จากสถิติการค้าระหว่างประเทศของกรมศุลกากรอิหร่าน ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (มีนาคม – ธันวาคม 2021) พบว่าการค้าในกลุ่มสินค้าสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน หรือ non-oil trade มีอัตราขยายตัวสูงขึ้น คิดเป็นปริมาณ 122.5 ล้านตัน หรือ มูลค่าประมาณ 7.21 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 11 และ 38 ตามลำดับ   

การส่งออกของอิหร่านในช่วงดังกล่าวคิดเป็นปริมาณ 92.3 ล้านตัน มูลค่า 3.51 หมื่นล้านเหรียญฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และร้อยละ 40 ตามลำดับ โดยมีสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุดได้แก่ สินค้าในกลุ่ม ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มีปริมาณการส่งออก 42.4 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.47 หมื่นล้านเหรียญฯ ของการมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 และร้อยละ 42 ตามลำดับ ตลาดส่งออกหลักของอิหร่านในปี 2021 แบ่งตามขนาดและสัดส่วนจากมากไปหาน้อยได้แก่ จีน (ปริมาณ  21.3 ล้านตัน มูลค่า 1.02 หมื่นล้านเหรียญฯ) อิรัก (ปริมาณ 23.5 ล้านตัน มูลค่า 6.8 พันล้านเหรียญฯ) ตุรกี (ปริมาณ 11.7 ล้านตัน มูลค่า 4.1 พันล้านเหรียญฯ) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ปริมาณ 8.3 ล้านตัน มูลค่า 3.4 พันล้านเหรียญฯ) และอาฟกานิสถาน (ปริมาณ 3.3 ล้านตัน มูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญฯ) ตามลำดับ

ในส่วนของการนำเข้า อิหร่านนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบันทั้งสิ้นปริมาณ 30.1 ล้านตัน มูลค่า 3.7 หมื่นล้านเหรียญฯ คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และร้อยละ 37 ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นพื้นฐานซึ่งกำหนดโดยกระทรวงการค้าฯ และธนาคารแห่งชาติอิหร่าน ประกอบไปด้วย อาหาร เวชภัณฑ์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มือถือและอุปกรณ์มือถือ ข้าว น้ำมันพืช เม็ดพันธ์พืชน้ำมัน ข้าวสาลี และน้ำมันดิบ เป็นต้น โดยในช่วงดังกล่าวอิหร่านนำเข้ารวมปริมาณ 23.1 ล้านตัน มูลค่า 1.24 หมื่นล้านเหรียญฯ คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 และร้อยละ 61 ตามลำดับ ตลาดนำเข้าสำคัญของอิหร่านประกอบไปด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ปริมาณ 8.9 ล้านตัน มูลค่า 1.15 หมื่นล้านเหรียญฯ) จีน (ปริมาณ 2.5 ล้านตัน มูลค่า 8.4 พันล้านเหรียญฯ) ตุรกี (ปริมาณ 2.9 ล้านตัน มูลค่า 3.7 พันล้านเหรียญฯ) เยอรมันนี (ปริมาณ 593,000 ตัน มูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญฯ) และสวิสเซอร์แลนด์ (ปริมาณ 1.6 ล้านตัน มูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญฯ)

ในจำนวนสินค้านำเข้า-ส่งออกข้างต้น ปริมาณ 9.16 ล้านตัน หรือ ร้อยละ 7.42 เป็นการนำเข้า-ส่งออกผ่านอิหร่านไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 76 ทั้งนี้ การนำเข้า-ส่งออกของอิหร่านส่วนใหญ่จะดำเนินการผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษซาฮิด ราจาอี ตั้งอยู่ในจังหวัดฮอมอซกาน ทางตอนใต้ของประเทศ ติดกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีท่าเรือซาฮิด ราจาอี เป็นท่าเรือนำเข้า-ส่งออกหลัก มีศักยภาพในการรองรับการขนถ่ายสินค้าประมาณ 100 ล้านตันต่อปี ด้วยเครนยกสินค้าขนาดใหญ่ 18 ตัว และช่องเทียบเรือขนาดใหญ่ 40 ช่องจอด ซึ่งถือเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่ทันสมัยที่สุดของอิหร่านในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2021 นี้ตัวเลขทางการค้าระหว่างประเทศของอิหร่านอาจลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการค้ารวมของปีงบประมาณ 2020 เนื่องจากหากวิเคราะห์สถิติการค้าของอิหร่านในปีที่ผ่าน ๆ มาจะพบว่าหลังเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปของทุกปีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของอิหร่านจะลดลงตลอดจนถึงสิ้นปีงบประมาณในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ดังนั้น จึงคาดว่ามูลค่าการค้ารวมของปีงบประมาณ 2021 นี้อาจจะไม่ถึงมูลค่า 8.5 หมื่นล้านเหรียญฯ (ส่งออก 4.13 หมื่นล้านเรียญฯ/นำเข้า 4.37 หมื่นล้านเหรียญฯ) ซึ่งเป็นมูลค่าการค้ารวมของปีที่แล้ว นอกจากนี้ สภาหอการค้าอิหร่านได้ให้เหตุผลว่าการลดลงของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของอิหร่านในปี 2021 อาจมีสาเหตุหลักมาจาก 1) รายได้จากการส่งออกน้ำมันของอิหร่านลดลงทำให้อิหร่านไม่สามารถจัดหาเครื่องจักรและวัตถุดิบในการผลิตได้ สงผลให้การส่งออกลดลง 2) การลดค่าเงินเรียลและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของรัฐทำให้การทำธุรกิจมีความเสี่ยงสูง 3) การค่ำบาตรของสหรัฐฯ และ 4) การแพร่ระบาดของโควิด 19 นำไปสู่การปิดพรมแดน การกำหนดมาตรฐานสินค้าใหม่ ๆ เป็นต้น

ในส่วนของการค้ากับไทย พบว่าในช่วงเวลา 11 เดือนของปี 2021 การค้าระหว่างประเทศของไทยกับอิหร่านมีมูลค่า 235.8 ล้านเหรียญฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.265 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2020 ที่มูลค่า 221.9 ล้านเหรียญฯ ไทยส่งออกไปอิหร่านมูลค่า 129.6 ล้านเหรียญฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.87 โดยมีสินค้ารายการสำคัญที่มีอัตราการขยายตัวในแดนบวกได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผักสด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในส่วนของการนำเข้า ไทยนำเข้าจากอิหร่านมูลค่า 106.2 ล้านเหรียญฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.87 โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญได้แก่  เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสดแช่เย็นแช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เชื้อเพลิงอื่น ๆ และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ หากมองในภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับอิหร่านในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่อิหร่านโดนค่ำบาตรอย่างเข้มข้นจากสหรัฐฯ  จะพบว่ามูลค่าการค้ารวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเริ่มจะมีแนวโน้มการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นในปี 2021 นี้

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน (มกราคม 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2