กฎหมายงดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในประเทศซิลี

จากการที่ขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศรวมถึง “ชิลี” ซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญและมุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลชิลีได้ออกกฎหมายยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกในเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้ห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีกทั่วประเทศงดให้บริการถุงพลาสติก ซึ่งชิลีเป็นประเทศแรกในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่ให้ความสำคัญในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และการออกกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้ร้านอาหารและร้านจำหน่ายเครื่องดื่มต่างตื่นตัว และเริ่มหันมาใช้หลอดกระดาษแทนหลอดพลาสติกกันอย่างแพร่หลายนับตั้งแต่กลางปี 2561 จนถึงปัจจุบัน

และเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564 กระทรวงสิ่งแวดล้อมของชิลีได้ประกาศใช้กฎหมายอีกฉบับ โดยกำหนดให้งดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastic) ซึ่งวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะพลาสติก และส่งเสริมการใช้ซ้ำของบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกในรูปแบบต่างๆ โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ สรุปได้ดังนี้

1. กำหนดให้งดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร เช่น ช้อน ส้อม มีด ตะเกียบ แท่งคนเครื่องดื่ม รวมถึงบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากพลาสติกประเภทพอลิสไตรีน (PS) โดยให้มีผลใช้บังคับใน 6 เดือน นับจากที่ได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา (เริ่มบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาในการปรับตัว)

2. กำหนดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกประเภท รวมถึงร้านเบเกอรี่ บาร์ ฯลฯ รวมถึงร้านที่มีบริการส่งอาหาร (Delivery) ให้งดใช้บรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้ครั้งเดียว (ต้องใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถนำมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้เท่านั้น)

3. สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคสามารถหยิบผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารได้เอง ณ เคาน์เตอร์บริการตนเอง กฎหมายกำหนดให้ยกเลิกการให้บริการผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารที่ผลิตจากพลาสติก แต่ลูกค้าสามารถขอได้จากทางร้าน

4. สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม แยกออกเป็น
4.1 เครื่องดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง กฎหมายกำหนดให้ใช้ขวดพลาสติกที่ได้จากการเก็บและผ่านกระบวนการรีไซเคิลในประเทศชิลีเท่านั้น โดยสัดส่วนของปริมาณพลาสติกรีไซเคิลต้องไม่ต่ำกว่า 15% และสัดส่วนการใช้พลาสติกรีไซเคิลจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนี้
– 25% ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573)
– 50% ภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583)
– 60% ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593)
– 70% ภายในปี 2060 (พ.ศ. 2603)
4.2 เครื่องดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกแบบคืนขวด กฎหมายกำหนดให้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ห้างค้าปลีก (Modern Trade) ทุกแห่งจะต้องวางจำหน่ายเครื่องดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกแบบคืนขวดและจะขยายผลไปยังร้านค้าขนาดเล็ก (Traditional Trade) ทุกแห่งภายใน 2 ปี หรือมีผลใช้บังคับในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566

อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้มีข้อยกเว้นสำหรับสินค้าบางประเภท ได้แก่ สินค้าที่อยู่ในกลุ่มสุขอนามัย (sanitary, hygienic) และสินค้าในกลุ่มความปลอดภัยและที่ต้องใช้ในเหตุฉุกเฉิน (emergency or security reasons) โดยผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดจะมีโทษและต้องเสียค่าปรับตั้งแต่ 2,200 บาทขึ้นไป ซึ่งสำนักงานเขตของแต่ละพื้นที่จะทำหน้าที่พิจารณาโทษและค่าปรับ

บทวิเคราะห์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

จากการที่รัฐบาลชิลีได้ประกาศใช้กฎหมายงดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastic โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 นี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงอุตสาหกรรมรีไซเคิล ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงชันติอาโก วิเคราะห์แล้วเห็นว่า “ไทย” สามารถใช้ประโยชน์จากการใช้กฎหมายฯ ดังกล่าวได้ ดังนี้

1. ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันมีบริษัทส่งออกสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่จำนวนมาก จึงถือเป็นโอกาสที่ดีต่อผู้ส่งออกไทยที่จะขยายตลาดมายังประเทศชิลี

2. สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมายังประเทศชิลี หากสามารถใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีการออกแบบที่โดดเด่น สามารถใช้เป็นจุดขายในการเพิ่มยอดสั่งซื้อสินค้า เนื่องจากกระแสหรือเทรนด์ (Trend) รักสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง จึงกล่าวได้ว่าสามารถใช้บรรจุภัณฑ์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าใหม่

3. ปัจจุบันชิลีมีการนำเข้าเม็ดพลาสติกจากไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลของ สคต. ณ กรุงซันติอาโก พบว่าชิลีมีการนำเข้าเม็ดพลาสติกจากไทย (HS Code 3901) ระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564 คิดเป็นมูลค่าที่ 28.035 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 552.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งการนำเข้าเม็ดพลาสติกดังกล่าวเป็นการนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก ดังนั้นการที่รัฐบาลชิลีออกกฎหมายฯฉบับดังกล่าว โดยกำหนดให้ขวดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจะต้องมาจากการเก็บและผ่านกระบวนการรีไซเคิลในประเทศชิลีเท่านั้น ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 15% ย่อมทำให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติก เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตบรรจุภัณฑ์รีไชเคิลของโรงงานในประเทศชิลีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าชิลีจะมีการนำเข้าเม็ดพลาสติกจากไทยเพิ่มขึ้นด้วย

4. จากการที่ชิลีเป็นประเทศแรกในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่ออกกฎหมายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับเทรนด์รักสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความนิยม ในอนาคตรัฐบาลชิลีมีแนวโน้มที่จะขยายผลการใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลไปยังสินค้าในกลุ่มอื่น ๆ เช่น กระดาษ ยางรถยนต์ ส่วนประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯโดยสังเกตได้จากการที่รัฐบาลชิลีพยายามเชิญชวนให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานรีไซเคิลในชิลี ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทยที่ต้องการตั้งโรงงานผลิตสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี สำหรับสินค้าจากไทยที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผู้นำเข้าชิลีมีการนำเข้าจากไทย อาทิ น้ำปลา น้ำว่านหางจระเข้ สคต. ณ กรุงชันติอโก จะทำการประสานงานไปยังหน่วยงานภาครัฐของชิลีและสอบถามไปยังผู้นำเข้าถึงผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายฯ ดังกล่าวและรายงานความคืบหน้าให้กรมฯ และผู้ประกอบการไทยทราบต่อไป

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก (มกราคม 2565)

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2