์เจนตินาส่งออกไปไทย มูลค่า 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจีน อาร์เจนตินาขาดดุลการค้ากับจีน มูลค่า 354 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอาร์เจนตินานำเข้าจากจีน มูลค่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอาร์เจนตินาส่งออกไปจีน มูลค่า 474,000 เหรียญสหรัฐฯ รายการสินค้าหลัก ได้แก่ สินค้าชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง (Transmission) อาร์เจนตินาขาคดุลมูลค่า 697 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการนำเข้า มูลค่า 948 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออกมูลค่า 251 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และสินค้า ส่วนประกอบเครื่องยนต์ อาร์เจนตินาขาดดุลมูลค่า 565 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอาร์เจนตินานำเข้ามูลค่า 676 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งออกมูลค่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจากนี้ นาย Daniel Herrero ประธานบริษัท Toyota Argentina ชี้แจงกับประธานาธิบดี นาย Alberto Fernandez ว่าบริษัทฯ จะเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงาน Zirate จำนวน 27,000 คัน โดยจะเริ่มการผลิตขึ้นในปี 2565 ที่สำคัญจะสร้างงานใหม่ จำนวน 500 ตำแหน่ง ตลอดจนสร้างงานประมาณ 1,000 ตำแหน่ง ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งประกอบด้วยซัพพลายเออร์และผู้จัดจำหน่ายรายย่อยของชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์มากกว่า 260 ราย ในประเทศอาร์เจนตินา ทั้งนี้ ในแถลงการณ์บริษัทฯกล่าวว่า การเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคสำหรับรถกระบะ รุ่น Hilux และรถยนต์อเนกประสงค์ รุ่น SW4 ที่บริษัทผลิตขึ้นในเขตอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันและการเจรจาอย่างต่อเนื่องกับสหภาพแรงงาน ซัพพลายเออร์ และหน่วยงานรัฐบาลของเขตอำนาจศาลต่าง ๆ ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการเสริมสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาร์เจนตินาและส่งเสริมการพัฒนาภายในประเทศ

ในส่วนของการจำหน่ายยานยนต์บริษัทฯเน้นย้ำว่า ร้อยละ 80 ของการผลิตของ Toyota Argentina ส่งออกไปยัง 23 ประเทศ ในภูมิภาคลาดินอเมริกาด้วยกลยุทธ์เฉพาะทางของบริษัทที่ทำให้การค้าประสบผลสำเร็จ โดยในช่วงปี 2564 บริษัท Toyota Argentina จะทำสถิติการผลิตยานยนต์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมียอดการผลิตรวม จำนวน 146,000 คัน ด้วยเหตุผลนี้ บริษัทจึงตั้งเป้าเป็นบริษัทยานยนต์แห่งแรกในด้านการผลิต การส่งออก และการจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อประเทศไทย

ชิ้นส่วนยานยนต์เป็นสินค้าส่งออกศักยภาพสำคัญของไทย ซึ่งไทยจัดเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าวที่มีความเกี่ยวข้องอย่างมากต่ออาร์เจนตินา โดยในปี 2564 (มกราคม – ตุลาคม) อาร์เจนตินานำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากตลาดโลกรวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งออกเป็นรายประเทศ ดังนี้ (1) บราซิลร้อยละ 32 (2) ไทย ร้อยละ 13 และ (3) ญี่ปุ่น ร้อยละ 11 ตามลำดับ ไทยจัดอยู่ในอันคับที่ 2 ของการนำเข้าทั้งหมด จากสถิติการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยไปยังอาร์เจนตินาข้างต้น ผู้ประกอบการไทยควรสังเกตตลาดการผลิตรถยนต์อาร์เจนตินามากยิ่งขึ้น เนื่องจากอาร์เจนดินาจำเป็นต้องใช้วัสดุนำเข้าเพื่อทำการผลิตยานยนต์ต่อไปและแม้ว่าบราซิลจะเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์หลักไปยังอาร์เจนตินา แต่ชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยก็มีศักยภาพอย่างมากที่จะได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งของบริษัทไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมในท้องถิ่นต้องการส่วนประกอบและชิ้นส่วนที่จำเป็นสำหรับการผลิต ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ที่ร้อยละ 14 – 18

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นศูนย์กลางของโครงสร้างและการผลิตของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพีในภาคอุตสาหกรรม และสร้างการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ร้อยละ 6 หรือคิดเป็นแรงงานจำนวน 80,000 คน อย่างไรก็ดี อาร์เจนตินาไม่สามารถผลิตยานยนต์เองได้ หากไม่นำเข้าวัสดุที่จำเป็นสำหรับการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับไทยโดยตรง อีกทั้งรัฐบาลอาร์เจนตินาจะไม่จำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตยานยนต์มากนัก เนื่องจากยานยนต์ที่ผลิตในอาร์เจนตินาใช้ส่วนประกอบและชิ้นส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปยังอาร์เจนตินา ซึ่งอาร์เจนตินาตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ให้ได้ประมาณ 440,000 คัน ภายในปี 2564 โดยสินค้าชิ้นส่วนเบาะนั่งสำหรับยานยนต์ กันชน เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนช่วงล่างของไทยมีโอกาสสูงในตลาดอาร์เจนตินา สำหรับประเทศอาร์เจนตินานำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์มากที่สุด คือ บราซิล ตามมาด้วยประเทศไทย มูลค่าการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 490 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 11.7 โดยในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563

ในปี 2563 อาร์เจนตินานำเข้าชิ้นส่วนเบาะนั่งสำหรับยานยนต์ มูลค่ารวม 86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกหลักชิ้นส่วนเบาะนั่งสำหรับยานยนต์ไปยังอาร์เจนตินา ในปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 28.04 บราซิล ร้อยละ 22.09 อุรุกวัย ร้อยละ 12.67 และจีน ร้อยละ 8.09 ทั้งนี้การผลิตยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2564 ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 แสดงให้เห็นว่าภาคส่วนนี้เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการฟื้นฟูการผลิตและการบริโภคในอาร์เจนตินา ซึ่งในอาร์เจนตินามีการผลิตยานยนต์ในประเทศมาหลายทศวรรษแล้วและหลายยี่ห้อที่จำหน่ายในตลาดท้องถิ่นและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยบริษัทยานยนต์ที่ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานการผลิตยานยนต์ในอาร์เจนตินา และผลิตยานยนต์หลากหลายรุ่น ได้แก่ (1) Fiat (Cronos), (2) Ford (รถกระบะ Ranger และ Focus), (3) Chevrolet (Cruze), (4) Iveco (Tector, Cursor, Stralis), (5) Mercedes Benz (Sprinter, Accelo , Atron, Attego), (6) Nissan (รถกระบะ Frontier), (7) Peugeot (รุ่น 208, 308, 408 และ Partner), (8) Citroin (C4 Lounge และ Berlingo), (9) Renault (Logan, Sandero, Stepway, Kangoo และรถกระบะ Alaskan), (10) Scania (การผลิตกระปุกเกียร์ และชิ้นส่วนยานยนต์อื่น ๆ), (11) Toyota (Hilux และ SW4) และ (12) Volkswagen (Taos และรถกระบะ Amarok)

ปัจจุบัน รถยนต์ Fiat Cronos เป็นรถยนต์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในอาร์เจนตินา รองลงมาคือ Toyota Hilux เป็นรถกระบะที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ในอาร์เจนตินา อันดับที่สาม Peugcot 208 อันดับที่สี่ รถกระบะ Volkswagen Amarok และอันดับที่ห้า Ford Ranger ตามลำดับ สำหรับปริมาณการผลิตยานยนต์ในอาร์เจนตินารุ่นที่ผลิตมากที่สุดในอาร์เจนตินา ได้แก่ Toyota Hilux จำนวน 77,392 คัน Ford Ranger จำนวน 36,578 คัน Fiat Cronos จำนวน 33,588 คัน Volkswagen Amarok จำนวน 25,883 คัน Toyota SW4 จำนวน 16,436 คัน Chevrolet Cruze จำนวน 11,404 คัน และ Nissan Froniter จำนวน 10,839 คัน เป็นต้น

สังเกตได้ว่าไม่เพียงแค่การผลิตยานยนต์เดือนสิงหาคม 2564 ที่เติบโตมากขึ้น แต่การนำเข้าสินค้าทั่วไปจากต่างประเทศของอาร์เจนตินาในปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิต/ผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปยังอาร์เจนตินา และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นสินค้าศักยภาพของการค้าระหว่างไทย-อาร์เจนตินา แนวโน้มดังกล่าว บริษัทไทยควรให้ความสนใจเพราะมีโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งตลาดในภาคส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งนี้แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจและการบริโภคของอาร์เจนตินาจะขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายอย่าง แต่อุตสาหกรรมต่างๆก็มีการปรับตัวดีขึ้น และกิจกรรมการผลิตมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็วอาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่บริษัทไทยควรให้ความสำคัญ แต่ยังมีอีกหลากหลายสินค้าที่มีโอกาสเติบโตในตลาดอาร์เจนตินาในปี 2564 สังเกตได้จากการจัดโครงการจับคู่ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์อะไหล่ และอุปกรณ์ตกแต่งผ่านระบบออนไลน์ (งานแสดงสินค้า TAPA 2021) ที่บริษัทผู้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ชาวอาร์เจนตินาจับคู่เจรจาการค้ากับผู้ส่งออกไทยเพื่อมองหาสินค้าต่าง ๆ อาทิ ยางรถยนต์ กันชนเครื่องยนต์ รถยนต์ ไฟสำหรับรถยนต์ เครื่องมือปั๊ม จิ๊กเชื่อม (Welding Jigs) การตรวจสอบอุปกรณ์จับยึด และสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบัวโนสไอเรส (ธันวาคม 2564)
www.Fobesargentina.com

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2