
ในปีนี้ ประเทศอินเดียผลิตยางได้เพียง 8.39 แสนตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ยางอยู่ที่ประมาณ 1.35 ล้านตัน จึงจำเป็นต้องนำเข้ายางธรรมชาติประมาณ 5 แสนตัน และคาดว่าภายในปีหน้า ความต้องการใช้ยางจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวเกินกว่า 6 แสนตัน โดยเป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนให้อินเดียต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ อินเดียเร่งส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกยางทางตอนใต้ประสบกับภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วม โดยคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นไม่มากเพียงร้อยละ 5 ในขณะที่ระดับราคายางในตลาดโลกต่ำกว่าราคายางในอินเดีย เป็นผลมาจากการชะลอตัวของความต้องการซื้อจากจีน และสหภาพยุโรป ดังนั้น มีแนวโน้มว่าอินเดียยังคงต้องนำเข้ายางพาราต่อไป โดยเฉพาะยางธรรมชาติ ที่ระบุคุณลักษณะทางเทคนิค (Technically specified natural rubber: TSNR) เพื่อนำเข้าไปผลิต และส่งออกภายในเวลาที่กำหนด โดยปัจจุบันอินเดียเริ่มนำเข้าจากแอฟริกา นอกเหนือจากนำเข้าจากอาเซียน อีกทั้ง ภาวะเอลนีโญส่งผลกระทบต่อผลผลิตยางภายในประเทศของอินเดีย ทำให้ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน อินเดียเรียกเก็บอากรนำเข้ายางพาราธรรมชาติร้อยละ 25 รวมค่าธรรมเนียมอื่น ๆ แต่เป็นสินค้าที่ไม่อยู่ภายใต้ FTA อาเซียน-อินเดีย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
ประเทศไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอุตสาหกรรมขั้นกลาง เพื่อนำมาต่อยอดการผลิต ในอินเดีย เช่น ยาง TSNR และยางแท่งผสม นอกจากนี้ อินเดียยังจำเป็นต้องนำเข้ายางประเภท Butadiene Rubber และยาง Styrene Butadiene Rubber จากไทย เพื่อผลิตยางเรเดียลในรถยนต์อีกด้วย
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีข้อสงสัยหรือคำถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ รวมทั้งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารทางการค้าได้ที่ https://ditp-overseas.com
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ