ปัจจุบัน ชาวอเมริกันส่วนใหญ่นิยมบริโภคกล้วย “แพลนเทน” (Plantain) ซึ่งเป็นกล้วยท้องถิ่น ควบคู่กับอาหารจานหลัก เนื่องจากมีวิตามินสูงและมีความอยู่ท้อง อีกทั้งกระแสความนิยมอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพที่ผ่านกระบวนการแปรรูปกำลังมาแรง ส่งผลให้กล้วยแปรรูปได้รับความนิยมในตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยปี 2565 อเมริกาได้นำเข้าสินค้ากล้วยอบแห้งจากทั่วโลก มูลค่ารวม 2,286 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีการนำเข้าจากกัวเตมาลาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ คอสตาริกาและเอกวาดอร์ และนำเข้าจากไทย เป็นลำดับที่ 10 มีมูลค่า 3.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 25.10% จากปีที่ผ่านมา


จากการรวบรวมข้อมูลสินค้ากล้วยแปรรูปในสหรัฐฯ พบว่า กล้วยแปรรูปถูกจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น แบบอบแห้งซึ่งมีลักษณะคล้ายกับมันฝรั่งอบกรอบ ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะกล้วยอบแห้งนั้นเป็นของว่างที่มีประโยชน์ ทานง่าย และมีระยะการเก็บเอาไว้ได้นาน ต่อมาคือแบบแช่เยือกแข็งแห้ง (Freeze dry) เป็นอาหารทานเล่นเหมาะสำหรับเด็กเล็กรวมถึงผู้ใหญ่ที่ต้องการรักษาสุขภาพ และแบบสุดท้ายคือ แบบตากแห้งทั้งลูก เช่น กล้วยตาก มีรสชาติเข้มข้น เป็นที่นิยมในกลุ่มเอเชียและฮิสแปนิก นอกจากนี้ยังมีสินค้ากล้วยแปรรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม คือ แบบผง ซึ่งสามารถนำมาใช้ปั่นหรือผสมในเครื่องดื่มเชคเพื่อสุขภาพ


นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์กล้วยยังสามารถจัดจำหน่ายในตลาดสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย ซึ่งมีการจำหน่ายกล้วยอบแห้งสำหรับอาหารว่างของสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระต่าย หมา นก และหนูตะเภา เป็นต้น โดยสินค้าดังกล่าวนอกจากจะมีวิตามินสูงแล้ว ยังพบว่ามีผลดีต่อระบบย่อยอาหารของสัตว์อีกด้วย โดยตลาดขนมขบเคี้ยวและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงทั่วโลก ปี 2565 มีมูลค่ากว่า 37,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดการว่าจะมีการขยายตัวประมาณ 12.5% ในช่วงปี 2566 – 2575 จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งในตลาด


แม้กล้วยสดจากไทยยังไม่สามารถนำเข้าสหรัฐฯ ได้ในปัจจุบัน ตัวเลือกการส่งออกผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปจึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของสินค้ากล้วยไทยในตลาดสหรัฐฯ หากผู้ประกอบการไทยมีความประสงค์ ที่จะส่งออกมายังตลาดสหรัฐฯ ควรศึกษาขั้นตอนและกฎระเบียบในเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ รวมทั้ง อาจหาช่องทางการเข้าสู่ตลาดผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การติดต่อนำเสนอสินค้ากับผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย หรือการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์


ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าได้ที่ https://ditp-overseas.com

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก