รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง งบประมาณ และการวางแผนแห่งชาติ เปิดเผยว่ารัฐบาลกลางได้ให้อำนาจสำนักงานจัดเก็บภาษีภายในประเทศภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การเงิน ค.ศ. 2021 จัดเก็บภาษีจากบริษัทต่างชาติที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไนจีเรียและให้บริการดิจิทัลหรืออีคอมเมิร์ซแก่ลูกค้าหรือผู้บริโภคที่อยู่ในประเทศไนจีเรียในอัตราภาษีร้อยละ 6 ของกำไรที่ได้รับจากมูลค่าการซื้อขายในประเทศไนจีเรีย

การให้บริการดิจิทัล/อีคอมเมิร์ซหรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคที่อยู่ในประเทศไนจีเรียคือบริการที่จัดส่งผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือรูปแบบที่คล้ายกัน เช่น การดาวน์โหลดหรือเข้าถึงเนื้อหาดิจิทัลรวมถึงภาพยนตร์ เพลง เกม ตลาดออนไลน์ การส่งหรือรับสัญญาณเสียง ข้อความ ภาพหรือข้อมูลใดๆ การบริการโฆษณาออนไลน์ แอปพลิเคชั่นการประชุมทางวิดีโอการส่งข้อความโต้ตอบแบบทันที การให้บริการทางการศึกษาออนไลน์ เว็บบินาร์ หรือบริการที่คล้ายกัน และร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทต่างชาติที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไนจีเรียและให้บริการดิจิทัลหรืออีคอมเมิร์ซแก่ลูกค้าหรือผู้บริโภคที่อยู่ในประเทศไนจีเรียนั้น ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนในประเทศไนจีเรีย แต่จะต้องทำข้อตกลงกับสำนักงานจัดเก็บภาษีภายในประเทศฯเพื่อรวบรวมและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากลูกค้าหรือผู้บริโภคที่อยู่ในประเทศไนจีเรียส่งให้สำนักงานจัดเก็บภาษีฯ กล่าวคือ ลูกค้าหรือผู้บริโภคดังกล่าวทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา บริษัทห้างร้าน นิติบุคคลต่างๆ จะต้องถูกบริษัทในต่างประเทศผู้ให้บริการฯ จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีมูลค่าเพิ่มฯ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ. 2021 ในอัตราร้อยละ 7.5 เพื่อส่งให้สำนักงานจัดเก็บภาษีฯ โดยที่ พ.ร.บ.ภาษีมูลค่าเพิ่มฯ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ. 2021 ดังกล่าวมีผลใช้บังคับในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มฯสำหรับบริการดิจิทัลหรือสิ่งที่ จับต้องไม่ได้ (Services and Intangibles) กับลูกค้าหรือผู้บริโภคที่อยู่ในประเทศไนจีเรียตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2022 และจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มฯ สำหรับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (Goods) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2024

วิเคราะห์ผลกระทบ

รัฐบาลไนจีเรียปรับปรุงการจัดเก็บภาษีดิจิทัลให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันซึ่งคาดว่าจะเป็นช่องทางสำคัญในการเพิ่มรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลและการบังคับใช้กฎหมายย่อมส่งผลกระทบบริษัทในต่างประเทศรวมถึงบริษัทอีคอมเมิร์ซจากไทยที่มีลูกค้าหรือผู้บริโภคที่อยู่ในประเทศไนจีเรีย รวมทั้งลูกค้าบุคคลธรรมดาที่เป็นชาวต่างชาติหรือชาวไนจีเรียที่อยู่อาศัยในประเทศไนจีเรียซึ่งไม่เคยต้องเสียภาษีให้กับการซื้อบริการหรือสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศมาก่อนก็จะได้รับผลกระทบโดยการถูกเรียกเก็บภาษีฯด้วยเช่นกัน

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. ถึงแม้รัฐบาลไนจีเรียมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจบริการดิจิทัล/อีคอมเมิร์ซทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีศักยภาพต่อไปอีกยาวนาน อย่างไรก็ดี การปรับปรุงกฎหมายจัดเก็บภาษีให้ทันสมัยสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศและการปรับปรุงแนวปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่อาจทำให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคชาวไนจีเรียที่นิยมสั่งซื้อบริการหรือสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศมีจำนวนลดลงเนื่องจากมีความระมัดระวังและอยู่ในช่วงการปรับตัวยอมรับกับกฎหมายใหม่

2. อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ชาวไนจีเรียที่มีศักยภาพจำนวนมากรู้จักสินค้าไทยผ่าน สคต.ฯ และช่องทางอื่นๆ รวมทั้งผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างๆที่ผู้ประกอบการได้ประชาสัมพันธ์ไว้ ซึ่งสามารถนำไปสู่การนัดหมายเจรจาธุรกิจออนไลน์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยมีโอกาสสั่งซื้อและนำเข้าสินค้าไทยมายังไนจีเรียได้ตามปกติ

3. ตลาดออนไลน์ภายในประเทศไนจีเรียยังสามารถเติบโตได้อีกมากและจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไนจีเรียต่อไปซึ่งบริษัทออนไลน์/อีคอมเมิซไทยสามารถเข้ามาร่วมลงทุนหรือแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทออนไลน์/นักธุรกิจไนจีเรียได้ในอุตสาหกรรมนี้ อย่างไรก็ดี บริษัทออนไลน์/อีคอมเมิร์ซจากประเทศไทยยังคงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งอยู่เสมอในการขายสินค้ามาที่ในจีเรียเนื่องจากปัญหาการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ยังคงเกิดมีขึ้นเป็นประจำ

ที่มาข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา (มกราคม 2565)
https://www.nairametrics.com/
https://www.punchng.con
https://www.firs.gov.ng/

_____________________________________________
Website : http://ditp-overseas.com
Facebook: https://www.facebook.com/ditpoverseas
Youtube : https://bit.ly/36fT76e

#DITP #OMD2 #สพต2